‘ห้างภูธร’ ยังไหว? ไม่ทันยุค โบราณเกิน ต้องปรับตัว

ในอดีตทำเลใจกลางเมืองเคยเป็นหมุดหมายของบรรดาทุนใหญ่ในการปักหมุดขยายธุรกิจ ทว่า ปัจจุบันไม่ได้เป็นเช่นนั้นอีกแล้ว ไม่เพียงข้อจำกัดเรื่องขนาดพื้นที่ในการรองรับโครงการขนาดใหญ่ แต่ธรรมชาติของทำเลการค้าก็เปลี่ยนไปเช่นกัน ระยะหลังมานี้เราจึงได้เห็นแผนบุกเมืองรอง-รีโนเวตของ “กลุ่มเซ็นทรัล” อย่างดุเดือด ปี 2566 มี “เซ็นทรัล เวสต์วิลล์” บนถนนราชพฤกษ์ อำเภอบางกรวย ต้นปี 2567 เปิด “เซ็นทรัล นครปฐม” และ “เซ็นทรัล นครสวรรค์” รวมถึง “โรบินสัน หนองคาย” และ “โรบินสัน นครพนม” ที่เตรียมเปิดให้บริการภายในปีนี้ด้วย

ขณะที่ทุนใหญ่ผู้เปลี่ยนแลนด์สเคปห้างสรรพสินค้า สู่นิยาม “ศูนย์การค้า” รายแรกของไทย ขมีขมันลุยทำตลาดลงทุนหลักแสนล้านต่อเนื่อง ฟากฝั่งห้างท้องถิ่นเองก็ต้องปรับเกมอย่างแข็งขันเช่นกัน แม้ห้างท้องถิ่นเหล่านี้จะมีจุดแข็งเรื่อง “Localization” รู้ความต้องการเชิงลึกของคนในพื้นที่เป็นอย่างดี แต่จุดอ่อนเรื่องเงินทุน และความว่องไวในการวิ่งตามยุคสมัยก็เป็นโจทย์ใหญ่ที่ทำให้ค้าปลีกภูธรล้มหายตายจากไปไม่น้อย

นำไปสู่คำถามสำคัญว่า หลังจากนี้ทางรอดของห้างท้องถิ่นคืออะไร การแข่งขันที่หายใจรดต้นคอเช่นนี้จะทำให้ค้าปลีกภูธรถึงคราวโบกมือลาไปอีกหรือไม่ หลังการปิดตัวของ “แฟรี่แลนด์” ห้างท้องถิ่นในจังหวัดนครสวรรค์ที่ตัดสินใจปิดตัวและประกาศขายเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ค้าปลีกเจอดิสรัปต์ทุกยุค ไม่ใช่เรื่องใหม่ ไม่มีธุรกิจไหนไม่มีคู่แข่ง

พัฒนาการห้างสรรพสินค้าไทยมีจุดเริ่มต้นเล็กๆ จากร้านขายของชำขนาดเล็ก มีความใกล้ชิดกับชุมชนและละแวกใกล้เคียงเป็นพิเศษ กระทั่งปี 2466 ประเทศไทยมีห้างสรรพสินค้าแห่งแรกอย่าง “ไนติงเกล-โอลิมปิค” ถือกำเนิดขึ้น เริ่มต้นจากการขายอุปกรณ์กีฬาและเครื่องดนตรีนำเข้า รวมทั้งยังเป็นแหล่งพบปะของกลุ่มสตรีชนชั้นสูง ครบจบทั้งแผนกบิวตี้ซาลอน-นวดตัวในที่เดียว

ถัดจากนั้นอีก 33 ปี เข้าสู่ยุคของ “เซ็นทรัล วังบูรพา” นับเป็นห้างแห่งแรกที่พัฒนาขึ้นตามแนวคิดห้างฝรั่ง แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่ทำให้เกิดแนวคิด “ศูนย์การค้า” แทนที่ห้างรูปแบบสแตนอโลน (Stand Alone) คือ “เซ็นทรัล ลาดพร้าว” ในปี 2525

“ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์” รองนายกสมาคมค้าปลีก และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องค้าปลีก ให้ข้อมูลกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัย หลังจากเซ็นทรัล วังบูรพา ก็ตามมาด้วย “แปซิฟิค ศรีราชา” รวมถึงซูเปอร์มาร์เก็ตอย่าง “ฟู้ดแลนด์” ที่นับเป็นสแตนอโลนเหมือนกัน แต่ภายหลังเซ็นทรัล ลาดพร้าว รูปแบบศูนย์การค้าก็ไปดิสรัปต์ห้างสแตนอโลนทันที รวมถึงการเกิดขึ้นของ “ดีพาร์ทเมนต์สโตร์” ก็ด้วย

ระหว่างปี 2530 ถึง 2538 เป็นช่วงเวลาที่ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าเกิดขึ้นเยอะมาก ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล รวมถึงห้างภูธรตามต่างจังหวัด ไม่ว่าจะเป็น “กาดสวนแก้ว” เชียงใหม่ “ยิ่งยง” อุดรธานี “คลังพลาซ่า” นครราชสีมา “อภิพลาซ่า” เชียงราย “แฟรี่แลนด์” และ”ศรีเทพ” นครสวรรค์ “สหไทย” สุราษฎร์ธานี ฯลฯ

-“ห้างสรรพสินค้ากาดสวนแก้ว” ห้างในรูปแบบศูนย์การค้าแห่งแรกในเชียงใหม่-

แต่หลังจากปี 2540 เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งขึ้น ธุรกิจค้าปลีกหลายแห่งต้องเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก หลายเจ้าไปกู้หนี้สินจากต่างประเทศ พอรัฐบาลประกาศลอยตัวค่าเงินบาทภาระหนี้ก็เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว เวลานั้นมีห้างหลายแห่งที่ต้องปิดตัวลง อาทิ “เจริญศรีพลาซ่า” อุดรธานี รวมถึง “กลุ่มตันตรานนท์” เจ้าของห้างตันตราภัณฑ์ ห้างสรรพสินค้าแห่งแรกในเชียงใหม่ ที่เข้าไปลงทุนทำธุรกิจศูนย์การค้า

ด้วยปัจจัยเรื่องสภาพคล่องที่ต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก บวกกับวิกฤติเศรษฐกิจขณะนั้นทำให้ตระกูลตันตรานนท์ตัดสินใจขายศูนย์การค้าให้กับ “กลุ่มเซ็นทรัล” และพัฒนาสู่ “เซ็นทรัล เชียงใหม่ แอร์พอร์ต” ในเวลาต่อมา โดยปัจจุบันกลุ่มตันตรานนท์ยังคงถือหุ้นส่วนห้างโรบินสันที่ตั้งอยู่ในเซ็นทรัล เชียงใหม่ แอร์พอร์ต บางส่วนด้วย

อาจารย์ฉัตรชัย ระบุว่า ก่อนปี 2540 เป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไทยรุ่งเรืองมาก ทุกคนอยากสร้าง อยากปั้นธุรกิจกันหมด สุดท้ายเมื่อเกิดวิกฤติใครไม่ไหวก็ต้องปล่อยทิ้งไป ส่วนกลุ่มตันตรานนท์นอกจากจะแก้เกมด้วยการขายให้เซ็นทรัล ยังเข้าไปร่วมทุนถือ “Sub-Area License” ในการบริหารแฟรนไชส์ “เซเว่น-อีเลฟเว่น” (7-Eleven) ครอบคลุม 3 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน และแม่ฮ่องสอน ปัจจุบันมีร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น ภายใต้การบริหารของกลุ่มตันตรานนท์กว่า 500 แห่งแล้ว

ไม่ได้ตายเพราะทุนใหญ่ แต่ห้างแบบเดิมโบราณเกิน การจัดการในครอบครัวก็มีปัญหา

สำหรับกรณีการปิดตัวของ “ห้างแฟรี่แลนด์” อาจารย์ฉัตรชัยมองว่า สาเหตุหลักไม่ได้มาจากการถูกทุนใหญ่ยึดแย่งพื้นที่ หากแต่เป็นความเก่าตกยุค-ไม่ทันสมัย เนื่องจากแฟรี่แลนด์มีลักษณะเป็นตึกแถว ข้อเสียของทำเลแบบนี้ คือไม่มีที่จอดรถ รวมถึงภาพรวมของห้างเองก็ดูจะคร่ำครึตกยุคไปแล้วด้วย

ส่วนความเคลื่อนไหวของทุนใหญ่ที่รุกเจาะพื้นที่เมืองรองมากขึ้น มองว่า เป็นผลพวงจากทำเลการค้าที่ไม่ได้กระจุกตัวอยู่แต่ในเมืองเหมือนอดีต สมัยก่อนเขตเยาวราชหรือเขตสีลมเนื้อหอมมาก แต่ตอนนี้ทำเลการค้าเปลี่ยนไป ห้างร้านแห่ไปอยู่นอกเมืองกันหมด ตัวเมืองก็เริ่มเงียบเหงาลง เนื่องจากทำเลการค้าปรับตัวไปตามไลฟ์สไตล์-ความเป็นอยู่ของคนเมือง เขตกรุงเทพฯ ชั้นในจะคึกคักเฉพาะวันทำงานเท่านั้น โดยเฉพาะโซนออฟฟิศทาวเวอร์ที่ไม่ได้คราคร่ำไปด้วยหมู่บ้านจัดสรร

อาจารย์ฉัตรชัยยกตัวอย่างกรณีของ “ตั้งงี่สุ่น” ค้าปลีกภูธรจากอุดรธานีที่ตัดสินใจขยายสาขาไปยังอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี ปรากฏว่า กระแสตอบรับดีมาก ยอดขายดีกว่าที่คาดไว้ เป็นการตอกย้ำว่า ความเชื่อเรื่องนอกเมืองไม่มีกำลังซื้อนั้นไม่เป็นความจริง คนเข้าเมืองเพื่อทำงาน แต่การใช้ชีวิตถูกขยายไปชานเมืองเกือบหมดแล้ว

“ถ้าเราลองมองดูกรณีอื่นๆ อย่าง “ตั้งงี่สุ่น” เขาก็อยู่ในเมือง แต่ออกไปตั้งนอกเมืองที่อำเภอนาดีแล้วขายดีมาก หลักๆ ตอนนี้ทุกอย่างออกไปนอกเมืองเกือบหมด ชุมชนที่อยู่อาศัยออกไปอยู่นอกเมืองเหมือนกับกรุงเทพฯ เลย เช้ามาเราอยู่นอกเมืองแล้วก็วิ่งเข้าเมืองไปทำงาน เสร็จแล้วตอนเย็นก็วิ่งออกนอกเมืองเพื่อกลับบ้าน เสาร์อาทิตย์ในเมืองก็จะเงียบๆ สาทรยังเงียบ อย่างสาทรส่วนใหญ่เป็นตึกออฟฟิศ วันหยุดก็จะไม่ค่อยมีคน ลักษณะมันเป็นแบบนี้”

ประเด็นเรื่องเงินทุนในการปรับปรุงห้างให้ตอบโจทย์ยุคสมัย อาจารย์ฉัตรชัยระบุว่า ศูนย์การค้าไม่ได้ใช้เงินทุนเยอะเหมือนอดีต ช่องทางการหาแหล่งเงินทุนก็มีหลายรูปแบบ ราว 30 ถึง 40 ปีก่อน การเปิดห้างหนึ่งแห่งต้องใช้เวลาคืนทุนกว่า 5 ปี ขณะที่ปัจจุบันสามารถใช้วิธีเข้าตลาดระดมทุน หรือการเข้าไปทำกองทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือ “กองทุน REITs” แล้วนำเงินมาลงทุนต่อได้ ประเด็นเงินทุนตอนนี้จึงไม่ใช่สาระสำคัญ 

ข้อจำกัดของธุรกิจค้าปลีกท้องถิ่น คือการบริหารจัดการกันเองภายในครอบครัว หลายแห่งยังเป็นทายาทลูกหลานทำกันเอง ในที่นี้ไม่ได้แปลว่าลูกหลานไม่ดีไปเสียหมด อย่าง “กลุ่มเซ็นทรัล” ก็เป็นธุรกิจครอบครัวส่งต่อสู่ทายาท แต่ในขณะเดียวกันก็มีผู้บริหารมืออาชีพมาช่วยดูด้วย 

-หน้าห้าง “ตั้งงี่สุ่น ซูเปอร์สโตร์”: เครดิตภาพจาก Prachachat-

ถ้าไม่แข่งก็ไม่โต จุดแข็งค้าปลีกภูธรคือปรับตัวเร็ว

มูลค่าตลาดค้าปลีกขยายใหญ่ขึ้นทุกวัน ตัวเลขปี 2567 คาดว่า จะมีมูลค่ารวมอยู่ที่ “4.4 ล้านล้านบาท” หมายความว่า สภาพตลาดไม่เคยนิ่งเฉย การมีทุนใหญ่-ผู้เล่นระดับบิ๊กเข้ามาเล่นทำให้ตลาดโตขึ้นด้วยซ้ำไป รองนายกสมาคมค้าปลีกเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า หากจังหวัดนั้นเคยมีห้างประจำถิ่นอยู่ 1 แห่ง มีผู้มาใช้บริการ 10,000 คนต่อวัน แต่ประชากรทั้งจังหวัดมีหลักล้านคน ถ้ามีห้างเปิดเพิ่มอีกสักแห่ง ก็เท่ากับมี “แม่เหล็ก” เพิ่มขึ้นด้วย ช่วยเพิ่มแรงดึงดูดให้ทำเลนั้น

เพราะธุรกิจค้าปลีกไม่เคยอยู่นิ่งๆ หากผ่าก้อนเค้กมูลค่าหลายล้านล้านบาทดูจะพบว่า มีทั้งร้านค้า คนทำงาน การจ้างงาน หอพักโดยรอบ ฯลฯ โดยรวมแล้วทำให้เมืองเจริญเติบโต บรรดาโมเดิร์นเทรดที่เข้าไปชิงพื้นที่จึงไม่ได้เป็นการเข้าไปทุบตลาด อาจารย์ฉัตรชัยเล่าถึงกรณีของ “เสี่ยกบ-มิลินทร์ วีระรัตนโรจน์” ทายาทรุ่นที่ 3 “ตั้งงี่สุ่น ซูเปอร์สโตร์” ผู้ไม่เคยหวาดกลัวทุนใหญ่ มองว่า การมาถึงของห้างระดับบิ๊กเนมจะยิ่งช่วยให้ค้าปลีกภูธรเติบโต ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เพิ่มขึ้น

ข้อดีของห้างท้องถิ่นประการหนึ่ง คือความคล่องตัว ค้าปลีกทุนใหญ่แม้จะมีกระแสเงินสดมากกว่า ทั้งยังมีรูปแบบการทำงานที่เป็นมาตรฐาน แต่ข้อจำกัดคือทุกอย่างต้องมารวมศูนย์ตรงกลาง ห้างสาขาจึงมีความยืดหยุ่นน้อย ขณะที่ห้างภูธรยืดหยุ่นได้ดี นี่คือหัวใจสำคัญที่ไม่ว่าอย่างไร “ห้างภูธร” ก็จะมีชีวิตรอดไปได้ ท่ามกลางการเข้ามาของ “ปลาใหญ่” ในถิ่น “ปลาเล็กสู้น้ำ”

 

อ้างอิง: Bangkokbiznews 1, Bangkokbiznews 2, Bangkokbiznews 3, Bangkokbiznews 4, Thansettakij

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ทหารอิสราเอลปลิดชีพผู้นำฮามาส ‘ยายาห์ ซินวาร์’ ในกาซา

การสังหารเขาได้ถือเป็นความสำเร็จใหญ่หลวงสำหรับอิสราเอล และเป็นเหตุการณ์สำคัญในความขัดแย้งที่ยืดเยื้อ...

เมเจอร์ร่วมทุนทาคาระ เลเบ็น ผุดมอลตัล รีเสิร์ฟ ปิ่นเกล้ามูลค่า1.3พันล้าน

เพชรลดา พูลวรลักษณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ กล่าวว่า เมเจอร์ฯถือว่าเป็นผู้นำใ...

ลงทุนกองทุนต่างประเทศแบบไหนดี ระหว่าง Hedge vs. Unhedge

การลงทุนในกองทุนต่างประเทศ นอกจากต้องคำนึงถึงผลตอบแทนที่มาจากสินทรัพย์ลงทุนแล้ว สิ่งที่ต้องคำนึงถึงไ...

“เงินคู่คลัง” เจาะลึก หุ้นได้ประโยชน์จากการลดดอกเบี้ยของกนง.

ถือเป็นอีกเรื่องราวสุดเซอร์ไพร์ส หลัง คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ลดอัตราด...