ส่องเงื่อนไข 'การบินไทย' พ้นฟื้นฟู กลับเข้าเทรดตลาดหุ้นปี 68

เป็นระยะเวลากว่า 4 ปี สำหรับการฟื้นฟูกิจการของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นับจากวันเริ่มเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการตั้งแต่วันที่ 14 ก.ย.2563 โดยมีการแต่งตั้งนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เป็นประธานผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ และได้มีการปรับโครงสร้างธุรกิจ ปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงขายทรัพย์สินที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก รวมทั้งได้ยื่นขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งศาลล้มละลายกลางเห็นชอบเมื่อวันที่ 20 ต.ค.2565

โดยล่าสุด นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการผู้บริหารแผน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงความคืบหน้าแผนฟื้นฟูกิจการ โดยระบุว่า ขณะนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างการเตรียมแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ และร่างหนังสือชี้ชวน (Filing) เพื่อเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อเป้าหมายทำให้ส่วนทุนเป็นบวก ก่อนยื่นคำร้องออกจากการฟื้นฟูกิจการ และกลับเข้าซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)

โดยการบินไทยกำหนดแผนดำเนินงานเบื้องต้น แบ่งเป็น

ภายในเดือน ก.ย. 2567

ยื่นแบบแสดงรายงานข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ และร่างหนังสือชี้ชวน (Filing) ให้แก่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)

ภายในเดือน พ.ย.2567

เริ่มกระบวนการใช้สิทธิและแจ้งเจตนาแปลงหนี้เป็นทุนของเจ้าหนี้แต่ละกลุ่ม

ภายในเดือน ธ.ค.2567

เข้าสู่กระบวนการเสนอขายและจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน สำหรับผู้ถือหุ้นก่อนบริษัทฯ เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ พนักงานบริษัท และนักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง

ภายในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2568

ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ และหุ้นของบริษัทฯ กลับเข้าซื้อขายบนตลาดหลักทรัพย์ฯ

สำหรับรายละเอียดของการปรับโครงสร้างทุน ประกอบด้วย

1.การแปลงหนี้ โดยแบ่งออกเป็น

  • แปลงหนี้ในสัดส่วนร้อยละ 100 ของมูลหนี้เป็นทุน ของเจ้าหนี้กลุ่ม 4 ซึ่งรวมถึงเจ้าหนี้เงินกู้ยืมจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ได้แก่ กระทรวงการคลัง
  • แปลงหนี้ในสัดส่วนร้อยละ 24.50 ของมูลหนี้เป็นทุน ของเจ้าหนี้กลุ่ม 5 (สถาบันการเงินที่มีสิทธิตามสัญญาโอนสิทธิในการรับเงินจากการขายเครื่องบิน) เจ้าหนี้กลุ่ม 6 (สถาบันการเงินไม่มีประกัน) และเจ้าหนี้กลุ่มที่ 18-31 (เจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้)
  • แปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติมจากร้อยละ 24.50 ที่ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการในส่วนของเจ้าหนี้กลุ่ม 4 5 6 และ 18-31

2.การเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ผู้ถือหุ้นก่อนการปรับโครงสร้างทุน พนักงานบริษัท และนักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจงตามลำดับ

ทั้งนี้ การบินไทยคาดว่าจะสามารถดำเนินการปรับโครงสร้างทุนให้แล้วเสร็จได้ภายใน 31 ธ.ค.2567 ตามที่กำหนดในแผนฟื้นฟูกิจการ โดยมีวัตถุประสงค์ให้งบการเงินประจำปี 2567 ของบริษัทฯ มีส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวก ซึ่งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขความสำเร็จของการฟื้นฟูกิจการ หลังจากนั้นบริษัทฯ คาดว่าจะสามารถยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ และหุ้นของบริษัทฯ กลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2568

 

ขณะที่ผลสำเร็จของแผนฟื้นฟูกิจการ ตามที่การบินไทยได้ยื่นต่อศาลล้มละลายกลางไว้นั้น จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จรวม 4 เงื่อนไข ได้แก่

1.การเพิ่มทุนจดทะเบียน โดยจะต้องดำเนินการจดทะเบียนเพิ่มทุนและได้รับสินเชื่อใหม่ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในแผน และมีจำนวนที่เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ

2.ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ ไม่ผิดนัดชำระหนี้ได้ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วย

3.มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จากการดำเนินงานหลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามสัญญาเช่าซื้อเครื่องบิน เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปี ใน 2 ปีก่อนที่จะรายงานผลสำเร็จของแผนฟื้นฟู

4.การแต่งตั้งคณะกรรมการใหม่ ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

'นิคมโรจนะ'โซนอันตรายเหลือขายสูงสุดมูลค่า1.7หมื่นล้าน

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เผยผลสำรวจอุปทานโดยรวมภาคกลาง ในช่วงครึ่งแรกปี 2567 ที่อยู่อาศัยเสนอขายทั...

ตลาดหุ้นสหรัฐแทบไม่ขยับ นักลงทุนชะลอซื้อหลังดัชนีพุ่งแรงวันก่อน

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเล็กน้อยในวันศุกร์ (20 ก.ย.) เนื่องจากนักลงทุนชะลอการเข้าซื้อหุ้น...

เจาะพอร์ต 5 เซียนชื่อดัง ถือหุ้นปันผลสูงเกิน 5% รวม 18 หลักทรัพย์

การลงทุนในตลาดหุ้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้องค์ความรู้มาวิเคราะห์ สังเคราะห์ในทุกปัจจัยอย่างละเอียด ซึ่งม...

น้ำนมดิบอินทรีย์ สร้างรายได้ให้เกษตรกรครบวงจร

นางอังคณา พุทธศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 ชัยนาท (สศท.7) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (...