หมดยุคกองดอง ? คนไทยเจอวิกฤติ ‘หนังสือแพง’ เพราะทุนสูง กระดาษแพง พิมพ์ได้น้อย

แม้ในรอบ 8 ถึง 9 เดือนที่ผ่านมา แนวโน้มการเติบโตของวงการหนังสือจะไม่ได้หวือหวามากนัก สัดส่วนเพิ่มขึ้นเพียง 5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แต่ “สุวิช รุ่งวัฒนไพบูลย์” นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ก็มองว่า ยอดขายและยอดพิมพ์หนังสือยังไม่แผ่วปลาย ยังคงมีที่ทางให้ไปต่อได้ โดยระบุว่า บรรดาสำนักพิมพ์รายใหญ่มียอดพิมพ์ราวๆ 2,000 เล่ม เติบโตขึ้น 30% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า อีกทั้งยอดขายบางส่วนยังแบ่งไปโตต่อที่อีคอมเมิร์ซทั้ง “Shopee” และ “Lazada” คู่ขนานกันไปด้วย

“สุวิท” บอกว่า หมวดหมู่หนังสือขายดีที่ไม่เคยยอดตกเลย คือ “หมวดบอยเลิฟ-เกิร์ลเลิฟ” มีสัดส่วนตลาดอยู่ที่ 45% ตามมาด้วย “หมวดมังงะ” 47% “หมวดหนังสือพัฒนาตัวเอง-ฮีลใจ” 17% และ “คู่มือเตรียมสอบ” เติบโตที่ 9% ซึ่งเป็นประเภทหนังสือจำเป็น อย่างไรก็ยังโตต่อได้เรื่อยๆ ส่วนหมวดที่เคยขายดีตามสถานการณ์อย่าง “หนังสือฮาวทู” ปัจจุบันสัดส่วนลดลงไปรวมอยู่กับ “หมวดทั่วไป” เรียบร้อยแล้ว โดยกลุ่มฮาวทูเคยขายดีมากๆ ช่วงที่คนต้องการศึกษาศาสตร์ใหม่ๆ เพื่อนำมาประกอบอาชีพเสริมในวันที่สถานการณ์การแพร่ระบาดยังวิกฤติ

-สุวิช รุ่งวัฒนไพบูลย์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT)-

ภาพรวมตลาดก็ดูจะไปได้ดี แต่เพราะอะไรราคาหนังสือยังสูงขึ้นต่อเนื่อง? นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ บอกกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า สาเหตุหลักมาจากยอดพิมพ์ต่อเล่มที่ลดลง แม้ว่าแนวโน้มตลาดจะเป็นบวก แต่ก็ไม่ได้หวือหวาจนทำให้มียอดพิมพ์ 3,000 ถึง 4,000 เล่ม หากยอดพิมพ์เยอะ ต้นทุนก็จะลดลง เป็นวิธีคิดแบบ “Economy of scale” 

นอกจากนี้ ตนยังมองเรื่องของบาลานซ์ระหว่าง “ดีมานด์” และ “ซัพพลาย” ที่ไม่ได้สัดส่วนกัน เนื่องจากมีสำนักพิมพ์เกิดใหม่เยอะมาก เฉลี่ย 3 ถึง 4 แห่งต่อเดือน รวมแล้วใน 1 ปี มีสำนักพิมพ์เกิดใหม่ราวๆ 40 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมสูงอย่างหมวดบอยเลิฟ-เกิร์ลเลิฟ

ตรงกับความเห็นของ “อัจฉรา พังงา” ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายค้าปลีก ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ระบุว่า ต้นทุนการทำหนังสือ 1 เล่ม ปรับตัวสูงขึ้นจริง ทั้งค่าพิมพ์ ค่าหมึก ค่ากระดาษ ค่าลิขสิทธิ์ ฯลฯ ซึ่งปัจจัยเรื่องการปรับเพิ่มราคาไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้เขียนหนังสือ แต่ขึ้นอยู่กับต้นทุนเหล่านี้

สำหรับโครงสร้างของราคาหนังสือ 1 เล่ม จะมีคร่าวๆ คือ ค่ากองบรรณาธิการทำเล่ม หรือที่เรียกว่า “ค่าต้นฉบับ” ซึ่งในค่าต้นฉบับจะมีค่าลิขสิทธิ์รวมอยู่ด้วย ต่อมา คือค่าตีพิมพ์ ค่าจัดจำหน่าย และค่าฝากวางขายที่หน้าร้าน ด้วยต้นทุนที่สูงขึ้นทั้งหมดนี้จึงทำให้หนังสือออกใหม่ในระยะหลังมีราคาสูง ส่วนใหญ่เริ่มต้นที่ 400 ถึง 500 บาท หากเป็นราคา 100 ถึง 200 บาท ก็จะมีจำนวนหน้าน้อยลง เล่มบางลงจนเห็นได้ชัด

หากถามว่า ราคาที่สูงขึ้นมีผลต่อการตัดสินใจซื้อหรือไม่ “อัจฉรา” ระบุว่า มีความเป็นไปได้ ตอนนี้คนจะจับจ่ายกับอะไรต้องคิดเยอะขึ้น ที่สำคัญ คือเทรนด์การอ่านที่เปลี่ยนไป ยุคนี้คนไม่เน้นซื้อเก็บหรือ “กองดอง” อีกแล้ว แต่เปลี่ยนมาซื้อเท่าที่อ่าน โจทย์ใหญ่จึงกลับไปที่ฝั่งผู้พิมพ์ว่า จะทำราคาอย่างไรให้ราคาสมเหตุสมผลมากที่สุด แต่ขณะเดียวกันจะขายราคาเดิมก็ไม่ได้เพราะต้นทุนเพิ่มขึ้นทุกภาคส่วน

“หนังสือแพงขึ้นจากต้นทุนค่ากระดาษแน่นอน จากค่าพิมพ์ที่พิมพ์ได้จำนวนน้อยลง จากเมื่อก่อนพิมพ์กันครั้งหนึ่ง 3,000 เล่ม ตอนนี้บางแห่งอาจเหลือไม่ถึง 1,000 เล่ม ก็ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น ปัจจุบันพิมพ์ออกมาครั้งละ 1,000 เล่มก็ถือว่าเยอะแล้ว อย่างของศูนย์หนังสือจุฬาฯ แต่ก่อนคู่มือเตรียมสอบพิมพ์กันครั้งละหลักหมื่นเล่ม เพราะยิ่งพิมพ์น้อยราคาก็ยิ่งแพง กระดาษโรงพิมพ์แพงขึ้นอยู่แล้ว”

ด้าน “สุวิท” ระบุไปในทิศทางเดียวกันว่า แม้หนังสือจะเป็นอาหารสมอง แต่ไม่ได้เป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต สะท้อนจากงบประมาณที่ได้จากสัดส่วนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ไทยเพียง 69 ล้านบาท สำหรับการจัดงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 29 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10 ถึง 20 ตุลาคม 2567 ก็ได้งบประมาณการจัดงานมาเพียง 5.5 ล้านบาทเท่านั้น

สถานการณ์ตอนนี้ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ทิ้งท้ายว่า อยู่ในช่วงเวลาของการพยายามไต่ขึ้น ประคองตัว และพออยู่พอกิน

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ศุภาลัย บิสซิเนส สคูลชูแนวคิด "Low Risk High Return"ลดความเสี่ยง

หลายคนคงคุ้นกับแนวคิด “High Risk High Return” ยิ่งการลงทุนมีความเสี่ยงสูง ผลตอบแทนก็จะสูงตาม ซึ่งถูก...

การเลือกตั้งสหรัฐฯ ชี้ชะตาตลาดหุ้น ?

เราได้เดินทางมาสู่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2024 กันแล้ว อีกไม่ถึงหนึ่งเดือน เหตุการณ์ที่สำคัญของโลกก็จะเวี...

จุดเปลี่ยนของตลาดการลงทุนโลก และเป้าหมายถัดไปสำหรับการลงทุนก่อนเข้าสู่ปี 2025

ในปัจจุบันบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกยังคงสดใส โดยนักลงทุนยังอยู่ในโหมดเปิดรับความเสี่ยง (Risk...

เดิมพันขุมทรัพย์พลังงาน ‘ไทย-กัมพูชา’ เปิดชื่อผู้รับสัมปทานเดิม 'เชฟรอน' 5 แปลง

“พลังงาน” เผยเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล “ไทย-กัมพูชา” ไม่คืบ จี้ “ครม.” ตั้งคณะทำงานเจรจาดึงทรัพยากร...