“Utility Token : ทำไมต้องขออนุญาตจาก ก.ล.ต. ?”

จากครั้งก่อนเราทำความรู้จักกับ “โทเคนดิจิทัล” แต่ละประเภท และทราบแล้วว่าเมื่อไม่นานมานี้ ก.ล.ต. ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแล “โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์แบบพร้อมใช้” หรือ “Utility Token พร้อมใช้” โดยครอบคลุมตั้งแต่การออกเสนอขายโทเคนดิจิทัลในตลาดแรก (หรือที่เรียกว่า ICO) ไปจนถึงการซื้อขายในตลาดรอง เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะ ความเสี่ยง และการใช้งาน Utility Token พร้อมใช้แต่ละประเภท มีกลไกคุ้มครองผู้ซื้อขายที่เพียงพอเหมาะสม และสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม พร้อมทั้งส่งเสริมนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ

แต่ก่อนจะเข้าเรื่องการปรับปรุงหลักเกณฑ์ ขอทวนประเภทของ “Utility Token” กันอีกนิดนะครับ เผื่อว่าบางท่านจะพลาดตอนที่แล้วไป 

Utility Token เป็นโทเคนดิจิทัลที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือในการได้รับสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่น ๆ ที่เฉพาะเจาะจง แบ่งเป็นแบบไม่พร้อมใช้ และแบบพร้อมใช้ โดยทุกประเภทจะต้องไม่มีลักษณะเป็น Means of Payment (MOP) ตามแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย และต้องไม่มีการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ถือโทเคนดิจิทัล (staking) เว้นแต่เป็นการ stake ตามที่กำหนด 

- Utility Token ไม่พร้อมใช้ เป็นโทเคนดิจิทัลที่ผู้ออก (issuer) มีวัตถุประสงค์ที่จะนำเงินที่ได้จากการเสนอขายโทเคนดิจิทัลไปสร้างหรือพัฒนาสินค้าหรือบริการเพื่อให้ผู้ถือสามารถใช้ประโยชน์ตามสิทธิของโทเคนดิจิทัลนั้น ๆ ได้ จึงไม่สามารถใช้แลกสิทธิประโยชน์ได้ทันที แต่จะเป็นการรอใช้สิทธิในอนาคต 

- Utility Token พร้อมใช้ ที่เป็นโทเคนดิจิทัลที่พร้อมจะให้ผู้ถือสามารถใช้ประโยชน์ได้ 

นอกจากนี้ ทั้งแบบพร้อมใช้และไม่พร้อมใช้ ยังแบ่งตามวัตถุประสงค์ได้เป็นแบบละ 2 กลุ่ม 

- Utility Token กลุ่มที่ 1 ที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการอุปโภคบริโภคและใช้แทนใบรับรองหรือแทนเอกสารสิทธิใด ๆ เช่น บัตรกำนัลดิจิทัล คูปองที่ออกในรูปแบบโทเคน ใบรับรองพลังงานทดแทน carbon credit ใบกำกับภาษี ใบรับรองการศึกษา ใบรับรองแพทย์

- Utility Token กลุ่มที่ 2 คือ Utility Token ที่มีลักษณะอื่นที่นอกเหนือจากกลุ่มที่ 1 เช่น โทเคนเพื่อใช้งานบนศูนย์ซื้อขายฯ (exchange token) และโทเคนที่ให้สิทธิโหวตเพื่อปรับเปลี่ยนการตัดสินใจเกี่ยวกับการดำเนินการทางธุรกิจ (governance token)

 การออกเสนอขายโทเคนดิจิทัลในตลาดแรก 

- ไม่ต้องขออนุญาตจาก ก.ล.ต.

การออกเสนอขายในตลาดแรกที่ได้รับยกเว้น ไม่ต้องขออนุญาตจาก ก.ล.ต. จะมี 2 กลุ่ม คือ “Utility Token พร้อมใช้ กลุ่มที่ 1” และ “Utility Token พร้อมใช้ กลุ่มที่ 2 ที่ issuer ไม่ต้องการนำไปจดทะเบียนซื้อขาย (list) บนศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต.”

- ต้องขออนุญาตจาก ก.ล.ต.

การออกเสนอขาย “Utility Token ไม่พร้อมใช้” ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่ 1 หรือกลุ่มที่ 2 จะต้องขออนุญาตจาก ก.ล.ต. รวมถึงต้องยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัล (แบบ filing) และร่างหนังสือชี้ชวนต่อ ก.ล.ต. และต้องเสนอขายผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO portal) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. 

