‘การบินไทย’ พร้อมลงทุน MRO อู่ตะเภา ยันไม่กระทบสภาพคล่อง

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การบินไทยยังคงแผนลงทุนในโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) อู่ตะเภา เนื่องจากเป็นโครงการที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจ เพราะการบินไทยเป็นสายการบินสัญชาติไทย และมีฝูงบินในอีก 10 ปีข้างหน้าที่ระดับ 140 - 150 ลำ ดังนั้นมีความจำเป็นที่ต้องสร้างศูนย์ซ่อมอากาศยานของตนเองในไทย ไม่เช่นนั้นต้องนำเครื่องบินไปซ่อมต่างประเทศ สร้างต้นทุน และทำเม็ดเงินไหลออกนอกประเทศ 

อย่างไรก็ดี ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนหน้านี้มอบหมายให้การบินไทยเป็นผู้ลงทุนในโครงการดังกล่าว แต่สืบเนื่องจากปัจจุบันการบินไทยไม่ได้มีฐานะเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจแล้ว ดังนั้นคงต้องรอให้ทางภาครัฐ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)  ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ได้พิจารณาก่อนว่าจะให้สิทธิการบินไทยเช่นเดิมหรือไม่ และจะทำอย่างไรในการคัดเลือกเอกชนเข้าไปลงทุน 

“การบินไทยเราต้องการมีศูนย์ซ่อมอยู่แล้ว เพราะเราเป็นสายการบินในไทยที่มีจำนวนฝูงบินเยอะ และที่ผ่านมาเราก็มีศูนย์ซ่อมอยู่ที่อู่ตะเภา แต่เพราะอีอีซีต้องการพัฒนารันเวย์ ทำให้เราต้องรื้อถอนโรงซ่อมเครื่องบิน(แฮงการ์) และย้ายออกก่อนที่จะหมดสัญญาเช่า ดังนั้นก็คงต้องรอให้อีอีซีได้พิจารณาว่าจะตัดสินใจเรื่องการลงทุนนี้อย่างไร ถามว่าสนใจไหมเราสนใจอยู่แล้ว มีแผนลงทุนที่ศึกษาไว้พร้อมเดินหน้าทันที”

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้การบินไทยยังไม่ทราบข้อมูลอย่างเป็นทางการ ว่าอีอีซีจะมีแนวทางคัดเลือกเอกชนลงทุน MRO อย่างไร จะยกเลิกสิทธิของการบินไทยที่ ครม.เคยมีมติไว้อย่างไร แต่หากว่าจะยกเลิกสิทธิ และเปิดประมูลจริง การบินไทยก็พร้อมลงทุน เพราะตอนนี้การบินไทยมีกระแสเงินสดสะสมอยู่ 8 หมื่นล้านบาท และการลงทุนโครงการนี้ก็จะเป็นลักษณะทยอยลงทุน อีกทั้งคงต้องหาพันธมิตรเข้ามาร่วมทุน ดังนั้นมั่นใจว่าการลงทุนจะไม่กระทบสภาพคล่อง 

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ที่ผ่านมาการบินไทยหารือร่วมกับอีอีซีมาตลอด เกี่ยวกับความต้องการลงทุนในโครงการ MRO แต่เพราะว่าขณะนี้การบินไทยไม่ได้มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว ก็คงต้องให้เจ้าของพื้นที่ได้พิจารณาประเด็นนี้ก่อน แต่อย่างไรก็ดี โครงการ MRO มีความสำคัญอย่างมาก ยังไงก็ต้องเกิด ตอนนี้อยู่ที่วิธีการคัดเลือกผู้ร่วมทุนแล้ว แต่ถ้าไม่ใช่การบินไทย คงต้องพิจารณาด้วยว่าวันนี้มีผู้ประกอบการรายใดที่มีความพร้อมอีก 

ส่วนแผนลงทุนของการบินไทย ที่ผ่านมาได้เจรจาหาพันธมิตรมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโครงการ MRO มีกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องหลายอย่าง ดังนั้นสามารถจัดหาพันธมิตรที่หลากหลายธุรกิจได้ ไม่เพียงผู้ผลิตอากาศยานเท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ที่การบินไทยเจรจาอยู่ อาทิ ผู้ผลิตชิ้นส่วน และอะไหล่ของอากาศยาน รวมไปถึงผู้ประกอบการที่เคยทำธุรกิจซ่อมอากาศยานอยู่แล้ว เป็นต้น 

 

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

'นิคมโรจนะ'โซนอันตรายเหลือขายสูงสุดมูลค่า1.7หมื่นล้าน

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เผยผลสำรวจอุปทานโดยรวมภาคกลาง ในช่วงครึ่งแรกปี 2567 ที่อยู่อาศัยเสนอขายทั...

ตลาดหุ้นสหรัฐแทบไม่ขยับ นักลงทุนชะลอซื้อหลังดัชนีพุ่งแรงวันก่อน

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเล็กน้อยในวันศุกร์ (20 ก.ย.) เนื่องจากนักลงทุนชะลอการเข้าซื้อหุ้น...

เจาะพอร์ต 5 เซียนชื่อดัง ถือหุ้นปันผลสูงเกิน 5% รวม 18 หลักทรัพย์

การลงทุนในตลาดหุ้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้องค์ความรู้มาวิเคราะห์ สังเคราะห์ในทุกปัจจัยอย่างละเอียด ซึ่งม...

น้ำนมดิบอินทรีย์ สร้างรายได้ให้เกษตรกรครบวงจร

นางอังคณา พุทธศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 ชัยนาท (สศท.7) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (...