‘แผนการคลังใหม่’ เดิมพัน ‘เศรษฐกิจไทย’ กู้เพิ่ม – หั่น GDP - หนี้สาธารณะพุ่ง

ตามกฎหมายพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 กำหนดไว้เป็นกฎหมายว่าให้คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานโดยตำแหน่ง รวมทั้งมีคณะกรรมการจากหน่วยงานเศรษฐกิจ 4 หน่วยงานหลักได้แก่ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องจัดทำแผนการคลังระยะปานกลาง เพื่อใช้เป็นแผนแม่บทหลักในการวางแผนการเงินการคลัง และงบประมาณของรัฐ

รวมทั้งจัดทำแผนแม่บทหลักสำหรับการวางแผนงบประมาณรายจ่ายประจำปี และแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ซึ่งการทำแผนการคลังระยะปานกลางต้องมีระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปีเพื่อให้เห็นถึงทิศทางการบริหาร “การคลัง” ของประเทศที่มีความต่อเนื่องไปอย่างน้อย 3 ปีงบประมาณ

ปรับแผนการคลังปานกลางแล้ว 2 ครั้ง

ตลอดระยะเวลาการบริหารประเทศของ “รัฐบาลเศรษฐา” ประมาณ 10 เดือน มีการแก้ไขแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568 - 2571) ไปแล้ว 2 ครั้ง โดยครั้งแรกที่มีการแก้ไขแผนการคลังระยะปานกลางเนื่องจากรัฐบาลมีการเพิ่มการขาดดุลงบประมาณในปี 2568 วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท จากเดิมที่ตั้งงบประมาณขาดดุลฯไว้ 7.13 แสนล้านบาท รวมเป็นการขาดดุลงบประมาณปี 2568 วงเงิน 8.6 แสนล้านบาทเศษ ซึ่งเป็นการขาดดุลฯเพื่อรองรับการทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

ขณะที่การแก้ไขแผนการคลังระยะปานกลางครั้งที่ 2 มาจากสาเหตุหลักคือการตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2567 (งบฯกลางปี 67)วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท โดยเป็นการจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น 1 หมื่นล้านบาท ที่เหลืออีก 1.12 แสนล้านบาท เป็นการกู้ขาดดุลงบประมาณเพิ่มเติม โดยการจัดทำงบฯกลางปี 2567 ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)แล้วและมีกำหนดที่จะนำ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีเพิ่มเติมปี 2567 เข้าสภาฯวาระที่ 17 – 18 ก.ค.นี้

ตั้งงบฯกลางปี 67 ขาดดุลงบฯเพิ่มปี 68 

ทั้งนี้จะเห็นว่าทั้งการตั้งงบประมาณขาดดุลเพิ่มเติมในปีงบประมาณ 2568 และการทำงบฯกลางปี 2567 เพิ่มเติมรวมกันกว่า 2.72 แสนล้านบาทเพื่อนำเม็ดเงินที่ได้ในส่วนนี้มาใช้เพื่อรองรับโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยแจกเงิน 1 หมื่นบาทในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล จากวงเงินโครงการนี้ทั้งหมด 5 แสนล้านบาท

แม้ว่าในการดำเนินนโยบายการคลังระยะปานกลางในส่วนของแนวนโยบายภาครัฐยังคงเน้นในเรื่องของการเสริมสร้างความเข้มแข็งเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนทางการคลัง โดยยังคงยึดหลักแนวคิด “Revival” ที่มุ่งเน้นสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสังคมของประเทศเพื่อสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยต้องคำนึงถึง “การรักษาวินัยการเงินการคลัง” (Fiscal Discipline)   อย่างเคร่งครัด

รวมทั้งให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพทางการคลัง (Fiscal Consolidation ) ผ่านการสร้างความเข้มแข็งด้านการคลังในด้านต่าง ๆ ทั้งในส่วนของการพิจารณาจัดลำดับความสำคัญและความจำเป็น ความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และความครอบคลุมจากทุกแหล่งเงินในการใช้จ่ายภาครัฐ ควบคู่ไปกับการทบทวนและยกเลิกมาตรการลดและยกเว้นภาษีให้มีเพียงเท่าที่จำเป็นการปฏิรูปโครงสร้าง และการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้รวมถึงการบริหารจัดการหนี้สาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดขนาดการขาดดุลการคลังและสร้างกันชนทางการคลัง (Fiscal Buffer) ในการบริหารจัดการพื้นที่สำหรับการดำเนินนโยบายที่จำเป็น ( Policy Space) ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระยะต่อไป

จีดีพีไทยโตไม่ถึง 5% 

ทั้งนี้ในการจัดทำแผนการคลังระยะปานกลางระหว่างปี 2568 – 2571 รัฐบาลยังใช้งบประมาณแบบขาดดุลเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ซึ่งเมื่อรวมกับการตั้งงบประมาณกลางปีเพิ่มเติมทำให้การขาดดุลงบประมาณปรับเพิ่มขึ้นทุกปีซึ่งปกติแล้วการขาดดุลงบประมาณเพิ่มเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ควรมีการปรับเพิ่มจีดีพีเพิ่ม แต่ในแผนการคลังฉบับนี้ได้มีการปรับลดจีดีพีใหม่โดยปรับลดลงจากเดิมทุกปี และจากประมาณการเศรษฐกิจ

ในส่วนนี้จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจไทยจะยังขยายตัวไม่ถึง 5% และ ยังขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพเศรษฐกิจที่นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง มองว่าเศรษฐกิจไทยควรขยายตัวได้ 3.5 – 4% โดยการคาดการณ์จีดีพีตามแผนนี้ ได้แก่  

  • ปี 2567 เดิมอยู่ที่ 2.7% ลดลงเหลือ 2.5%
  • ปี 2568 เดิมอยู่ที่ 3.3%  ลดลงเหลือ 3.0%
  • ปี 2569 - 2570 เดิมอยู่ที่ 3.3% ลดลงเหลือ 3.2% ปี 2571 - 2572 เดิมอยู่ที่ 3.2% ลดลงเหลือ 3%

 

ในส่วนของการขาดดุลงบประมาณในแต่ละปีงบประมาณพบว่ายังสูงกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดว่าควรจะอยู่ต่ำกว่า 3%ต่อจีดีพี โดยข้อมูลการขาดดุลงบประมาณในแต่ละปีของแผนการคลังระยะปานกลางได้แก่

  • ปี 2567 ขาดดุลงบประมาณ เพิ่มขึ้นอีก 112,000 ล้านบาท ทำให้ขาดดุลงบประมาณอยู่ที่ 805,000 ล้านบาท (จากเดิมขาดดุลงบประมาณอยู่ที่  6.93 แสนล้านบาท) หรือคิดเป็น 4.3% ต่อจีดีพี
  • ปี 2568 ขาดดุลงบประมาณ อยู่ที่ 865,700 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4.5% ต่อจีดีพี
  • ปี 2569 ขาดดุลงบประมาณ อยู่ที่ 703,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.5% ต่อจีดีพี
  • ปี 2570 ขาดดุลงบประมาณ อยู่ที่ 693,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.3 % ต่อจีดีพี
  • ปี 2571 ขาดดุลงบประมาณ อยู่ที่ 683,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.1% ต่อจีดีพี

ในส่วนของรายได้และรายจ่ายภาครัฐตลอดแผนการคลังระยะปานกลาง มีรายละเอียดดังนี้

  • ปี 2567 ประมาณการรายได้ 2,797,000 ล้านบาท รายจ่าย 3,602,000 ล้านบาท
  • ปี 2568 ประมาณการรายได้ 2,887,000 ล้านบาท รายจ่าย 3,752,700  ล้านบาท
  • ปี 2569 ประมาณการรายได้ 3,040,000  ล้านบาท รายจ่าย 3,743,000 ล้านบาท
  • ปี 2570 ประมาณการรายได้ 3,204,000 ล้านบาท รายจ่าย 3,897,000 ล้านบาท
  • ปี 2571 ประมาณการรายได้  3,394,000 ล้านบาท รายจ่าย 4,077,000 ล้านบาท

หนี้สาธารณะทะลุ 68% ในปี 71 ปริ่มเพดานหนี้

ขณะที่ข้อมูลหนี้สาธารณะและระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีในแผนการคลังระยะปานกลางฉบับนี้จะเห็นได้ว่าเพิ่มขึ้นจนอยู่ในระดับที่น่ากังวลเพราะใกล้กับระดับเพดานที่กำหนดไว้ว่าต้องไม่เกิน 70% ของจีดีพี โดยระดับหนี้สาธารณะในแต่ละปี ดังนี้

  • ปี 2567 หนี้สาธารณะคงค้าง อยู่ที่ 18,513,465 ล้านบาท คิดเป็น 65.7% ต่อจีดีพี
  • ปี 2568 หนี้สาธารณะคงค้าง อยู่ที่ 19,289,179 ล้านบาท คิดเป็น 67.9% ต่อจีดีพี
  • ปี 2569 หนี้สาธารณะคงค้าง อยู่ที่ 20,178,411 ล้านบาท คิดเป็น 68.8% ต่อจีดีพี
  • ปี 2570 หนี้สาธารณะคงค้าง อยู่ที่ 21,154,239 ล้านบาท คิดเป็น 68.9% ต่อจีดีพี
  • ปี 2571  หนี้สาธารณะคงค้าง อยู่ที่ 22,175,989 ล้านบาท คิดเป็น 68.6% ต่อจีดีพี

ทั้งนี้ระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่เพิ่มขึ้นทุกปี ถือว่าเป็นความท้าทายสำคัญต่อกรอบความยั่งยืนทางการคลัง เนื่องจากระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีใกล้กับระดับ 70% อย่างมาก ต่างจากก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ที่ประเทศไทยในขณะนั้นมีหนี้สาธารณะต่ำมากแค่เพียง 40% ต่อจีดีพีเท่านั้น

พื้นที่การคลังเหลือน้อยจนน่ากังวล

ในสถานการณ์ปัจจุบันหากรัฐบาลยังไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้มากขึ้น จีดีพีโตขึ้น หรือลดรายจ่ายภาครัฐเพื่อลดการขาดดุลงบประมาณาลง ก็มีความเสี่ยงที่ไทยต้องขยับเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น จากระดับ 70% ในปัจจุบันเนื่องจากหนี้สาธารณะต่อจีดีพีสูงจนเกือบชนเพดาน

ประเทศไทยจึงอยู่ในภาะความเสี่ยงที่พื้นที่ทางการคลังเหลือน้อยมาก และอาจไม่เพียงพอที่จะรองรับวิกฤติและความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งหากระดับหนี้สาธารณะของประเทศสูงเกินไปก็จะส่งผลต่อต้นทุนในการระดมทุน กู้ยืมเงินโดยการออกพันธบัตรทั้งของภาครัฐและเอกชน เป็นต้น

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

'นิคมโรจนะ'โซนอันตรายเหลือขายสูงสุดมูลค่า1.7หมื่นล้าน

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เผยผลสำรวจอุปทานโดยรวมภาคกลาง ในช่วงครึ่งแรกปี 2567 ที่อยู่อาศัยเสนอขายทั...

ตลาดหุ้นสหรัฐแทบไม่ขยับ นักลงทุนชะลอซื้อหลังดัชนีพุ่งแรงวันก่อน

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเล็กน้อยในวันศุกร์ (20 ก.ย.) เนื่องจากนักลงทุนชะลอการเข้าซื้อหุ้น...

เจาะพอร์ต 5 เซียนชื่อดัง ถือหุ้นปันผลสูงเกิน 5% รวม 18 หลักทรัพย์

การลงทุนในตลาดหุ้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้องค์ความรู้มาวิเคราะห์ สังเคราะห์ในทุกปัจจัยอย่างละเอียด ซึ่งม...

น้ำนมดิบอินทรีย์ สร้างรายได้ให้เกษตรกรครบวงจร

นางอังคณา พุทธศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 ชัยนาท (สศท.7) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (...