รายงานพบ “อาหารแปรรูปขั้นสูง” เสี่ยงทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ 32 ประการ

รายงานใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสาร BMJ เปิดเผยผลกระทบของ “อาหารแปรรูปขั้นสูง” (Ultra-processed food) เช่น ซีเรียล โปรตีนบาร์ น้ำอัดลมมีฟอง ขนมกรุบกรอบ อาหารสำเร็จรูป อาหารจานด่วน ฯลฯ โดยพบว่า เชื่อมโยงโดยตรงกับผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพถึง 32 ประการ

นี่เป็นการทบทวนหลักฐานที่ครอบคลุมครั้งแรกของอาหารประเภทนี้ ซึ่งมีอัตราการบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก เฉพาะในสหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ มากกว่าครึ่งหนึ่งของอาหารในประเทศเป็นอาหารแปรรูปขั้นสูง

Freepik/Rawf8.com
อาหารแปรรูปขั้นสูง เช่น ซีเรียล โปรตีนบาร์ น้ำอัดลมมีฟอง ขนมกรุบกรอบ อาหารสำเร็จรูป อาหารจานด่วน ฯลฯ

สำหรับบางคน โดยเฉพาะผู้ที่อายุน้อย มีสถานะยากจน หรืออยู่ในพื้นที่ด้อยโอกาส จะมีอัตรการรับประทานอาหารแปรรูปขั้นสูงได้ถึง 80%

ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า อาหารแปรรูปขั้นสูงอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพหลายประการ “โดยรวมแล้ว พบความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างการสัมผัสกับอาหารแปรรูปขั้นสูงกับปัจจัยด้านสุขภาพ 32 ประการ ซึ่งครอบคลุมอัตราการเสียชีวิต มะเร็ง และผลลัพธ์ด้านสุขภาพทางจิต ระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบทางเดินอาหาร และเมตาบอลิซึม (การเผาผลาญ)”

นักวิจัยกล่าวเสริมว่า “การสัมผัสอาหารแปรรูปขั้นสูงปริมาณมากมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่สูงขึ้นของผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่ไม่พึงประสงค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคทางจิตที่พบบ่อย และความเสี่ยงในการเสียชีวิต”

พวกเขาบอกอีกว่า “การค้นพบนี้สนับสนุนเหตุผลในการพัฒนาและประเมินประสิทธิผลของการใช้มาตรการด้านสาธารณสุขเพื่อกำหนดเป้าหมายและลดการสัมผัสกับอาหารแปรรูปขั้นสูงเพื่อสุขภาพของมนุษย์ที่ดีขึ้น”

อาหารแปรรูปขั้นสูงต้องผ่านกระบวนการทางอุตสาหกรรมหลายขั้นตอน และมักประกอบด้วยสี อิมัลซิไฟเออร์ (สารทำให้อาหารคงตัว) สารแต่งรสชาติ และสารเติมแต่งอื่น ๆ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีแนวโน้มที่จะเติมน้ำตาล ไขมัน และ/หรือเกลือสูง แต่มีวิตามินและเส้นใยไฟเบอร์ต่ำ

การศึกษาอื่น ๆ ก่อนหน้านี้เคยเชื่อมโยงอาหารแปรรูปขั้นสูงเข้ากับสุขภาพที่ไม่ดี แต่ยังไม่มีการทบทวนที่ครอบคลุมหลักฐานในวงกว้างขนาดนี้มาก่อน

โดยทีมวิจัยใช้วิธีการทบทวนบทความหรืองานวิจัย 14 บทความที่เกี่ยวข้องกับอาหารแปรรูปขั้นสูงและผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่ไม่พึงประสงค์ ที่เผยแพร่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และเกี่ยวข้องกับผู้คน 9.9 ล้านคน แล้วนำมาวิเคราะห์ว่า อาหารแปรรูปขั้นสูงมีความเสี่ยงทำให้เกิดผลกระทบอะไรได้บ้าง

ผลออกมาว่า การบริโภคอาหารแปรรูปชั้นสูงที่สูงขึ้น จะเพิ่มความเสี่ยงประมาณ 50% ของการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจและหลอดเลือด ความเสี่ยงต่อความวิตกกังวลและความผิดปกติทางจิตทั่วไปเพิ่มขึ้น 48-53% และความเสี่ยงเกิดโรคเบาหวานประเภท 2 เพิ่มขึ้น 12%

ขณะเดียวกัน พวกเขายังพบว่า การบริโภคอาหารแปรรูปปกติ (Processed food) ที่สูง จะเพิ่มความเสี่ยงมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากสาเหตุใด ๆ 21% เพิ่มความเสี่ยงการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจ โรคอ้วน โรคเบาหวานประเภท 2 และปัญหาการนอนหลับ 40-66% และเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า 22%

นอกจากนี้ยังมีหลักฐานที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างอาหารแปรรูปขั้นสูงกับโรคหอบหืด สุขภาพทางเดินอาหาร มะเร็งบางชนิด และปัจจัยเสี่ยงของระบบหัวใจและหลอดเลือด แต่หลักฐานสำหรับการเชื่อมโยงเหล่านี้ยังมีจำกัด

ทั้งนี้ นักวิจัยรับทราบถึงข้อจำกัดหลายประการในการทบทวนหลักฐานครั้งนี้ รวมถึงไม่สามารถแยกแยะความเป็นไปได้ว่าความเสี่ยงการเกิดโรคต่าง ๆ อาจเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ ที่ไม่สามารถวัดได้และมีผลต่อการประเมิน

ผู้เชี่ยวชาญบางคนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการวิจัยยังเน้นย้ำว่า งานวิจัยส่วนใหญ่ที่ถูกนำมาทบทวนนั้นค่อนข้าง “อ่อนแอ” และยังเตือนด้วยว่าการค้นพบนี้ไม่ได้พิสูจน์สาเหตุและผลกระทบได้อย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ดร.คริส ฟาน ทูลเคน รองศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน และหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารแปรรูปขั้นสูง กล่าวว่า การค้นพบนี้ “สอดคล้องกันอย่างยิ่ง” กับการศึกษาอิสระจำนวนมากในขณะนี้ ซึ่งแสดงความเชื่อมโยงอย่างชัดเจนระหว่างการรับประทานอาหารแปรรูปขั้นสูงกับผลเสียต่อสุขภาพหลายประการ รวมถึงการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

ฟาน ทูลเคน เสริมว่า “เรามีความเข้าใจที่ดีเกี่ยวกับกลไกที่อาหารเหล่านี้ก่อให้เกิดอันตราย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคุณค่าทางโภชนาการที่ไม่ดี โดยมักมีไขมันอิ่มตัว เกลือ และน้ำตาลอิสระที่สูง”

 

อ่านงานวิจัย ที่นี่

เรียบเรียงจาก The Guardian

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

'นิคมโรจนะ'โซนอันตรายเหลือขายสูงสุดมูลค่า1.7หมื่นล้าน

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เผยผลสำรวจอุปทานโดยรวมภาคกลาง ในช่วงครึ่งแรกปี 2567 ที่อยู่อาศัยเสนอขายทั...

ตลาดหุ้นสหรัฐแทบไม่ขยับ นักลงทุนชะลอซื้อหลังดัชนีพุ่งแรงวันก่อน

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเล็กน้อยในวันศุกร์ (20 ก.ย.) เนื่องจากนักลงทุนชะลอการเข้าซื้อหุ้น...

เจาะพอร์ต 5 เซียนชื่อดัง ถือหุ้นปันผลสูงเกิน 5% รวม 18 หลักทรัพย์

การลงทุนในตลาดหุ้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้องค์ความรู้มาวิเคราะห์ สังเคราะห์ในทุกปัจจัยอย่างละเอียด ซึ่งม...

น้ำนมดิบอินทรีย์ สร้างรายได้ให้เกษตรกรครบวงจร

นางอังคณา พุทธศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 ชัยนาท (สศท.7) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (...