‘YUEDPAO’ เสื้อยืดของอดีตเด็กช่างวัย 33 ปี ที่จ่อขึ้นแท่น ‘แบรนด์พันล้าน’

“ผมโตมากับสังคมที่หลากหลายมากๆ เป็นทั้งลูกพ่อค้า เป็นเด็กตลาด ประสบปัญหาครอบครัวล้มละลาย เป็นเด็กเกเร เด็กช่างยกพวกตีกัน เกือบตายมาแล้วหลายครั้งมากๆ” นี่คือประโยคกล่าวเปิดงานแถลง ก่อนเข้าสู่รายละเอียดสินค้า “TAILOR COOL POLO INNOVATION” เสื้อโปโลใหม่ล่าสุดจากแบรนด์ “ยืดเปล่า” (YUEDPAO) ของ “ตอน-ทนงค์ศักดิ์ แซ่เอี้ยว” ผู้บริหาร บริษัท เริ่มใหม่ จำกัด ผู้ก่อตั้งยืดเปล่า

แม้จะเป็นแบรนด์น้องใหม่ในวงการแฟชั่น เพิ่งเข้าสู่ปีที่ 6 มาได้หมาดๆ แต่ “ยืดเปล่า” กลับมีแนวโน้มการเติบโตก้าวกระโดดทุกปี ตั้งแต่เริ่มต้นในปี 2561 รายได้ของบริษัทโตขึ้นด้วยอัตรา 100% ทุกปี ปีล่าสุด (ปี 2566) ปิดตัวเลขไปที่ 802 ล้านบาท กำไรสุทธิ 74 ล้านบาท จากปี 2565 ที่มีรายได้ 506 ล้านบาท กำไรสุทธิ 18 ล้านบาท นั่นหมายความว่า หากปี 2567 “ยืดเปล่า” โตด้วยศักยภาพใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ก็คงไม่ใช่เรื่องยากที่จะผงาดสู่ “แบรนด์​พันล้าน”

มาไกลกว่าที่คิด และไม่ได้คาดหวังว่า จะมาถึงจุดนี้ คือสิ่งที่เจ้าของแบรนด์ยืดเปล่าตอบคำถามผู้สื่อข่าว “กรุงเทพธุรกิจ” เมื่อพาย้อนไปตั้งแต่วันแรกที่แบรนด์ถือกำเนิดขึ้นจากร้านค้าในตลาดนัดจตุจักร สู่แบรนด์เสื้อยืดที่วันนี้ปักหมุดไปแล้ว 62 สาขา และตั้งใจจะเปิดให้ครบ 70 สาขาภายในสิ้นปีนี้ 

-“ตอน-ทนงค์ศักดิ์ แซ่เอี้ยว” ผู้บริหาร บริษัท เริ่มใหม่ จำกัด ผู้ก่อตั้งยืดเปล่า-

“Key Success” ของยืดเปล่าไม่ใช่สูตรลับอะไรมากมาย “ทนงค์ศักดิ์” บอกมา 3 คำสั้นๆ คือ สินค้าดี ตอบโจทย์ผู้บริโภค และราคาที่จับต้องได้ ตั้งแต่ช่วงตั้งไข่ขวบปีแรกแบรนด์ยืดเปล่าพูดคุย-สร้างบทสนทนากับลูกค้าด้วยท่าทางสบายๆ อะไรที่ไม่ดีจะเก็บฟีดแบ็กมาพิจารณาและปรับปรุงทันที เขาเล่าว่า มีเคสหนึ่งที่ทำให้โซลูชันเรื่องการจัดส่งสินค้าเปลี่ยนแปลงไป คือปัญหาเรื่องการขนส่งล่าช้าและส่งผิด

แม้จะเกิดขึ้นไม่บ่อยแต่วิธีแก้ปัญหาที่ให้ส่งสินค้าตีกลับทำให้ลูกค้าไม่พอใจนัก เพราะไม่ใช่ความผิดของลูกค้า ไม่ใช่เรื่องที่ต้องผลักไปเป็นธุระของผู้บริโภค “ทนงค์ศักดิ์” เรียกทีมมาพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกัน และได้ข้อสรุปว่า หากมีการส่งสินค้าผิดสี ผิดไซซ์ ไม่ตรงกับความคาดหวัง ลูกค้าไม่ต้องส่งคืน ให้เป็นหน้าที่ของร้านในการส่งสินค้าใหม่ทดแทน

จากช่วงแรกที่เน้นเสื้อยืดหลากสี หลากทรง ปีนี้ “ยืดเปล่า” ขอบุกตลาดเสื้อโปโลดูบ้าง ซึ่งก็มีจุดเริ่มต้นจากนโยบายหลักเรื่อง “Customer Centric” ผู้บริหารหนุ่มวัย 33 ปีคนนี้บอกว่า มีลูกค้าเรียกร้องเสื้อผ้าแบบอื่นๆ มาโดยตลอด นอกจากเสื้อผ้าเด็กที่เพิ่งเปิดตัวไป เสื้อโปโลก็เป็นอีกส่วนที่ได้รับฟีดแบ็กมาว่า ถ้ายืดเปล่าทำขาย ผู้บริโภคก็พร้อมจะอุดหนุน

เป็นที่มาของการคิดค้นออกแบบตลอด 2 ปีเต็ม ขึ้นตัวอย่างมาแล้ว 300 แบบ ทำไมถึงใช้เวลานานขนาดนั้น? เพราะเสื้อโปโลของยืดเปล่าตั้งต้นจาก “Pain Point” ที่หลายคนอาจเคยเจอมาก่อน คือความกว้างพอดีแต่ความยาวมากเกินไป หากเป็นคนรูปร่างอวบก็ต้องใส่ไซซ์ใหญ่จนชายเสื้อยาวไม่ต่างจากชุดนอน ความยาวแขนเลยศอกจนไม่ได้สัดส่วน ทำให้เสื้อโปโล “TAILOR COOL POLO INNOVATION” มีมากถึง 20 ไซซ์ ตามความสูงและน้ำหนักของผู้สวมใส่นั่นเอง

“ทนงค์ศักดิ์” บอกว่า สเกลการผลิตเพิ่มต้นทุนขึ้นมาแน่นอน ทั้งเรื่องการขนส่ง การจัดเก็บสต๊อก การจัดหน้าร้าน การผลิต แต่ที่ทำให้ควบคุมต้นทุนได้ ก็มาจาก “Economy of Scale” วันนี้ยืดเปล่ามีช่องทางการจัดจำหน่ายมากพอที่จะทำให้การควบคุมต้นทุนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ราคาเสื้อโปโลตามท้องตลาดเฉลี่ยอยู่ที่ 790 ถึง 990 บาท “ยืดเปล่า​” ตั้งราคาที่ 590 บาท เป็นการตั้งราคาโดยอิงจากต้นทุนเป็นหลัก

เขาคาดหวังให้เสื้อโปโลเป็นหนึ่งใน “Flagship Product” ยืนพื้นขายได้เรื่อยๆ มีโอกาสเจาะไปได้ทุกกลุ่มจากความคลาสสิกของแบบเสื้อที่จะใส่ไปทำงานออฟฟิศ ใส่ไปเล่นกีฬา หรือใส่ในวันสบายๆ ก็ไม่ได้ดูทางการจนเกินไป ไม่ได้ดีไซน์ให้เป็นแฟชั่นจ๋าเหมือนกับสินค้าตัวอื่นๆ ของยืดเปล่าที่แม้จะเป็นช่วงเทศกาล มีการออกแบบให้มีลูกเล่นล้อไปกับกลิ่นอายของ “Festive” แต่สำคัญที่สุด คือต้องใส่ได้ทุกโอกาส ทำให้แบบเสื้อโดยส่วนใหญ่ของยืดเปล่าไม่มีโลโก้ หรือถึงจะมีก็น้อยมากๆ 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเติบโตของยืดเปล่าจะทำได้ดีทุกปี แต่การแข่งขันที่ดุเดือดมากขึ้นโดยเฉพาะการเข้ามาของทุนจีนก็ทำให้อุตสาหกรรมแฟชั่นบ้านเราเปลี่ยนแปลงไปไม่น้อย ทว่า “ทนงค์ศักดิ์” มองต่างออกไป ตนเชื่อว่า ยืดเปล่ามีศักยภาพและเข้าใจลูกค้าได้มากกว่า ถ้ารู้จักลูกค้ามากพอ ทำงานหนัก เก็บรีเสิชสม่ำเสมอ จะอย่างไร “ยืดเปล่า” ก็สู้ได้ มองว่า การสร้างบทสนทนากับลูกค้าเป็นตัวแปรสำคัญ ถ้าไม่มีตรงนี้ “ราคา” จะกลายเป็นตัวตัดเชือกทันที ซึ่งขณะนี้ยืดเปล่ายังไม่เจอผลกระทบ เพราะลูกค้าเชื่อในแบรนด์ ซื้อจากแบรนด์ และไม่ได้นำยืดเปล่าไปเทียบกับสินค้าจีน

ส่วนการขยายสาขาในปีนี้ ปัจจุบันมีอยู่ 62 แห่ง อยู่ในห้างสรรพสินค้า 56 แห่ง ตลาดนัดสวนจตุจักร 3 แห่ง บนสถานีรถไฟฟ้า 2 แห่ง และอีก 1 แห่งที่ย่านสยามสแควร์ ปีนี้ตั้งใจเปิดให้ครบ 70 แห่ง โดยเป็นสาขาในห้างทั้งหมด เพราะเชื่อว่า ยังตอบโจทย์คนไทยที่มานัดพบปะสังสรรค์กันที่ห้าง แม้อนาคตดีมานด์อาจลดลงไปบ้าง แต่เชื่อว่า ไม่มีทางหายไป ซึ่งสัดส่วนการขายตอนนี้แบ่งเป็นหน้าร้าน 60% และออนไลน์ 40% 

สำหรับเป้าหมายระยะยาวของ “ยืดเปล่า” ผู้บริหารวัย 33 ปีคนนี้ บอกว่า ฝันสูงสุดคืออยากทำให้แบรนด์ไทยมีคุณภาพและนวัตกรรมเทียบเท่าสินค้าระดับโลก จากวันเริ่มต้นไม่เคยคิดว่ายืดเปล่าจะมาไกลขนาดนี้ แต่เมื่อทำอย่างเต็มที่ จริงจัง โอกาสใหม่ๆ ก็เข้ามาเรื่อยๆ ปีที่แล้วทำได้ 802 ล้านบาท ปีนี้จะมีลุ้นแตะ “พันล้านบาท” หรือไม่นั้น ทนงค์ศักดิ์ทดคำตอบไว้ในใจ ตอบเราเพียงว่า อยากให้ไปดูการเติบโตย้อนหลัง ทั้งยังมีสินค้าเสื้อโปโลเป็นตัวชี้วัดด้วย ตั้งเป้าขายให้ได้ “5 แสนตัว” ภายในปีนี้ หากทำได้ก็อาจมีลุ้นได้เห็น “แบรนด์พันล้าน” น้องใหม่ในบ้านเราเพิ่มอีกหนึ่งราย

เมื่อถามว่า อนาคตจะได้เห็น “ยืดเปล่า” นอกประเทศหรือไม่ ผู้บริหารหนุ่มบอกว่า ตอนนี้ยังไม่มีแผนไปต่างประเทศ ยืดเปล่าเพิ่งเข้าสู่ปีที่ 6 อยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น มีเวลาอีกมาก มีโปรดักต์อื่นๆ ที่อยากทำอีกเพียบ แบรนด์เกิดและโตในไทย โตมาจากการเข้าใจอินไซต์คนไทย เมื่อถึงเวลา เมื่อพร้อมแล้วจึงจะคิดเรื่องไปต่างประเทศ ขอเวลาเตรียมตัวอีกอย่างน้อย 3 ปี

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

'นิคมโรจนะ'โซนอันตรายเหลือขายสูงสุดมูลค่า1.7หมื่นล้าน

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เผยผลสำรวจอุปทานโดยรวมภาคกลาง ในช่วงครึ่งแรกปี 2567 ที่อยู่อาศัยเสนอขายทั...

ตลาดหุ้นสหรัฐแทบไม่ขยับ นักลงทุนชะลอซื้อหลังดัชนีพุ่งแรงวันก่อน

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเล็กน้อยในวันศุกร์ (20 ก.ย.) เนื่องจากนักลงทุนชะลอการเข้าซื้อหุ้น...

เจาะพอร์ต 5 เซียนชื่อดัง ถือหุ้นปันผลสูงเกิน 5% รวม 18 หลักทรัพย์

การลงทุนในตลาดหุ้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้องค์ความรู้มาวิเคราะห์ สังเคราะห์ในทุกปัจจัยอย่างละเอียด ซึ่งม...

น้ำนมดิบอินทรีย์ สร้างรายได้ให้เกษตรกรครบวงจร

นางอังคณา พุทธศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 ชัยนาท (สศท.7) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (...