ซัพพลายเชน 'ชิปทั่วโลก' ส่อสะเทือน เมื่อ 'ไต้หวัน' เสี่ยงวิกฤติขาดแคลนไฟฟ้า

หากเอ่ยถึง “ศูนย์กลางผลิตชิปของโลก” ชื่อแรกที่ผุดขึ้นมาในหัว คงหนีไม่พ้น “ไต้หวัน” ดินแดนที่เปรียบเสมือนอาณาจักรเทคโนโลยีชิป ที่รวบรวมบริษัทชั้นนำไว้มากมาย อย่าง TSMC ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดผลิตชิปอันดับ 1 มากถึง 61.2% ของทั้งโลก มีลูกค้าตั้งแต่ Apple, AMD, Nvidia, Intel, Microsoft, Alphabet ฯลฯ

ไม่เพียงเท่านั้น ไต้หวันยังเป็นที่ตั้งบริษัทเทคฯชั้นนำอื่น ๆ เช่น Foxconn ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของโลก อย่างชิ้นส่วนของ iPhone, Delta Electronics บริษัทอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และมีบริษัทลูกที่ชื่อ Delta ในไทย ฯลฯ

แต่ล่าสุด ไต้หวันสุ่มเสี่ยงที่เกิด “วิกฤติขาดแคลนไฟฟ้า” ซึ่งการผลิตชิปในแต่ละครั้ง จำเป็นต้องใช้ปริมาณไฟฟ้าจำนวนมาก โดยเฉพาะการใช้แชตบอต AI ChatGPT 1 ครั้งกินพลังงานไฟฟ้า “มากกว่า” Google ถึง 10 เท่า และแนวโน้มการใช้ AI นี้ก็สูงขึ้นเรื่อย ๆ

หากวิกฤติดังกล่าวเกิดขึ้น ก็จะทำให้ห่วงโซ่อุตสาหกรรมเทคโนโลยี รวมไปถึงอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ต้องใช้ “ชิป” ขับเคลื่อน รวนทั้งระบบ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอาจถึงคราวหยุดชะงัก

เฉิน จงซุน (Chen Jong-Shun) นักวิจัยแห่ง Chung-Hua Institution for Economic Research กล่าวว่า “ตอนนี้เกิดกระแสกังวลเกี่ยวกับภาวะไฟฟ้าดับ และคุณภาพไฟฟ้าที่แย่ลงในไต้หวัน ซึ่งอาจส่งผลต่อการดำเนินงานของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์”

- ไต้หวัน ฮับแห่งชิปทั่วโลก (เครดิต: Shutterstock) -

ไต้หวันเผชิญไฟฟ้าติด ๆ ดับ ๆ หลายครั้งในปีที่ผ่านมา

ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ไต้หวันเผชิญปัญหา “ไฟฟ้าดับครั้งใหญ่” 3 ครั้ง และยังมี “ไฟฟ้าดับเป็นจุด ๆ” อีกหลายครั้งตลอดทั้งปีที่ผ่านมา โดยช่วงล่าสุด เมื่อเดือนเมษายนที่แล้ว ทางตอนเหนือของไต้หวันเผชิญไฟฟ้าดับหลายครั้งภายในระยะเวลา 3 วัน

สถิติที่น่าตกใจคือ ย้อนไปในปี 2565 เกาะแห่งนี้เกิดเหตุไฟฟ้าดับ 313 ครั้ง โดยไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ในปีนั้น ส่งผลกระทบกว่า 5 ล้านครัวเรือน นอกจากนี้ ไต้หวันยังเคยเกิดไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ในปี 2560 ที่ส่งผลกระทบต่อบ้านเรือนเกือบ 7 ล้านครัวเรือน

โจเซฟ เว็บสเตอร์ (Joseph Webster) นักวิจัยอาวุโสจากศูนย์พลังงานโลกของ Atlantic Council กล่าวว่า “ไต้หวันกำลังเผชิญกับวิกฤติพลังงาน และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ วิกฤติไฟฟ้า”

เว็บสเตอร์ กล่าวต่อว่า “อุตสาหกรรมไฟฟ้าทั่วโลกต่างประหลาดใจกับอัตราความเร็ว และปริมาณความต้องการไฟฟ้าจากดาต้าเซ็นเตอร์ AI ที่พุ่งขึ้น” เขายังเสริมอีกว่า ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในอนาคตของไต้หวันนั้น “มีความไม่แน่นอนค่อนข้างมาก”

