‘ภาษีท่องเที่ยว’ ชื่อใหม่ ‘ค่าเหยียบแผ่นดิน’ มาแน่ คาดเริ่มจัดเก็บกลางปี 68

นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ มีการเรียกคำว่า “ค่าเหยียบแผ่นดิน” ติดปากกันอย่างแพร่หลาย ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯ มีแผนจัดเก็บ “ค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ” เข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย แต่นับจากนี้จะขอให้เรียกด้วยชื่อใหม่ว่า “ภาษีท่องเที่ยว” (Traveling Tax) แทนคำว่า ค่าเหยียบแผ่นดิน

“กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะผลักดันเรื่องจัดเก็บภาษีท่องเที่ยวเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่พิจารณาอีกรอบภายในไตรมาส 1 ปี 2568 ตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา และมีผลบังคับใช้ในอีก 6 เดือนนับจาก ครม.มีมติเห็นชอบ หรือในช่วงกลางปี 2568 ซึ่งอาจพิจารณาเริ่มจัดเก็บภาษีท่องเที่ยวทางอากาศก่อน”

โดยวัตถุประสงค์ของการใช้เงินจากกองทุนที่จัดเก็บจากภาษีท่องเที่ยว วงเงินส่วนหนึ่งจะไว้ใช้เป็นประกันภัยสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และอีกส่วนจะนำไปดูแล ปรับปรุง บูรณะสถานที่ท่องเที่ยว

รายงานข่าวจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุเพิ่มเติมว่า สำหรับระบบจัดเก็บภาษีท่องเที่ยว จะมีการจัดเก็บเงินจากนักท่องเที่ยวผ่านซอฟต์แวร์หรือแอปพลิเคชันอย่างไรนั้น ก็ต้องไปว่ากันอีกที โดยได้เชื่อมระบบการเงินกับกรุงไทยเรียบร้อยแล้ว ซึ่งตอนนี้วงเงินสำหรับประกันจะอยู่ที่อัตราเดิม คือไม่เกิน 60 บาท จากการจัดเก็บภาษีท่องเที่ยววงเงิน 300 บาทต่อคน

ส่วนขนาดกองทุนว่าจะมีการจัดเก็บเงินเท่าไร สามารถคำนวณจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เลย เช่น อัตรา 300 บาทต่อคน คูณกับจำนวนอย่างน้อย 36 ล้านคนต่อปี โดยในปีแรกที่จัดเก็บเงินเข้ากองทุน อาจมีตกหล่นบ้างเล็กน้อย เพราะเป็นช่วงทดลองระบบ

ตามที่ นายสรวงศ์ รมว.การท่องเที่ยวฯ ให้สัมภาษณ์ว่า จะนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุม ครม. พิจารณาในเดือน ม.ค. 68 และประกาศบังคับใช้ในอีก 6 เดือนหลังผ่าน ครม. รายงานข่าวจากกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ระบุว่า ระหว่างนี้ต้องเร่งเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ

อาทิ 1.ระบบเอาต์ซอร์ส (Outsource) ให้มีผู้เชี่ยวชาญมาบริหารจัดการระบบ 2.ต้องเปิดประมูลบริษัทประกันที่จะเข้ามาดำเนินการทำประกันภัยให้นักท่องเที่ยว โดยในกรณีเสียชีวิต วงเงิน 1 ล้านบาท และกรณีบาดเจ็บ วงเงิน 5 แสนบาท ซึ่งจะเป็นเงินที่ท็อปอัปจากวงเงินประกันนักท่องเที่ยวทำเองอยู่แล้ว ในกรณีขาดเหลือ สามารถเบิกเพิ่มจากกองทุนนี้ได้ โดยประกันที่จัดเก็บจากภาษีนักท่องเที่ยวจะครอบคลุมการเดินทางไม่เกิน 30 วัน เพราะจากการสำรวจที่ผ่านมา พบว่านักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่ 87% พำนักในไทยไม่เกิน 30 วันอยู่แล้ว

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแนะอีกอย่างที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติม คือเรื่องการกำหนดให้จัดเก็บภาษีท่องเที่ยว 2 อัตราสำหรับทางบกกับทางน้ำและทางอากาศตาม มติ ครม.เดิม แต่สำหรับรัฐบาลชุดใหม่ อาจมีการพิจารณาจัดเก็บในอัตราเดียวกันไปเลย เพื่อป้องกันข้อครหาว่าเลือกปฏิบัติไม่เท่ากัน

ทั้งนี้ ถ้าจัดเก็บภาษีท่องเที่ยวทางอากาศก่อนในเฟส 1 ก็น่าจะดำเนินการได้ เพราะว่ามีปริมาณการเดินทางครอบคลุม 70% ของการเดินทางเข้าไทยทั้งหมด แต่ต้องประกาศให้ชัดเจนว่าเฟส 1 จะเริ่มจัดเมื่อไร และเฟส 2 ที่จะจัดเก็บทางบกกับทางน้ำมีกำหนดเมื่อไร เพื่อไม่ให้นักท่องเที่ยวกลุ่มที่ต้องจ่ายภาษีท่องเที่ยวทางอากาศเสียความรู้สึก

ส่วนกลุ่มคนที่ต้องเดินทางค้าขายข้ามชายแดน มองว่าการจัดเก็บภาษีท่องเที่ยวจะไม่กระทบต่อตลาดนี้ เพราะการเดินทางข้ามแดนของกลุ่มนี้ มีการแสดงบัตรข้ามแดน หรือ บอร์เดอร์พาส (Border Pass) สามารถข้ามแดนได้ชั่วคราว จึงไม่มีการจัดเก็บอยู่แล้ว

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ทำดีได้ดี…Sustainability Linked Loan นวัตกรรมทางการเงินเพื่อความยั่งยืน

สถาบันการเงินเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ในฐานะที่เป็นแหล่งเงินทุนหลักของระบ...

อสังหาฯระเบิดสงครามราคาโค้งสุดท้าย เร่งกู้ยอด! หลังไตรมาส 3 ดิ่งยกแผง

ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยไตรมาสสุดท้ายนี้ นับเป็นช่...

SET พุ่งไม่หยุด! สวนทาง EPS และความผันผวนที่มิอาจเลี่ยง

SET Index ในเดือนตุลาคม 2567 ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้มากกว่า 3% จากสิ้นเดือนก่อนหน้า โดยในช่วงแรกดัชนีได้...

‘ภาษีท่องเที่ยว’ ชื่อใหม่ ‘ค่าเหยียบแผ่นดิน’ มาแน่ คาดเริ่มจัดเก็บกลางปี 68

นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ มีการเรียกคำว่า ...