รวมทั้ง “Utility Token พร้อมใช้ กลุ่มที่ 2 ที่ issuer ต้องการนำไป list บนศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต.” จะต้องขออนุญาตเสนอขาย ยื่นแบบ filing และร่างหนังสือชี้ชวน และเสนอขายผ่าน ICO portal ด้วยเช่นกัน

การให้บริการในตลาดรอง

- ไม่ต้องขออนุญาตจาก ก.ล.ต.

การบริการเกี่ยวกับ “Utility Token กลุ่มที่ 1” ไม่ว่าจะเป็นแบบ “พร้อมใช้” หรือ “ไม่พร้อมใช้” ไม่ถือเป็นการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ดังนั้น ผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น ศูนย์ซื้อขายในลักษณะmarketplace จึงไม่ต้องขออนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจาก ก.ล.ต. แต่ยังคงต้องทำตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อยู่ครับ

- ต้องขออนุญาตจาก ก.ล.ต.

ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. (หรือเรียกรวม ๆ ว่า “ตลาดรอง”) ไม่สามารถให้บริการเกี่ยวกับ “Utility Token กลุ่มที่ 1” ได้นะครับ เนื่องจากการให้บริการในกลุ่มนี้ไม่ถือเป็นการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 

แต่ไม่ได้หมายความว่า ก.ล.ต. จะปิดกั้นการทำธุรกิจนะครับ เพราะผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในประเภทข้างต้นยังสามารถให้บริการกลุ่มนี้ได้ เพียงแต่ต้องทำในฐานะ “การประกอบกิจการอื่น” โดยการแยกนิติบุคคลในการให้บริการ และไม่ใช้ชื่อหรือข้อความที่ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดว่า เป็นผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ครับ

นอกจากนี้ ในอนาคตคณะกรรมการ ก.ล.ต. อาจกำหนดข้อยกเว้นให้ “ตลาดรอง” สามารถให้บริการ “Utility Token กลุ่มที่ 1” บางลักษณะที่เป็นกลไกส่งเสริมเศรษฐกิจและสนับสนุนการพัฒนาประเทศได้ 

สำหรับ “Utility Token กลุ่มที่ 2” ผู้ให้บริการต้องได้ใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. เช่นเดียวกับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และศูนย์ซื้อขายฯ สามารถนำมา list ได้ (ต้องไม่มีการรับ staking) และต้องปฏิบัติตาม listing rule ที่ถูกต้อง 

ทำไม “Utility Token พร้อมใช้ กลุ่มที่ 2 ที่ issuer ต้องการนำไป list บนศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล” ต้องขออนุญาต

หากได้ติดตามพัฒนาการของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลและการใช้งานสินทรัพย์ดิจิทัลจะเห็นว่า หลายอุตสาหกรรมได้นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อออก “Utility Token พร้อมใช้” และต้องการนำไป list ในตลาดรอง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุน/เก็งกำไรมากกว่าการอุปโภคบริโภค ในขณะที่ ผู้ซื้อขายอาจไม่มีข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจซื้อขายโทเคนดิจิทัลดังกล่าว ซึ่งอาจทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ผู้ถือโทเคนดิจิทัล

ก.ล.ต. จึงต้องมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง ให้สอดคล้องกับพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อการคุ้มครองผู้ลงทุนอย่างเหมาะสมและเพียงพอ ไม่มากเกินไปจนกลายเป็นการปิดกั้นโอกาสของผู้ลงทุน และในขณะเดียวกัน ยังต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อภาคเอกชนและต้องส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมในประเทศไทยด้วยครับ

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

'นิคมโรจนะ'โซนอันตรายเหลือขายสูงสุดมูลค่า1.7หมื่นล้าน

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เผยผลสำรวจอุปทานโดยรวมภาคกลาง ในช่วงครึ่งแรกปี 2567 ที่อยู่อาศัยเสนอขายทั...

ตลาดหุ้นสหรัฐแทบไม่ขยับ นักลงทุนชะลอซื้อหลังดัชนีพุ่งแรงวันก่อน

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเล็กน้อยในวันศุกร์ (20 ก.ย.) เนื่องจากนักลงทุนชะลอการเข้าซื้อหุ้น...

เจาะพอร์ต 5 เซียนชื่อดัง ถือหุ้นปันผลสูงเกิน 5% รวม 18 หลักทรัพย์

การลงทุนในตลาดหุ้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้องค์ความรู้มาวิเคราะห์ สังเคราะห์ในทุกปัจจัยอย่างละเอียด ซึ่งม...

น้ำนมดิบอินทรีย์ สร้างรายได้ให้เกษตรกรครบวงจร

นางอังคณา พุทธศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 ชัยนาท (สศท.7) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (...