สนค. ชี้ช่อง แดดแรงเพิ่มขึ้น โอกาสผู้ประกอบการไทยขยายตลาดโซลาร์เซลล์

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันความต้องการใช้พลังงานสะอาด หรือ พลังงานทดแทน กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยที่เร่งให้ทั่วโลก ลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล และเกิดการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานโลก (Energy Transition)  อาทิ สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางพลังงาน การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีการใช้งานอย่างแพร่หลายมากขึ้น

เห็นได้จาก กำลังการผลิตพลังงานทดแทนของโลกเพิ่มขึ้น โดยในปี 2023 อยู่ที่ 507 กิกะวัตต์ เพิ่มขึ้น 50% จากปี 2022 โดยเป็นสัดส่วนจากพลังงานแสงอาทิตย์ถึง 3 ใน 4 ของการผลิตพลังงานทดแทนทั้งหมด และคาดการณ์ว่าในปี 2025 สัดส่วนการผลิตพลังงานทดแทนจะคิดเป็น 35%  ของการผลิตไฟฟ้าทั่วโลก

โดยมีจีนเป็นผู้นำด้านกำลังการผลิตโซลาร์เซลล์ของโลก ซึ่งในปี 2023 มีกำลังการผลิตอยู่ที่ประมาณ 450 กิกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจากปี 2022 ถึง 116% และมีแผนที่จะขยายการลงทุนโรงงานโซลาร์เซลล์ไปยังเวียดนามกว่า 400 ล้านดอลลาร์ เพื่อขยายการผลิตให้มากขึ้น โดยคาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในปี 2025  

ข้อมูลจากบริษัทวิจัยการตลาด Zion Market Research เปิดเผยว่า ในปี 2022 ตลาดโซลาร์เซลล์ทั่วโลกมีมูลค่า 90,400 ล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะเติบโตเป็น 215,900 ล้านดอลลาร์ ภายใน ปี 2030 ด้วยอัตราเติบโตเฉลี่ย 11.5 %สำหรับด้านการนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์ รายงาน S&P Global Market Intelligence แสดงให้เห็นว่า สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่นำเข้าแผงโซลาร์เซลล์สูงสุดของโลก ในปี 2023 โดยนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์มากถึง 54 กิกะวัตต์ เพิ่มขึ้น 82 %จากปี 2022 โดยส่วนใหญ่นำเข้าจากจีน และประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งไทย

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี คาดการณ์ว่า อัตราค่าไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นและการทำงานรูปแบบ Work From Home จะส่งผลให้มูลค่าตลาดโซลาร์เซลล์ในไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปี 2022-2025 จะเติบโตเฉลี่ย  22 %ต่อปี จนมีมูลค่า 67,268 ล้านบาท ในปี 2025

นอกจากนี้ มูลค่าการผลิตโซลาร์เซลล์ในไทย  ปี 2023 อยู่ที่ 6,147.53 ล้านดอลลาร์ เติบโต  184.35 %

จากปี 2022 อยู่ที่ 2,161.95 ล้านดอลลาร์ และมูลค่าการส่งออกโซลาร์เซลล์ของไทย ปี 2023 อยู่ที่ 4,433.11 ล้านดอลลาร์ เติบโต  80.87% จากปี 2022  ที่มีมูลค่า 2,451.01 ล้านดอลลาร์ 

มูลค่าการส่งออกของไทยคิดเป็นสัดส่วน 5% ของการส่งออกโซลาร์เซลล์ในตลาดโลก ซึ่งไทยครองส่วนแบ่งอันดับที่ 4 ของโลก รองจากจีน 55,857.19 ล้านดอลลาร์ สัดส่วน  63%   เนเธอร์แลนด์  9,752.84 ล้านดอลลาร์ สัดส่วน 11%   และมาเลเซีย  5,319.73 ล้านดอลลาร์ สัดส่วน  6%

โดยตลาดส่งออกสำคัญของไทย คือ สหรัฐอเมริกา มูลค่า 3,223 ล้านดอลลาร์  สัดส่วน  75% เวียดนาม มูลค่า 495 ล้านดอลลาร์  สัดส่วน  11%    อินเดีย มูลค่า 232 ล้านดอลลาร์  สัดส่วน 5%   และจีน มูลค่า 175 ล้านดอลลาร์ สัดส่วน  4%โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่มีการเติบโตมากถึง  144.35 % จากปี 2022

