โลกร้อนเครื่องบินยิ่งเสี่ยงเจอหลุมอากาศรุนแรง

แม้เหตุเครื่องบินตกหลุมอากาศอย่างรุนแรงจะเกิดได้ยาก แต่อาจทำให้มีการเสียชีวิตเกิดขึ้นได้ อย่างกรณีสิงคโปร์แอร์ไลน์เที่ยวบินลอนดอน-สิงคโปร์ ที่มีผู้เสียชีวิตหนึ่งคน

นายโทบี เพิร์ล เผยกับสำนักข่าวบลูมเบิร์กหลังเครื่องบินสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ เที่ยวบิน SQ321 ที่โดยสารมาต้องลงจอดฉุกเฉินในกรุงเทพฯ

“แทบจะทันทีที่เจอหลุมอากาศ ผมและคนอื่นๆ อีกมากมายลอยขึ้นไปในอากาศกระแทกเพดาน ผมรู้สึกเหมือนเครื่องบินตก คิดว่าเครื่องบินกำลังร่วงลง”

ขณะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดถึงสาเหตุที่แท้จริงของการตกหลุมอากาศที่ทำให้ผู้โดยสารกระเด็นหลุดจากที่นั่ง แต่อากาศที่ผันผวนรุนแรงสามารถสร้างความปั่นป่วนได้มาก

ข้อมูลจากคณะกรรมการความปลอดภัยการขนส่งแห่งชาติสหรัฐ ระบุ ระหว่างปี 2552-2566 เที่ยวบินตามกำหนดเวลา162 เที่ยวบินทั่วโลก (ส่วนใหญ่เป็นสายการบินในสหรัฐ, เครื่องบินในภูมิภาค และเครื่องบินขนส่งสินค้าที่มีใบรับรองเฉพาะจากสำนักงานบริหารการบินสหรัฐ) ตกหลุมอากาศ มีผู้บาดเจ็บสาหัส 185 คน

การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอาจทำให้การตกหลุมอากาศรุนแรงเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นได้ในอนาคต งานวิจัยเผยแพร่ใน Geophysical Research Letters เมื่อปีที่ผ่านมาพบว่า อากาศเคลื่อนไหวผิดปกติอาจเพิ่มขึ้นเรียบร้อยแล้วในหลายพื้นที่ของโลก

เครื่องบินตกหลุมอากาศคืออะไร

แลร์รี คอร์นแมน นักฟิสิกส์ที่ศึกษาเรื่องความปั่นป่วนของอากาศ ณ ศูนย์วิจัยชั้นบรรยากาศแห่งชาติเอ็นเอสเอฟ อธิบายว่า เมื่อเครื่องบินกำลังบิน อากาศไหลเหนือปีกทำให้เครื่องบินยกตัวและบินได้

อากาศปั่นป่วนเกิดจากการไหลของอากาศเปลี่ยนแปลงรุนแรงฉับพลัน โดยเฉฑาะเมื่ออากาศส่วนบนและส่วนล่างของเครื่องบินแตกต่างกัน ผลก็คือเครื่องบินอาจ “กระเด็นกระดอนขึ้นลงหรือเคลื่อนไปในทิศทางใดก็ได้”

สิ่งที่เรียกกันว่า ความปั่นป่วนขณะท้องฟ้าแจ่มใส (clear-air turbulence: CAT) ซึ่งไม่เกี่ยวกับสภาพอากาศที่มองเห็นเป็นอันตรายมากเนื่องจากนักบินไม่สามารถมองเห็นได้เลย

สาเหตุการเกิดหลุมอากาศ

หลุมอากาศเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ที่พบได้บ่อยคือเมื่อเครื่องบิน บินเขาไปใกล้กับรอยต่อระหว่างขอบนอกของ “กระแสลมกรด” (jet stream) กับบริเวณสภาพอากาศปกติ ซึ่งกรณีนี้ไม่สามารถทราบล่วงหน้าได้

(jet streamคือแถบกระแสลมแรงที่เคลื่อนที่ในบรรยากาศชั้นสูงโดยพัดโค้งไปมาคล้ายการไหลของแม่น้ำ)

โลกร้อนเกิดหลุมอากาศบ่อยขึ้นหรือไม่

แม้ยังฟันธงไม่ได้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับการที่เครื่องบินตกหลุมอากาศ แต่การศึกษาหลายชิ้นช่วงทศวรรษที่ผ่านมาชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้เกิดหลุมอากาศเลวร้ายมากขึ้นไปอีกในอนาคต

การศึกษาเมื่อปี 2560 เผยแพร่ใน Advances in Atmospheric Sciences ใช้แบบจำลองสภาพอากาศหาศึกษา CAT ระหว่างมหาสมุทรแอตแลนติกช่วงฤดูหนาว นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยรีดดิงของสหราชอาณาจักร พบว่า ความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นสองเท่า อาจเป็นเหตุให้ตกหลุมอากาศอย่างเบาเพิ่มขึ้นราว 59% การตกหลุมอากาศแบบปานกลางเพิ่มขึ้น % และตกหลุมอากาศปานกลาง-รุนแรงเพิ่มขึ้น 127%

งานอีกชิ้นเมื่อปี 2562 ตีพิมพ์ในวารสารเนเจอร์พบว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้หลุมอากาศเกิดมากขึ้นไปเรียบร้อยแล้ว จากการเพิ่มขึ้นของสิ่งที่เรียกว่าแรงเฉือนแนวตั้ง (vertical sheer) ในกระแสลมกรดแอตแลนติกเหนือ

และในปี 2566 ผลการศึกษาเผยแพร่ใน Geophysical Research Letters ใช้การคำนวณหลุมอากาศ 21 ตัวอย่างเพื่อดูว่าหลุมอากาศเลวร้ายลงหรือไม่ระหว่างปี 2522-2563 นักวิจัยพบหลักฐานชัดเจนว่า CAT ขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นในบางส่วนของโลก

 “เมื่อเร็วๆ นี้เราพบว่า CAT รุนแรงในแอตแลนติกเหนือเพิ่มขึ้น 55% ตั้งแต่ปี 2522” พอล วิลเลียมส์ อาจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ชั้นบรรยากาศ มหาวิทยาลัยรีดดิง ผู้เขียนงานปี 2560 และร่วมเขียนงานวิจัยปี 2562 และ 2566 กล่าว

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าทุกคนจะเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศทำให้เครื่องบินตกหลุมอากาศมากขึ้นไปเรียบร้อยแล้ว

คอร์นแมนกล่าวความสัมพันธ์ระหว่างหลุมอากาศกับโลกร้อน“ไม่ใช่ไม่มีเหตุผล” แต่ที่คนยังสงสัยในผลการศึกษาส่วนหนึ่งเพราะข้อมูลการตกหลุมอากาศมักได้มาจากรายงานของนักบินซึ่งมีความเป็นอัตวิสัยสูง

ขณะที่วิลเลียมส์เชื่อมั่นมากกว่า “แม้การวิเคราะห์ลงรายละเอียดถึงสภาพแวดล้อมด้านอุตุนิยมวิทยาและรูปแบบหลุมอากาศที่เป็นเหตุให้ถึงแก่ชีวิตยังต้องใช้เวลา แต่การคาดการณ์ล่าสุดของเราชี้ว่า หลุมอากาศรุนแรงในกระแสลมกรดจะเพิ่มเป็นสองเท่า หรือกระทั่งสามเท่าภายในไม่กี่สิบปีข้างหน้า ถ้าสภาพอากาศยังเปลี่ยนแปลงตามแบบที่เราคาดการณ์กันไว้”

ผู้โดยสารจะปลอดภัยได้อย่างไร

คำแนะนำที่ง่ายที่สุดแต่ได้ผลที่สุดคือ จงฟังคำแนะนำจากนักบิน และระหว่างที่อยู่บนเครื่องบินให้นั่งอยู่กับที่คาดเข็มขัดให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘ไต้ฝุ่นยางิ’ ทำ ‘เศรษฐกิจเวียดนาม’ เสียหายกว่า 5 หมื่นล้านบาท

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า พายุไต้ฝุ่นยางิ ถล่มเมียนมา เวียดนาม ลาว และไทยด้วยกำลังลมที่แรงมาก และทำใ...

ท่วมหนักสุด 'ในรอบ 3 ทศวรรษ' พายุบอริสถล่มยุโรป ผลกระทบจากโลกร้อน

จากหย่อมความกดอากาศต่ำที่ชื่อว่า “พายุบอริส” ส่งผลให้มีฝนตกหนักจากออสเตรียไปจนถึงโรมาเนีย จนเกิด “น้...

ฮามาสโวความสามารถสูง ทำสงครามกาซาต่อได้แม้สูญเสีย

นายโอซามา ฮัมดัน ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอเอฟพี เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่นครอิสตันบูลของตุรกี ระบุ “ขบวนก...

สงครามสู้ฮามาสและยอดส่งออกร่วง กดดันจีดีพี ‘อิสราเอล’ Q2 ให้โตเพียง 0.7%

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของอิสราเอลในไตรมาสที่สองชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไ...