‘ธุรกิจบริการ’ขาดบุคคลากร ชาติเอเชียเร่งรับแรงงานต่างชาติ

หลังจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการเดินทางทั่วโลกเริ่มฟื้นตัว ธุรกิจการให้บริการที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็พลอยกระเตื้องตามไปด้วย แต่ปัญหาที่เกิดตามมาคือ การขาดแคลนแรงงานในธุรกิจการให้บริการ จนส่งผลให้หลายประเทศเลือกที่จะนำเข้าแรงงานต่างชาติเข้ามาอุดช่องโหว่ในเรื่องนี้

เริ่มจากสิงคโปร์ ประกาศเปิดรับแรงงานเพิ่มมากขึ้นเพื่อสนับสนุนภาคบริการที่มีจำนวนแรงงานไม่เพียงพอ เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวฟื้นตัว หลังผ่านพ้นช่วงโรคโควิด-19 ระบาด

เว็บไซต์นิกเคอิเอเชีย รายงานระบุว่า แรงงานจากบังกลาเทศ อินเดีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา และไทย ได้รับสิทธิ์ให้ทำงาน 1 ใน 9 อาชีพในสิงคโปร์              

เมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมา สิงคโปร์เพิ่มอาชีพแม่บ้านและพนักงานยกกระเป๋าตามโรงแรมในรายชื่ออาชีพที่อนุญาตให้จ้างพนักงานต่างชาติ นอกจากนี้ยังมีอาชีพกุ๊กในร้านอาหารอินเดียและช่างที่ทำงานด้านโลหะด้วย

ก่อนหน้านี้ สิงคโปร์ออกใบอนุญาตทำงานให้กับผู้ที่อาศัยอยู่ในมาเลเซีย จีน ฮ่องกง มาเก๊า เกาหลีใต้ และไต้หวันเท่านั้น

“มาร์กาเร็ต เฮง” ผู้อำนวยการสมาคมโรงแรมสิงคโปร์ แสดงความพึงพอใจต่อการเพิ่มแรงงานจากประเทศอื่นในครั้งนี้ โดยระบุว่า การเข้าถึงกลุ่มแรงงานอื่น ๆ อาจช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนพนักงานได้

นโยบายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานต่างชาติของรัฐบาลสิงคโปร์ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจในสิงคโปร์ โดย 1 ใน 3 ของแรงงานมาจากต่างประเทศ ด้วยการใช้วีซ่าบางประเภท

นอกจากใบอนุญาตทำงานสำหรับแรงงานกึ่งฝีมือ สิงคโปร์ยังเสนอโปรแกรม Employment Pass (EP) สำหรับแรงงานระดับมืออาชีพจากต่างชาติ และ S Pass สำหรับแรงงานฝีมือ

ทั้งนี้ สิงคโปร์เปิดตัวกรอบการประเมิน Complementarity Assessment Framework (COMPASS) สำหรับ Employment Pass ในเดือนก.ย. ซึ่งให้คะแนนผู้สมัครตามเงินเดือน ประวัติการศึกษา และคุณสมบัติอื่น ๆ รวมถึงทักษะที่เกี่ยวข้องกับสาขาที่เป็นที่ต้องการ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI)

แต่ไม่ได้มีแค่สิงคโปร์เท่านั้นที่ต้องการแรงงานจากต่างชาติเข้ามาแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ทางการเกาหลีใต้ ก็อนุมัติแผนบริหารเมืองของกรุงโซล นำร่องให้รับแรงงานต่างชาติ 100 คนเข้ามาเป็นสาวใช้ แก้ปัญหาอัตราการเกิดต่ำ หวังผลักดันภรรยาที่ต้องทำหน้าที่แม่บ้านออกมาทำงานนอกบ้านมากขึ้น

แผนการเปิดรับสาวใช้ต่างชาติเข้าทำงาน มีขึ้นหลังจากที่เกาหลีใต้พบปัญหาอัตราการเกิดต่ำ ประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากเดิมที่เกาหลีใต้แทบจะไม่เปิดโอกาสให้มีผู้อพยพชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศ

“โอ เซ ฮุน” นายกเทศมนตรีกรุงโซล ระบุว่า แม่บ้านชาวต่างชาติ จะช่วยฟื้นฟูสังคมของเกาหลีใต้ โดยเฉพาะการมาช่วยแก้ปัญหาการพักงานของผู้หญิง เนื่องจากไม่มีคนช่วยดูแลบ้านและลูกๆ ซึ่งที่ผ่านมาหญิงชาวเกาหลีใต้ส่วนมากจะต้องเผชิญกับแรงกดดันที่จะต้องลาออกจากงานที่ทำอยู่ เพื่อมาดูแลบ้าน และหาเลี้ยงครอบครัวด้วย ทำให้หลายครอบครัวเลือกที่จะไม่มีลูก เนื่องจากค่าใช้จ่ายสูง ขณะที่กระทรวงแรงงานเกาหลีระบุว่า ตัวเลขของคนรุ่นใหม่ในเกาหลีใต้ที่สนใจจะทำอาชีพเป็นแม่บ้านก็ลดลงต่อเนื่อง

ขณะนี้ทางการเกาหลีใต้อยู่ระหว่างพูดคุยกับฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการส่งออกแรงงาน เพื่อหวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการนำร่องที่จะเริ่มต้นในเดือนธ.ค.นี้ 

ภายใต้กฎระเบียบปัจจุบัน จะอนุญาตให้เพียงคู่สมรสของชาวเกาหลีใต้ หรือคนเชื้อชาติเกาหลีใต้เท่านั้นที่จะสามารถทำอาชีพแม่บ้านได้ โดยทางรัฐบาลเกาหลีใต้ ประมาณการว่าค่าจ้างแม่บ้านฟูลไทม์ที่มาพักอาศัยกับนายจ้างในตลาดปัจจุบันอยู่ที่ราว 3.5-4.5 ล้านวอน 

โครงการนำร่องใหม่นี้ เป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของรัฐบาลที่จะแก้ปัญหาอัตราการเกิดที่ดิ่งลงอย่างมากของประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งนับว่าเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 4 ของเอเชีย 

ในปี 2565 อัตราการเกิดในเกาหลีใต้อยู่ในอัตราที่ต่ำที่สุดของโลก มีอัตราการเกิดของเด็กต่อผู้หญิง 1 คน อยู่ที่ 0.78 และกรุงโซลอยู่ที่เพียง 0.59 ต่อผู้หญิง 1 คน

แต่แนวคิดนี้ยังคงถูกวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มพลเมือง ที่มองว่า รัฐบาลแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เพราะจริงๆ แล้วรัฐบาลควรแก้ปัญหาด้วยการลดชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานลง เนื่องจากพ่อแม่ทุกคนอยากมีเวลาเพิ่มขึ้น เพื่อใช้เวลากับลูกๆ ไม่ได้ต้องการให้คนนอกเข้ามาแทนที่เพื่อดูแลลูกๆ แทน

ส่วนญี่ปุ่น เป็นอีกประเทศในเอเชียที่มีปัญหาขาดแคลนแรงงานรุนแรงไม่แพ้กัน โดยรายงานที่ตีพิมพ์โดยองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า), กลุ่มธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศญี่ปุ่น และองค์กรอื่นๆ ที่เผยแพร่เมื่อช่วงต้นเดือนก.พ. ปี 2565 ระบุว่า ญี่ปุ่นต้องการแรงงานต่างชาติจำนวน 6.74 ล้านคนในปี 2583 ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าในปัจจุบันประมาณ 4 เท่า เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจของรัฐบาล

ภายใต้ข้อตกลงรับแรงงานต่างชาติในปัจจุบัน ญี่ปุ่นจะเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างชาติ จำนวน 630,000 คน ภายในปี 2573 และ 420,000 คน ภายในปี 2583 โดยการศึกษานี้ เป็นการประเมินเกี่ยวกับอุปสงค์และอุปทานด้านแรงงานต่างชาติในระยะยาวครั้งแรกของญี่ปุ่น ซึ่งทีมวิจัยระบุว่า จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการหารือเพื่อกำหนดนโยบายด้านแรงงานต่างชาติในอนาคต

ขณะที่ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการ นับจนถึงสิ้นเดือนต.ค.ปี2564 มีแรงงานต่างชาติประมาณ 1,727,000 คนอยู่ในญี่ปุ่น ในจำนวนนี้แยกเป็นผู้ฝึกงานด้านเทคนิค 350,000 คน ภายใต้โครงการฝึกงานของรัฐบาล และอีก 330,000 คน ภายใต้ระบบอื่นๆ

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘ไต้ฝุ่นยางิ’ ทำ ‘เศรษฐกิจเวียดนาม’ เสียหายกว่า 5 หมื่นล้านบาท

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า พายุไต้ฝุ่นยางิ ถล่มเมียนมา เวียดนาม ลาว และไทยด้วยกำลังลมที่แรงมาก และทำใ...

ท่วมหนักสุด 'ในรอบ 3 ทศวรรษ' พายุบอริสถล่มยุโรป ผลกระทบจากโลกร้อน

จากหย่อมความกดอากาศต่ำที่ชื่อว่า “พายุบอริส” ส่งผลให้มีฝนตกหนักจากออสเตรียไปจนถึงโรมาเนีย จนเกิด “น้...

ฮามาสโวความสามารถสูง ทำสงครามกาซาต่อได้แม้สูญเสีย

นายโอซามา ฮัมดัน ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอเอฟพี เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่นครอิสตันบูลของตุรกี ระบุ “ขบวนก...

สงครามสู้ฮามาสและยอดส่งออกร่วง กดดันจีดีพี ‘อิสราเอล’ Q2 ให้โตเพียง 0.7%

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของอิสราเอลในไตรมาสที่สองชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไ...