บอร์ดค่าจ้างนัดถก ‘ค่าแรงขั้นต่ำ’ นำร่อง 10 จังหวัดท่องเที่ยว 26 มี.ค. 67

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ในวันที่ 26 มี.ค. 2567 คณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) ที่มีนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน จะพิจารณากำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำ หลังคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรอง ประชุมเสนออัตราค่าจ้างในวันที่ 22 มี.ค. 2567 เพื่อพิจารณากลั่นกรองข้อเสนอแนะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 10 จังหวัด ที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี กระบี่ สงขลา พังงา ประจวบคีรีขันธ์ และระยอง

“หากคณะกรรมการค่าจ้างมีมติเห็นชอบอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใน 10 จังหวัดนำร่องแล้ว สำนักงานคณะกรรมการค่าจ้างจะจัดทำประกาศ เสนอไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 2 หรือ 9 เม.ย. 2567 เพื่อรับทราบและประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 เม.ย. 2567 ซึ่งเป็นของขวัญปีใหม่ไทยในช่วงเทศกาลสงกรานต์

หลังจากเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา ในการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการศึกษาความเป็นไปได้ในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามพื้นที่ โดยให้มีการสำรวจข้อมูลสถานประกอบกิจการและลูกจ้างในพื้นที่ที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวสูง 10 จังหวัดดังกล่าว

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ในการพิจารณารายละเอียดของการปรับอัตราค่าจ้างรอบใหม่นั้น จะพิจารณาเป็นรายพื้นที่ เช่น พื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นในจะมีอัตราค่าจ้างในอัตราหนึ่ง ส่วนกรุงเทพฯ ชั้นนอกอาจจะมีค่าจ้างอีกอัตราหนึ่ง เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับค่าครองชีพในแต่ละพื้นที่ ส่วนบางแห่งจะปรับขึ้นไปถึงวันละ 400 บาทหรือไม่นั้น คงต้องรอผลการพิจารณาจากคณะกรรมการค่าจ้างอีกครั้ง

ทั้งนี้ จากนโยบายของกระทรวงแรงงาน ยืนยันว่า การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ หรือค่าแรงขั้นต่ำให้กับแรงงานครั้งนี้ จะช่วยสร้างความเป็นธรรม และความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่มากที่สุด โดยเฉพาะพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมาทางคณะอนุกรรมการฯ ได้ลงไปสำรวจพูดคุยกับทางผู้ประกอบการแล้ว และได้มีข้อสรุปตรงกัน โดยจะนำข้อมูลทั้งหมดเสนอประกอบการพิจารณาต่อบอร์ดค่าจ้างด้วย

“แรงงานกลุ่มแรกที่จะได้รับการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในรอบนี้ มองว่าจะนำร่องในกลุ่มแรงงานภาคท่องเที่ยวก่อน เพราะเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ โดยใน 10 จังหวัดนำร่องหลายแห่งก็เป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่สำคัญ ประกอบกับที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า แรงงานในภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างหนักตั้งแต่ปี 2562 จากวิกฤติโควิด-19 ระบาด ดังนั้นเมื่อการท่องเที่ยวฟื้นตัวแล้ว แรงงานกลุ่มนี้ก็ต้องได้รับการดูแลที่เหมาะสม”

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้สำนักงานแรงงานจังหวัด สำรวจสถานประกอบกิจการและลูกจ้างในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ทั้งการบริการโรงแรมและที่พัก ไปแล้วกว่า 950 แห่งใน 10 จังหวัด และจัดประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด เพื่อพิจารณาเสนอแนะอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต่อไป

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

'นิคมโรจนะ'โซนอันตรายเหลือขายสูงสุดมูลค่า1.7หมื่นล้าน

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เผยผลสำรวจอุปทานโดยรวมภาคกลาง ในช่วงครึ่งแรกปี 2567 ที่อยู่อาศัยเสนอขายทั...

ตลาดหุ้นสหรัฐแทบไม่ขยับ นักลงทุนชะลอซื้อหลังดัชนีพุ่งแรงวันก่อน

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเล็กน้อยในวันศุกร์ (20 ก.ย.) เนื่องจากนักลงทุนชะลอการเข้าซื้อหุ้น...

เจาะพอร์ต 5 เซียนชื่อดัง ถือหุ้นปันผลสูงเกิน 5% รวม 18 หลักทรัพย์

การลงทุนในตลาดหุ้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้องค์ความรู้มาวิเคราะห์ สังเคราะห์ในทุกปัจจัยอย่างละเอียด ซึ่งม...

น้ำนมดิบอินทรีย์ สร้างรายได้ให้เกษตรกรครบวงจร

นางอังคณา พุทธศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 ชัยนาท (สศท.7) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (...