เลขาฯ พรรคพลังบูรพา วอนฝ่ายเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย รื้อกติกาเลือก สว.67 ต้องยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่แค่หวังช่วงชิงทางการเมืองเท่านั้น แนะ ยึดโมเดลเดียวกันในการแก้รัฐธรรมนูญ นิรโทษกรรม และกฎหมายต่างๆ
วันที่ 14 กรกฎาคม 2567 นายสุระ เตชะทัต เลขาธิการพรรคพลังบูรพา กล่าวว่า แม้กระบวนการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 2567 ที่ผ่านการเลือกกันเอง ตั้งแต่ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ จะจบลง ได้มาซึ่ง 200 สว. โดยที่ สว.ชุดใหม่ ต้องทำหน้าที่อีก 5 ปี ทยอยไปรายงานตัวต่อสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ซึ่งให้มีการรายงานตัวถึงวันที่ 15 กรกฎาคมนี้ แต่การเลือก สว.ครั้งนี้ ทั้งกระบวนการได้มา วิธีการเลือก บุคคลที่มาเป็น สว. ยังคงถูกวิพากษ์วิจารณ์จากหลายภาคส่วน คนไม่เห็นด้วย นำเรื่องความผิดปกติต่างๆ ไปร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ศาลฎีกา ตามข้อกล่าวหาที่ว่า การได้มาไม่น่าจะบริสุทธิ์ยุติธรรม เข้าข่ายการจัดตั้ง ฮั้ว บล็อกโหวต สำหรับคนที่เห็นด้วย เรียกร้องให้มีการเดินหน้าต่อ คนที่ได้มาเป็น สว. ล้วนมาตามกฎกติกาที่วางเอาไว้ ไม่ใช่เขาไปกำหนดเอง ควรให้ สว.ชุดใหม่ ได้เข้าไปทำหน้าที่ หากไม่ดีค่อยไปตรวจสอบ ว่ากันตามกระบวนการทางสภา
สำหรับกฎกติกาการเลือก สว. ที่เป็นผลพวงจากรัฐธรรมนูญ 2560 หนึ่งในข้อครหาที่สังคมมองคือ ไม่ยึดโยงกับประชาชน ตัดการมีส่วนร่วมของประชาชนออกไป นำมาสู่การเรียกร้องให้มีการแก้ไข เปลี่ยนแปลง ส่วนตัวมองว่า หากจะมีการแก้ไข ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง อยากให้ฝ่ายที่เสนอแก้ไขต้องทำหน้าที่ด้วยใจเป็นกลาง เจตนาบริสุทธิ์ ไม่ได้ทำเพื่อเอื้อประโยชน์ พวกพ้อง หรือทำให้เกิดความได้เปรียบ เสียเปรียบทางการเมือง เพียงเฉพาะกลุ่ม เฉพาะฝ่ายเท่านั้น
...
เลขาธิการพรรคพลังบูรพา ยังเผยต่อไปอีกว่า ไม่เพียงเฉพาะกฎกติกาการเลือก สว. แต่ยังรวมไปถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การนิรโทษกรรม หรือแม้แต่กฎหมายต่างๆ ที่จะแก้ไข ปรับปรุง ควรที่จะหารือ แสวงหาการมีส่วนร่วม รับฟังเสียงทั้งคนเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย อย่างครบถ้วนรอบด้าน มองประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก ไม่ใช่เพื่อพวกพ้อง ไม่ใช่เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมือง เพื่อนำมาสู่กฎกติกาอันเป็นสากล ที่ได้รับความยอมรับจากประชาชน คนทุกภาคส่วน เป็นไปตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง.