ห่วงไทยเหลื่อมล้ำทางความคิด เมื่อ ‘หนังสือ’ เป็นสิ่งที่รัฐ-เอกชนเมินลงทุน

หากใครได้หยิบหนังสือจากสำนักพิมพ์ชื่อดัง และเปิดอ่านหน้าแรก คงคุ้นชินกับข้อความ “การอ่านคือรากฐานสำคัญ” ซึ่งประโยคนี้ไม่เกินจริง ยิ่งกว่านั้น การอ่านตำรา จะนำมาซึ่งความรู้ อันเป็นขุมทรัพย์ทางปัญญาที่จะติดตัวนักอ่านไปตลอด

นับถอยหลังอีกกว่า 10 วัน “งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ” ครั้งที่ 29 กำลังจะมาถึง ซึ่งปีนี้จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 10-20 ต.ค.2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พื้นที่รวมกว่า 20,000 ตารางเมตร ที่ 286 สำนักพิมพ์ จำนวน 855 บูธ ขนทัพหนังสือกว่า 2 ล้านเล่ม ในงานยังมีอีกกว่า 100 กิจกรรม มาเอาใจนักอ่าน

การจัดงานมหกรรมหนังสือระดับชาติแต่ละปีจะมี “ธีม” ที่ปลุกให้คนไทยมาอ่านหนังสือกันมากขึ้น ซึ่งปีนี้ชู “อ่านกันยันโลกหน้า” เรียกว่าภพชาติไหนก็ควรจะอ่านหนังสือเติมอาหารสมองเสมอ

กรุงเทพธุรกิจ ได้พูดคุยกับ 2 ผู้คร่ำหวอดในวงการหนังสือทั้ง สุวิช รุ่งวัฒนไพบูลย์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) และจรัญ หอมเทียนทอง ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหนังสือ และเคยสวมบทนายกสมาคม PUBAT เช่นกัน

‘กิน-เที่ยว’ มาก่อน เติมอาหารสมองไว้ทีหลัง

ในมุมปากท้อง เวลานี้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 ได้รับความสนใจอย่างมาก เพราะมีประชาชนกลุ่มเปราะบาง 14.5 ล้านราย คือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และผู้พิการ จะได้รับเงิน 10,000 บาท เพื่อนำไปใช้จ่าย

วงเงิน 1.45 แสนล้านบาท ถือว่าไม่น้อย กับการฟื้นเศรษฐกิจไทยที่อยู่ในภาวะอ่อนแอ จากสารพัดปัจจัยจัย ทว่า เมื่อประชาชนได้รับเงินหมื่น สมาคม PUBAT คาดหวังจะเห็นผู้คนปันเงินมาซื้อหนังสือบ้าง แม้จะเป็นเรื่องยากก็ตาม

 “สุวิช” ให้มุมมองว่า เมื่อผู้บริโภคได้รับเงิน 10,000 บาท สมาคมฯ อยากเห็นการจับจ่ายใช้สอยซื้อหนังสือ ทว่า ภาพความเป็นจริงเรื่อง “กิน-เที่ยว” มาเป็นลำดับแรก ส่วนการ “เติมอาหารสมอง” คงต้องไว้ทีหลัง

สอดคคล้องกับ “จรัญ” ให้ความเห็นว่า เมื่อมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ปลุกการจับจ่ายใช้สอย วงการหนังสือมักไม่ได้รับอานิสงส์เท่าที่ควร เหตุเพราะกลุ่มคนเปราะบางส่วนหนึ่งมอง “หนังสือคือความฟุ่มเฟือย” เพราะอีกด้านของชีวิตยังมี “ภาระค่าใช้จ่าย” จำนวนมากที่ต้องแบกรับ

จรัญ หอมเทียนทอง

อุตสาหกรรมหนังสือมูลค่าตลาดน้อยกว่าผงชูรส

งานมหกรรมหนังสือระดับชาติปี 2567 กระทรวงวัฒนธรรมสนับสนุนงบจัดงานราว 5.5 ล้านบาท ซึ่งอาจไม่มาก แต่ดีกว่าไม่ได้ เพราะที่ผ่านมา รัฐมองข้าม “การลงทุน” กับอุตสาหกรรมหรือวงการหนังสือ ไม่เว้น “ภาคธุรกิจ-องค์กรเอกชน” ที่ไม่เคยเข้ามาเป็นผู้สนับสนุนหรือสปอนเซอร์แต่อย่างใด แม้ภาพใหญ่จะเห็นแม่ทัพบิ๊กคอร์ปเป็น “นักอ่านตัวยง” ก็ตาม

หลายปีที่ผ่านมา “ดิจิทัล ดิสรัปชัน” กระทบอุตสาหกรรมหนังสืออย่างหนัก กระดาษถูกหยิบจับ สัมผัสน้อยลง เพราะนักอ่านสามารถเสพคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้

“จรัญ” ย้อนอดีตยุคเฟื่องฟูของอุตสาหกรรมหนังสือ เกิดราวปี 2560 ซึ่งมูลค่าตลาดระดับ 2-3 หมื่นล้านบาท มีให้เห็น ทว่า ปัจจุบันอยู่ระดับ 1.5-1.6 หมื่นล้านบาท

“ตอนนี้อุตสาหกรรมหนังสือมูลค่าน้อยกว่าตลาดผงชูรส และตลาดชานมเสียอีก ทั้งที่ทุกคนพูดชื่นชมหนังสือเป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่มีใครลงทุน”

ปัจจุบันห้องสมุดในพื้นที่ห่างไกล หรือสถานที่สำคัญยังมีการ “ขอรับบริจาคหนังสือ” ให้เห็นอย่างต่อเนื่อง รัฐเองก็ไม่ได้มีการลงทุนกับหนังสือ ไม่มีการตั้งงบประมาณเพื่อสนับสนุนวงการ เช่นเดียวกับภาคเอกชนที่ไม่ลงทุนสนับสนุน เนื่องจากมองไม่เห็นผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจ จึงอยากเห็นภาครัฐ ตั้งงบประมาณซื้อหนังสือ ไม่ใช่เพียงรอรับบริจาค

สังคมไทยเหลื่อมล้ำทางความคิดของประชาชน

ภายใต้รัฐบาล “อุ๊งอิ๊งค์ แพทองธาร ชินวัตรนายกรัฐมนตรี แม้จะมีนโยบายขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ไทยผงาดโลก แต่ดูเหมือน “หนังสือ” จะไม่ใช่เรือธง เมื่อเทียบกับอาหาร แฟชั่น ภาพยนตร์ มวยไทย ฯ ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็นกอบเป็นกำมากกว่า

 จากปัจจัยข้างต้น “จรัญ” จึงแสดงความเห็นห่วง ไม่แค่รากฐานความรู้จะอ่อนแอ แต่ที่กังวลสุดคือความเหลื่อมล้ำทางความคิดของประชาชน

“ขณะที่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูงขึ้น เรายังสร้างความเหลื่อมล้ำทางความคิดให้กับประชาชนด้วย เพราะลูกคนมีเงินสามารถซื้อหนังสืออ่านได้ ส่วนคนไม่มีเงิน ย่อมซื้อหนังสืออ่านไม่ได้ ซึ่งคนไม่มีเงินจะอ่านหนังสือห้องสมุด แต่ห้องสมุดไม่มีหนังสือดีๆ นี่เป็นความเหลื่อมล้ำทางความคิด ที่อนาคตจะยิ่งต่างกันมากขึ้น”

อย่าให้หนังสือไว้แจกงานแค่ศพ วอนนายกฯ แนะหนังสือน่าอ่าน

แม้อาจไม่เห็นภาพมหาเศรษฐี องค์กรที่มีกำไร “พัน-หมื่นล้านบาท” หรือคนมีเงินสนับสนุนวงการหนังสือมากนัก จึงฝากความหวังถึงภาครัฐ รวมถึงผู้คน ในการหาแนวทางส่งเสริมการมอบหนังสือเป็นของขวัญในวันเทศกาล แต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ หรือแมเกระทั่งรับปริญญา

“อย่าให้หนังสือเป็นแค่ของแจกในงานศพ แต่เสนอให้เป็นของขวัญมอบแก่แก่กัน”

นอกจากนี้ การปลูกฝังรักการอ่าน กระตุ้นอุตสาหกรรมหนังสือ อยากเห็น “นายกรัฐมนตรี” แนะนำหนังสือน่าอ่าน เฉกเช่นผู้นำระดับโลก ผู้นำองค์กรต่างๆ ที่มีหนังสือเล่มโปรด หนังสือที่ควรอ่าน เพื่อเป็นต้นแบบ

คนซื้ออ่านไม่ได้หาเงิน เพราะพ่อแม่พร้อมเปย์

แม้อุตสาหกรรมหนังสือจะมีความท้าทายต้องเผชิญ ทว่า ยังมีเรื่องราวดีๆ เพราะหากมองพฤติกรรมนักอ่าน โดยเฉพาะเด็ก เยาวชน จะเห็นว่า “คนอ่านไม่ได้จ่ายเงิน คนจ่ายเงิน ไม่ใช่คนอ่าน” สะท้อนถึง “พ่อแม่ผู้ปกครอง” เป็นคนเปย์งบให้บุตรหลานไปซื้อหนังสือเติมอาหารสมอง เพิ่มความรู้

“อุตสาหกรรมหนังสือโชคดีมากที่คนซื้อไม่ได้หาเงิน เพราะผู้ปกครองสนับสนุนงบให้ลูกหลานไปซื้อหนังสือเล่มโปรดอ่าน”

ยิ่งเมื่อถึงงานหนังสือจะเป็น “สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ” หรือ “งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ” ใครที่เข้ามาแล้ว ไม่มีกลับมือเปล่า อย่างน้อยต้องติดไม้ติดมือกลับบ้านซัก 1-2 เล่ม ซึ่งภาพรวมการใช้จ่ายต่อครั้ง “จรัญ” ประเมินเฉลี่ยทรงตัวกว่า 500 บาทต่อคน

การ์ตูนสำคัญ หนังสือเล่มแรกของเด็ก

แม้การอ่านหนังสือจะเพิ่มพูนคลังความรู้ แต่ “การ์ตูน” มักถูกผู้ใหญ่บางส่วนตัดสินว่าไร้สาระ ทว่า “จรัญ” มองต่างมุม และย้ำว่า หนังสือการ์ตูนมีความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นหนังสือเล่มแรกของเด็ก เด็กทุกคนเกิดมาล้วนต้องอ่านการ์ตูน และถือเป็นพื้นฐานของนักอ่านทั้งในประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน อย่างมังงะสำคัญมากกับวงการหนังสือญี่ปุ่น

นอกจากนี้ จะเห็นว่าหนังสือพัฒนาทักษะสมอง หรือ EF (Executive Function) มีราคาค่อนข้างแพง เพราะสำคัญต่อเด็กนั่นเอง

“การ์ตูน หนังสือเด็ก หนังสือภาพ คือความรู้ชุดแรกของเด็ก สำคัญอย่างมาก”

งานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 29 จึงมีโซนหนังสือหนังสือนิยายและวรรณกรรม, หนังสือการ์ตูนและวัยรุ่น (Book Wonderland), หนังสือเด็กและการศึกษา, หนังสือทั่วไป ,หนังสือเก่า และ Non – Book & Board Game รวมถึงมีกิจกรรมให้เด็กได้สัมผัส สร้างเสริมประสบการณ์อ่าน

“งานครั้งนี้มีพื้นที่ให้เด็กๆ เพราะโลกการอ่านของเด็ก เป็นจักรวาลที่เล็ก เราควรปลูกฝังให้เด็กอ่านหนังสือ ซึ่งสำคัญมาก แม้ว่าผู้มีฐานะไม่ค่อยดีจะรู้สึกว่าหนังสือเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยก็ตาม"

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ศุภาลัย บิสซิเนส สคูลชูแนวคิด "Low Risk High Return"ลดความเสี่ยง

หลายคนคงคุ้นกับแนวคิด “High Risk High Return” ยิ่งการลงทุนมีความเสี่ยงสูง ผลตอบแทนก็จะสูงตาม ซึ่งถูก...

การเลือกตั้งสหรัฐฯ ชี้ชะตาตลาดหุ้น ?

เราได้เดินทางมาสู่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2024 กันแล้ว อีกไม่ถึงหนึ่งเดือน เหตุการณ์ที่สำคัญของโลกก็จะเวี...

จุดเปลี่ยนของตลาดการลงทุนโลก และเป้าหมายถัดไปสำหรับการลงทุนก่อนเข้าสู่ปี 2025

ในปัจจุบันบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกยังคงสดใส โดยนักลงทุนยังอยู่ในโหมดเปิดรับความเสี่ยง (Risk...

เดิมพันขุมทรัพย์พลังงาน ‘ไทย-กัมพูชา’ เปิดชื่อผู้รับสัมปทานเดิม 'เชฟรอน' 5 แปลง

“พลังงาน” เผยเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล “ไทย-กัมพูชา” ไม่คืบ จี้ “ครม.” ตั้งคณะทำงานเจรจาดึงทรัพยากร...