นอกจากภาคการผลิตและการค้าแผงโซลาร์เซลล์ที่กำลังเติบโตแล้ว ไทยยังมีนโยบายกระตุ้นตลาดภายในประเทศ ที่ส่งเสริมให้เกิดการใช้แผงโซลาร์เซลล์ทั้งในภาคธุรกิจและครัวเรือนมากขึ้น อาทิ โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar PV Rooftop) สำหรับภาคประชาชนประเภทบ้านที่อยู่อาศัย หรือ โครงการ Solar ภาคประชาชน ส่งเสริมให้ครัวเรือนสามารถผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองภายในบ้านได้ และไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากที่ใช้งาน การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จะรับซื้อ 2.20 บาท/หน่วย เป็นระยะเวลา 10 ปี

รวมทั้งการดำเนินงานแก้ไขกฎหมาย ให้ภาคธุรกิจภาคสามารถติดตั้ง Solar Rooftop ที่มีกำลังการผลิตเกินกว่า 1,000 กิโลวัตต์ ได้ โดยไม่เข้าข่ายโรงงานที่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า เพื่อปลดล็อกให้ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ ศูนย์การค้า โรงแรม และภาคบริการ สามารถใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจ แต่ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้

โดยข้อมูลจากสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายงานว่า การติดตั้งโซลาร์เซลล์ 10 แผง (1 กิโลวัตต์) เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ประมาณ 101 ต้น ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 901.3 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า  จากบริบทการเติบโตของภาคพลังงานทดแทน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ จึงเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะสามารถขยายส่วนแบ่งในตลาดโลก และก้าวขึ้นไปเป็น 1 ใน 3 ของประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกโซลาร์เซลล์สูงสุดของโลก โดยผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญต่อการศึกษากฎระเบียบ ข้อกำหนด มาตรการของประเทศคู่ค้า ยกระดับคุณภาพสินค้าให้สอดคล้องกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ระดับสากล และขยายกำลังการผลิตรองรับความต้องการที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสของภาคธุรกิจ และภาคครัวเรือนที่สามารถผลิต และใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนพลังงาน และยกระดับระบบพลังงานไฟฟ้าไทยให้มีความเสถียรในระยะยาว

ทั้งนี้ หน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนสามารถบูรณาการความร่วมมือกัน ทั้งด้านการสนับสนุนข้อมูลการค้าและแนวโน้มเศรษฐกิจที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาดพลังงานแสงอาทิตย์ การรักษาตลาดเดิม และเพิ่มตลาดใหม่ การหาแหล่งเงินทุน และการจัดหาเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยในการผลิต เพื่อส่งเสริมการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย ท่ามกลางบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

 

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ทหารอิสราเอลปลิดชีพผู้นำฮามาส ‘ยายาห์ ซินวาร์’ ในกาซา

การสังหารเขาได้ถือเป็นความสำเร็จใหญ่หลวงสำหรับอิสราเอล และเป็นเหตุการณ์สำคัญในความขัดแย้งที่ยืดเยื้อ...

เมเจอร์ร่วมทุนทาคาระ เลเบ็น ผุดมอลตัล รีเสิร์ฟ ปิ่นเกล้ามูลค่า1.3พันล้าน

เพชรลดา พูลวรลักษณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ กล่าวว่า เมเจอร์ฯถือว่าเป็นผู้นำใ...

ลงทุนกองทุนต่างประเทศแบบไหนดี ระหว่าง Hedge vs. Unhedge

การลงทุนในกองทุนต่างประเทศ นอกจากต้องคำนึงถึงผลตอบแทนที่มาจากสินทรัพย์ลงทุนแล้ว สิ่งที่ต้องคำนึงถึงไ...

“เงินคู่คลัง” เจาะลึก หุ้นได้ประโยชน์จากการลดดอกเบี้ยของกนง.

ถือเป็นอีกเรื่องราวสุดเซอร์ไพร์ส หลัง คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ลดอัตราด...