97% ของพลังงานในไต้หวันมาจากการนำเข้า

บนเกาะแห่งนี้ มากกว่า 97% ของพลังงานในไต้หวันอาศัย “การนำเข้า” โดยแหล่งพลังงานหลักมาจาก “ถ่านหิน” และ “ก๊าซธรรมชาติ” ในการผลิตไฟฟ้า ดังนั้น การพึ่งพาต่างประเทศที่สูงเช่นนี้ จึงกลายเป็นความเสี่ยงสำคัญ ถ้าหากไต้หวันถูกปิดล้อมหรือเส้นทางพลังงานถูกตัดขาด

ตามข้อมูลจาก Atlantic Council องค์การวิจัยด้านต่างประเทศ เมื่อดูที่การบริโภคพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดในปี 2566 จะพบว่าสัดส่วนกว่า 55% มาจากผู้บริโภคในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเหล่าบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง

ด้วยเหตุนี้ ถ้าไต้หวันจำเป็นต้องปันส่วนพลังงานไฟฟ้าถี่ขึ้น เนื่องจากปริมาณไฟฟ้ามีจำกัด ก็อาจทำให้การผลิตชิปเป็นไปอย่างล่าช้า ไปจนถึงทำให้ราคาเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกแพงขึ้น

รายงานขององค์กรด้านสิ่งแวดล้อมอย่าง Greenpeace คาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมผลิตเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกอาจมีขนาดตลาด “เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า” ภายในปี 2573 และมีแนวโน้มที่จะใช้พลังงานไฟฟ้าสูงถึง 237 เทราวัตต์ชั่วโมง (TWh) ในเวลานั้น และเมื่อถึงตอนนั้น การใช้ไฟฟ้าจากอุตสาหกรรมผลิตชิปของไต้หวันระหว่างปี 2564 ถึง 2573 จะเพิ่มขึ้นถึง 236%

- TSMC ในไต้หวัน ครองส่วนแบ่งตลาดผลิตชิปมากถึง 61.2% ของทั้งโลก (เครดิต: Shutterstock) -

จะเห็นได้ว่า ท่ามกลางความร้อนแรงของวิกฤติพลังงานโลก “ไต้หวัน” เผชิญกับภัยคุกคามร้ายแรงที่อาจสั่นสะเทือนบัลลังก์ผู้นำชิปของโลก นั่นคือ “วิกฤติไฟฟ้า

หากปราศจากไฟฟ้าแล้ว เปรียบเสมือนขาด “อาหาร” หล่อเลี้ยง โรงงานอุตสาหกรรมแม้จะเต็มไปด้วยชิปสุดล้ำ เทคโนโลยีขั้นสูง ก็ไร้ความหมาย การผลิตต้องหยุดชะงัก จนส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจทั้งระบบ

นักลงทุนคงต้องจับตาความเสี่ยงนี้อย่างใกล้ชิด เพราะความเสี่ยงวิกฤติไฟฟ้าครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงปัญหาเฉพาะหน้า แต่แฝงนัยสำคัญต่ออนาคตของ “ไต้หวัน” ในฐานะศูนย์กลางด้านชิปของโลก

อ้างอิง: greenpeace, trade, cnbc, mckinsey, bangkok

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘ไต้ฝุ่นยางิ’ ทำ ‘เศรษฐกิจเวียดนาม’ เสียหายกว่า 5 หมื่นล้านบาท

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า พายุไต้ฝุ่นยางิ ถล่มเมียนมา เวียดนาม ลาว และไทยด้วยกำลังลมที่แรงมาก และทำใ...

ท่วมหนักสุด 'ในรอบ 3 ทศวรรษ' พายุบอริสถล่มยุโรป ผลกระทบจากโลกร้อน

จากหย่อมความกดอากาศต่ำที่ชื่อว่า “พายุบอริส” ส่งผลให้มีฝนตกหนักจากออสเตรียไปจนถึงโรมาเนีย จนเกิด “น้...

ฮามาสโวความสามารถสูง ทำสงครามกาซาต่อได้แม้สูญเสีย

นายโอซามา ฮัมดัน ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอเอฟพี เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่นครอิสตันบูลของตุรกี ระบุ “ขบวนก...

สงครามสู้ฮามาสและยอดส่งออกร่วง กดดันจีดีพี ‘อิสราเอล’ Q2 ให้โตเพียง 0.7%

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของอิสราเอลในไตรมาสที่สองชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไ...