'กูเกิล' เล็งสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ใหญ่สุด ระดับ 'ไฮเปอร์สเกล' ในเวียดนาม

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานอ้างแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องว่า บริษัท กูเกิล อิงค์ (Google) กำลังพิจารณาจะสร้าง "ดาต้าเซนเตอร์" ขนาดใหญ่ระดับไฮเปอร์สเกล ใกล้กับเมืองโฮจิมินห์ ซิตี้ เนื่องจากมีลูกค้าทั้งในและต่างประเทศที่ต้องการใช้บริการคลาวด์มากขึ้นในเวียดนาม ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของสหรัฐลงทุนระดับนี้ในเวียดนาม

ทั้งนี้ ดาต้าเซ็นเตอร์ระดับไฮเปอร์สเกล คือศูนย์ข้อมูลที่ใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมดาต้าเซ็นเตอร์ โดยมีการใช้พลังงานเทียบเท่ากับเมืองขนาดใหญ่ ซึ่งบริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ โจนส์ แลง ลาซาล ประมาณการว่าดาต้าเซ็นเตอร์ไฮเปอร์สเกลที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 50 เมกะวัตต์ อาจมีค่าใช้จ่ายระหว่าง 300 - 650 ล้านดอลลาร์

แหล่งข่าวยังไม่ได้เปิดเผยเรื่องขนาดและมูลค่าการลงทุน ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงจะถือเป็นแรงหนุนครั้งใหญ่ให้กับรัฐบาลฮานอยที่จนถึงปัจจุบันยังล้มเหลวในการดึงดูดการลงทุนขนาดใหญ่จากต่างประเทศในด้านดาต้าเซ็นเตอร์ เนื่องจากปัญหาโครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่เอื้ออำนวย และทำให้บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่เลือกที่จะไปตั้งศูนย์ข้อมูลในประเทศคู่แข่งภายในภูมิภาคมากกว่า
 

ปัจจุบันยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า กูเกิล จะตัดสินใจเรื่องการลงทุนครั้งนี้เร็วเพียงใด แต่แหล่งข่าวระบุว่ากำลังมีการหารือเป็นการภายในกันอยู่ และดาต้าเซ็นเตอร์ดังกล่าวอาจพร้อมใช้งานได้ในอีก 3 ปีข้างหน้า หรือในปี 2570

อย่างไรก็ตาม โฆษกของกูเกิลยังปฏิเสธที่จะให้ความเห็นในเรื่องนี้

แหล่งข่าวเผยว่าการตัดสินใจของกูเกิลเป็นเพราะมีลูกค้าบริการคลาวด์ในประเทศและต่างประเทศจำนวนมากในเวียดนาม และเศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนามก็กำลังขยายตัว โดยถือเป็นหนึ่งในตลาดที่เติบโตเร็วที่สุดสำหรับ YouTube 

ปัจจุบันผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์รายใหญ่ในเวียดนามโดยอิงตามขนาดการประมวลผล คือบริษัท IDC Becamex และบริษัทโทรคมนาคม VNPT ซึ่งทั้งสองบริษัทเป็นรัฐวิสาหกิจของเวียดนาม

นิกเกอิรายงานในเดือนพ.ค. ที่ผ่านมาว่า บริษัทอีคอมเมิร์ซของจีนอย่าง "อาลีบาบา" ก็กำลังพิจารณาสร้างศูนย์ข้อมูลในเวียดนามเช่นกัน แต่ทางบริษัทยังปฏิเสธที่จะให้ความเห็นต่อเรื่องนี้

'สิงคโปร์-มาเลย์-ไทย' ครองตลาดในภูมิภาค

แม้ว่าความต้องการบริการดิจิทัลในเวียดนามจะเพิ่มขึ้นจากจำนวนประชากร 100 ล้านคน แต่บรรดานักลงทุนต่างชาติในอุตสาหกรรมนี้ยังลังเลที่จะเข้ามาลงทุน เนื่องจากปัญหาต่างๆ เช่น ไฟฟ้าดับ แรงจูงใจการลงทุนที่ไม่น่าดึงดูดพอ และโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตที่อ่อนแอ ซึ่งต้องพึ่งพาสายเคเบิลใต้น้ำที่เสื่อมสภาพเพียงไม่กี่เส้น ตามที่ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมระบุ

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น "สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย" ถือเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนี้ และดึงดูดการลงทุนที่ใหญ่กว่ามากจากยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีระดับโลก โดยเมื่อเดือนพ.ค. กูเกิลระบุว่าจะลงทุน 2 พันล้านดอลลาร์ในพื้นที่ใกล้กับกัวลาลัมเปอร์เพื่อพัฒนาดาต้าเซ็นเตอร์และคลาวด์ รีเจียนแห่งแรกในมาเลเซีย

รายงานระบุว่า กฎหมายเรื่องต่างชาติเป็นเจ้าของธุรกิจและการจัดเก็บข้อมูลในประเทศ เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนด้านนี้มาตลอด แต่เมื่อเดือนพ.ย. 2566 รัฐสภาเวียดนามได้แก้กฎหมายเปิดทางให้ต่างชาติสามารถถือหุ้นธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ได้ 100% และแม้ว่าเวียดนามจะมีกฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ที่เข้มงวดและมักขัดแย้งกับบริษัทเทคโนโลยีต่างชาติเกี่ยวกับการจัดเก็บข้อมูลภายในประเทศ แต่ข้อกำหนดนี้ไม่ได้บังคับใช้เสมอไป

จากข้อมูลของ LinkedIn พบว่า กูเกิลกำลังเปิดสำนักงานตัวแทนในเวียดนามและประกาศจ้างงานวิศวกร ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด และมืออาชีพอื่นๆ หลายสิบคน นอกจากนี้กูเกิลยังเสนอทุนการศึกษา 40,000 ทุนในเวียดนามสำหรับหลักสูตรปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ขั้นพื้นฐาน และให้ทุน 20 บริษัทสตาร์ตอัปเอไอที่ได้รับการคัดเลือก ทุนละ 350,000 ดอลลาร์ 

ทั้งนี้ กูเกิลมีเครือข่ายซัพพลายเออร์ขนาดใหญ่ในเวียดนามที่ประกอบผลิตภัณฑ์ของตนเองอยู่แล้ว ซึ่งรวมถึงสมาร์ทโฟน Pixel

สร้างสายส่งไฟฟ้าใหม่ แก้ปัญหาไฟดับ

นิกเกอิเอเชียรายงานว่า บริษัทเวียดนาม อิเล็กทริกซิตี้ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจด้านการไฟฟ้าเวียดนาม ได้สร้างโครงการสายส่งไฟฟ้าใหม่มูลค่า 884 ล้านดอลลาร์เสร็จสิ้นแล้ว และได้เริ่มจ่ายไฟฟ้าจากภาคกลางไปยังโรงงานต่างๆ ในภาคเหนือได้มากขึ้น เพื่อป้องกันปัญหาไฟฟ้าดับซึ่งส่งผลกระทบทำให้เกิดการสูญเสียค่าใช้จ่ายในระดับสูง

สื่อท้องถิ่นรายงานว่า โครงการดังกล่าวก่อสร้างแล้วเสร็จภายในเวลาประมาณ 6 เดือน ตามคำสั่งเร่งรัดของนายกรัฐมนตรี ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ ทั้งที่โดยปกติแล้วโครงการลักษณะนี้จะใช้เวลา 3-4 ปี 

สายส่งไฟฟ้าขนาด 500 กิโลโวลต์ซึ่งสร้างด้วยงบประมาณมากกว่า 22 ล้านล้านดอง (ราว 3 หมื่นล้านบาท) มีความยาวมากกว่า 500 กิโลเมตรและวิ่งผ่าน 9 จังหวัด ตั้งแต่จังหวัดฮึงเอียน (Hung Yen) ทางตอนเหนือไปจนถึงจังหวัดกว๋างบิ่ญ (Quang Binh) ทางตอนกลาง การปรับปรุงนี้ทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าเป็น 5,000 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ ภาคเหนือของเวียดนามประสบปัญหาไฟฟ้าขัดข้องเรื้อรัง เนื่องจากต้องพึ่งพาไฟฟ้าพลังน้ำมากขึ้น อุปทานของภูมิภาคจึงมักขึ้นอยู่กับน้ำฝน ซึ่งปัญหาคลื่นความร้อนและระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำที่ต่ำ ทำให้ภาคเหนือประสบปัญหาไฟฟ้าดับในปี 2566

นอกจากนี้ยังมีปัญหาโครงข่ายไฟฟ้าระหว่างภาคเหนือ-ภาคใต้ ที่มีอุปสรรคเรื่องการจ่ายไฟไปยังภูมิภาคต่างๆ ซึ่งความไม่มั่นคงด้านพลังงานถือเป็นปัญหาสำคัญในการดึงดูดการลงทุน

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘ไต้ฝุ่นยางิ’ ทำ ‘เศรษฐกิจเวียดนาม’ เสียหายกว่า 5 หมื่นล้านบาท

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า พายุไต้ฝุ่นยางิ ถล่มเมียนมา เวียดนาม ลาว และไทยด้วยกำลังลมที่แรงมาก และทำใ...

ท่วมหนักสุด 'ในรอบ 3 ทศวรรษ' พายุบอริสถล่มยุโรป ผลกระทบจากโลกร้อน

จากหย่อมความกดอากาศต่ำที่ชื่อว่า “พายุบอริส” ส่งผลให้มีฝนตกหนักจากออสเตรียไปจนถึงโรมาเนีย จนเกิด “น้...

ฮามาสโวความสามารถสูง ทำสงครามกาซาต่อได้แม้สูญเสีย

นายโอซามา ฮัมดัน ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอเอฟพี เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่นครอิสตันบูลของตุรกี ระบุ “ขบวนก...

สงครามสู้ฮามาสและยอดส่งออกร่วง กดดันจีดีพี ‘อิสราเอล’ Q2 ให้โตเพียง 0.7%

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของอิสราเอลในไตรมาสที่สองชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไ...