มาตรการเศรษฐกิจในประชาธิปไตยแบบ "เคลย์ตัน"

ทำให้ประเทศไม่สามารถแก้ปัญหาที่มีได้ ผลคือเศรษฐกิจโตตํ่าและประชาชนเสียโอกาส วันนี้จึงขอให้ความเห็นสิ่งที่รัฐบาลใหม่ควรทําเพื่อเพิ่มการขยายตัวของเศรษฐกิจ ให้ประเทศหลุดออกจากเศรษฐกิจโตตํ่าโดยไม่ต้องแจกเงิน นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

ที่ออสเตรเลียสมัยผมอยู่เมื่อ 40 ปีก่อน มีโฆษณาเหล้าชื่อ “เคลย์ตัน” (Claytons) เป็นเหล้าหรือเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์รุ่นแรกๆ โดยโฆษณาว่า เป็นเหล้าที่คุณดื่มเมื่อไม่อยากดื่มเหล้า (the drink you have when you don't want to have a drink) ซึ่งดังมาก กลายเป็นวลีที่วัยรุ่นสมัยนั้นคือสมัยผมชอบใช้เมื่อพูดถึงสิ่งที่ไม่จริงหรือของปลอม 

เช่น นักศึกษาลงทะเบียนเรียนวิชาหนึ่ง เรียนไปแล้วพบว่าวิชานั้นไม่ได้เรื่อง เรียนแล้วไม่ได้อะไร ผ่านง่าย ก็ล้อกันว่าเป็นวิชาเคลย์ตัน คือวิชาที่ลงเรียนเมื่อไม่อยากเรียนอะไร เป็นคําแสลงที่ใช้กันทั่วเมื่อพูดถึงสิ่งที่เป็นของเทียม หรือ สิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาทดแทนแต่ไม่ใช่

ประชาธิปไตยบ้านเราก็เป็นแบบนั้น เป็นประชาธิปไตยเคลย์ตัน คือมีรูปแบบเป็นประชาธิปไตย แต่ไม่ใช่ประชาธิปไตย คือ มีการเลือกตั้ง มี ส.ส. มีพรรคการเมือง ประชาชนใช้สิทธิเลือกตั้งทุกสี่ปี แต่พอเลือกตั้งเสร็จ พรรคการเมืองที่ประชาชนเลือกและได้ที่นั่ง ส.ส.มากสุดไม่ได้เป็นรัฐบาล ต้องเป็นฝ่ายค้าน

พรรคการเมืองที่ได้รับคะเเนนเสียงมากสุดถูกยุบ และนายกรัฐมนตรีที่มาตามรัฐธรรมนูญถูกปลด 

ทั้งหมดที่เกิดขึ้นมีการวิเคราะห์จากต่างประเทศว่ามาจาก “กลไกในรัฐธรรมนูญ" ที่มุ่งบั่นทอนความเข้มแข็งของรัฐบาลที่ประชาชนเลือกโดยอำนาจของกลุ่มอนุรักษนิยมเหนือสภาที่ไม่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลง ประชาธิปไตยบ้านเราจึงเหมือนโฆษณาเหล้าเคลย์ตัน คือ เป็นประชาธิปไตยที่ประเทศมี เมื่อกลุ่มอํานาจเหนือสภาไม่อยากมีประชาธิปไตย

ตั้งแต่อาทิตย์นี้เราคงมีรัฐบาลใหม่ แต่ปัญหาของประเทศยังเหมือนเดิม โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ นั้นคือความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ขณะนี้ค่อนข้างลําบาก รายได้ไม่พอรายจ่ายจากที่เศรษฐกิจโตต่ำ ความหวังจึงอยู่ที่รัฐบาลที่จะออกนโยบายทำให้เศรษฐกิจขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้น ให้ประเทศหลุดออกจากเศรษฐกิจโตตํ่าและประชาชนลืมตาอ้าปากได้ นี่คือการบ้านที่รออยู่

แต่ในระบบประชาธิปไตยแบบเคลย์ตัน รัฐบาลใหม่อาจทำอะไรได้ไม่มาก เหมือนจะถูกมัดมือมัดเท้าเรื่องการใช้เงินหรือการออกนโยบายที่ก้าวหน้าเพราะกลุ่มอํานาจเหนือสภาไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลง ชอบที่จะรักษาสถานะปัจจุบันไว้เพราะได้ประโยชน์เต็มๆ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจและการเมือง

ดังนั้น การทำให้ประเทศหลุดออกจากเศรษฐกิจโตตํ่า ซึ่งจําเป็นและสำคัญสำหรับคนส่วนใหญ่ จึงเป็นเรื่องท้าทายมากๆ สําหรับรัฐบาลใหม่ภายใต้ข้อจำกัดที่มี แต่ก็เป็นเรื่องที่ทําได้

อย่างแรกต้องเข้าใจว่าประเทศก็เหมือนครอบครัว ครอบครัวเมื่อขัดสน รายได้ไม่พอรายจ่าย สาเหตุก็มาจากคนในครอบครัวที่ไม่มีความสามารถมากพอที่จะหารายได้ ประเทศก็เช่นกัน

สาเหตุที่เศรษฐกิจเราขยายตัวในอัตราตํ่ามาตลอด 15-20 ปี ก็เพราะผลิตภาพการผลิตของประเทศเราต่ำ เป็นปัญหา low productivity ในทางเศรษฐศาสตร์ คือประเทศมีความสามารถตํ่าที่จะเพิ่มผลผลิตจากปัจจัยการผลิตที่มี 

ดังนั้น ไม่ว่าจะเพิ่มปัจจัยการผลิต เช่น แรงงาน ที่ดิน หรือการลงทุนเข้าไปอย่างไร ผลิตผลก็เพิ่มไม่มาก เศรษฐกิจจึงขยายตัวไม่สูง นี่คือปัญหาผลิตภาพต่ำ

กรณีประเทศไทย มีการศึกษาแล้วพบว่า ผลิตภาพการผลิตของประเทศเราที่ตํ่ามาจาก 5 ปัจจัย ซึ่งเป็นผลจากนโยบายและการบริหารจัดการที่ผิดพลาดในอดีต

1.การศึกษาและทักษะในการทํางานของคนไทยคือกําลังแรงงานของประเทศ ที่ส่วนใหญ่ขาดการศึกษาและทักษะแรงงานที่ดีพอ ทําให้ไม่สามารถทํางานที่ควรทําได้อย่างมีประสิทธิผล เป็นผลจากระบบการศึกษาที่ไม่สามารถผลิตคนที่มีความรู้และทักษะตรงกับความต้องการของเศรษฐกิจ

2.ความไม่พร้อมในโครงสร้างพื้นฐานทั้งไม่เพียงพอ คุณภาพต่ำ และไม่แน่นอนโดยเฉพาะในชนบท เช่น พลังงานที่อุปทานไม่แน่นอนทําให้ไฟฟ้าขาดแคลนไม่นิ่ง การบริหารจัดการนํ้าที่ไม่แน่นอนทำให้ขาดแคลนไม่พอใช้ ถนนและระบบรางที่เก่าไม่เพียงพอ ระบบอินเทอร์เน็ตที่ช้าไม่ทั่วถึง ทั้งหมดทําให้ต้นทุนการผลิตสูง ไม่จูงใจภาคธุรกิจให้ลงทุน ผลิตภาพจึงต่ำ

3.ช่องว่างในการปรับใช้เทคโนโลยี คือประเทศไทยช้ามากในการปรับใช้เทคโนโลยีเทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาค ทําให้ภาคการผลิตของประเทศล้าหลัง ไม่พัฒนา ไม่ได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น ดิจิทัลเทคโนโลยี ส่งผลให้ผลิตภาพการผลิตต่ำ

4.กฎระเบียบและการควบคุมโดยระบบราชการมีมากเกิน กระทบการเติบโตของธุรกิจ นวัตกรรม และผลิตภาพ ขณะที่ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อม ซึ่งควรเป็นกําลังหลักของเศรษฐกิจเพราะเป็นฐานรายได้ของคนจํานวนมาก ภาครัฐกลับไม่สนับสนุนมากพอ มองว่าส่วนใหญ่เป็นธุรกิจนอกระบบ อยู่นอกระเบียบราชการ ทําให้ธุรกิจเหล่านี้มีปัญหาเข้าถึงสินเชื่อและเทคโนโลยี

5.ภาคเอกชนลงทุนลดลงมากหลังวิกฤติปี 2540 เป็นผลจากความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศที่มีต่อเนื่อง ปัญหาธรรมาภิบาลภาครัฐ โดยเฉพาะการทุจริตคอร์รัปชันที่ลดการแข่งขันและเพิ่มต้นทุนให้กับธุรกิจ และเศรษฐกิจที่โตตํ่าทําให้อํานาจซื้อของประชาชนอ่อนแอ เมื่อธุรกิจไม่ลงทุน ประเทศก็ไม่มีฐานที่จะเติบโต ผลิตภาพจึงต่ำ

นี่คือ 5 สาเหตุที่ทําให้เศรษฐกิจไทยโตต่ำมาเป็นสิบๆ ปี เป็นต้นตอของปัญหา เห็นได้ว่าทั้งหมดเป็นปัญหาด้านอุปทานและการบริหารจัดการที่กระทบความสามารถในการผลิตของประเทศ และชัดเจนว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยให้เงินประชาชนใช้จ่ายจะไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ไม่สามารถทําให้ประเทศหลุดออกจากเศรษฐกิจโตต่ำได้

ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลใหม่ควรโฟกัสในงานด้านเศรษฐกิจ คือมียุทธศาสตร์ชัดเจนที่จะแก้ไขทั้ง 5 สาเหตุนี้ช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยทําต่อเนื่องและทําพร้อมกันทั้งห้าประเด็น ซึ่งมั่นใจว่าการตอบรับจากประชาชนและภาคธุรกิจจะกึกก้อง และเมื่อเริ่มทํา พลวัตของปัญหาที่เริ่มคลี่คลายจะทำให้เศรษฐกิจเริ่มขยายตัวดีขึ้น

และสร้างโมเมนตัมที่จะทำให้ความรู้สึกของประชาชนเกี่ยวกับอนาคตของประเทศดีขึ้นเรื่อยๆ เป็นความหอมหวนที่ควรเกิดขึ้นตั้งนานแล้วแต่ไม่มีใครทำ

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
[email protected]

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

'นิคมโรจนะ'โซนอันตรายเหลือขายสูงสุดมูลค่า1.7หมื่นล้าน

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เผยผลสำรวจอุปทานโดยรวมภาคกลาง ในช่วงครึ่งแรกปี 2567 ที่อยู่อาศัยเสนอขายทั...

ตลาดหุ้นสหรัฐแทบไม่ขยับ นักลงทุนชะลอซื้อหลังดัชนีพุ่งแรงวันก่อน

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเล็กน้อยในวันศุกร์ (20 ก.ย.) เนื่องจากนักลงทุนชะลอการเข้าซื้อหุ้น...

เจาะพอร์ต 5 เซียนชื่อดัง ถือหุ้นปันผลสูงเกิน 5% รวม 18 หลักทรัพย์

การลงทุนในตลาดหุ้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้องค์ความรู้มาวิเคราะห์ สังเคราะห์ในทุกปัจจัยอย่างละเอียด ซึ่งม...

น้ำนมดิบอินทรีย์ สร้างรายได้ให้เกษตรกรครบวงจร

นางอังคณา พุทธศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 ชัยนาท (สศท.7) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (...