ชลประทาน ลดระบายน้ำลุ่มเจ้พระยา หวั่นนาปรัง2ผุด เข้มแผนน้ำสำรองกินใช้

นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผย การเพาะปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยามีแนวโน้มลดลง เนื่องจากเกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวนาปรังรอบแรก เริ่มทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว จึงให้โครงการชลประทานในพื้นที่ปรับลดการรับน้ำเข้าพื้นที่ พร้อมรณรงค์ขอความร่วมมือเกษตรกรไม่ทำนาปรังรอบ 2 และขอให้ทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด เป็นไปตามแผนที่ได้วางไว้ เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด เพียงพอใช้ต่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ ไปจนถึงต้นฤดูฝนหน้า

โดยสถานการณ์การเพาะปลูกข้าวนาปรัง ทั้งประเทศมีการทำนาปรังไปแล้วประมาณ 8.47 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 146 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มเจ้าพระยา มีการทำนาปรังไปแล้วประมาณ 5.68 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 188 ของแผนฯ สำหรับสถานการณ์ค่าความเค็มยังอยู่ในเกณฑ์ควบคุมได้ แต่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากยังคงมีน้ำทะเลหนุนในบางช่วง

สำหรับสถานการณ์น้ำปัจจุบัน (26 ก.พ. 67) ว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 52,892 ล้าน ลบ.ม. (68% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เป็นน้ำใช้การได้ 27,951 ล้าน ลบ.ม. (53% ของความจุอ่างฯรวมกัน) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 14,453 ล้าน ลบ.ม. (58% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) ปริมาณน้ำใช้การได้ 7,757 ล้าน ลบ.ม. (43% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) จนถึงขณะนี้ทั้งประเทศมีการใช้น้ำไปแล้วกว่า 14,298 ล้าน ลบ.ม. (57%) เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 5,188 ล้าน ลบ.ม. (60%)

นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า ขณะนี้กรมฝนหลวงฯ ปฏิบัติการฝนหลวงและปฏิบัติการดัดแปรสภาพอากาศ เพื่อบรรเทาปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) อย่างต่อเนื่อง โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา ช่วงระหว่างวันที่ 15 – 21 กุมภาพันธ์ 2567 หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดระยอง จังหวัดพิษณุโลก และอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ขึ้นบินช่วยเหลือพื้นที่ที่ประสบปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในเขตพื้นที่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่งผลให้ค่าฝุ่นละอองในพื้นที่ดังกล่าว มีแนวโน้มลดลง

 

 อีกทั้งยังขึ้นบินช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและเติมน้ำต้นทุนให้กับอ่างกักเก็บน้ำ ทำให้มีฝนตกเล็กน้อย ถึงปานกลางบริเวณพื้นที่ อำเภอบ้านบึง อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง อำเภอแก่งกระจาน อำเภอหนองหญ้าปล้อง อำเภอท่ายาง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี อำเภอบ้านคา อำเภอสวนผึ้ง อำเภอปากท่อ อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี อำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา อำเภอสามร้อยยอด อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และบินปฏิบัติการ ดัดแปรสภาพอากาศเพื่อยับยั้งและบรรเทาการเกิดพายุลูกเห็บ บริเวณอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ หลังปฏิบัติการไม่พบรายงานลูกเห็บตกในพื้นที่ดังกล่าว

นายสุพิศ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ได้สั่งให้ชุดปฏิบัติการเฮลิคอปเตอร์ของกรมฝนหลวงฯ จังหวัดเชียงใหม่ ขึ้นบินตักน้ำดับไฟป่า เพื่อช่วยเหลือพื้นที่บริเวณ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ โดยขึ้นบินจำนวน 4 เที่ยว ตักน้ำเที่ยวละ 500 ลิตร รวมทั้งสิ้น 2,000 ลิตร อีกด้วย

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

'นิคมโรจนะ'โซนอันตรายเหลือขายสูงสุดมูลค่า1.7หมื่นล้าน

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เผยผลสำรวจอุปทานโดยรวมภาคกลาง ในช่วงครึ่งแรกปี 2567 ที่อยู่อาศัยเสนอขายทั...

ตลาดหุ้นสหรัฐแทบไม่ขยับ นักลงทุนชะลอซื้อหลังดัชนีพุ่งแรงวันก่อน

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเล็กน้อยในวันศุกร์ (20 ก.ย.) เนื่องจากนักลงทุนชะลอการเข้าซื้อหุ้น...

เจาะพอร์ต 5 เซียนชื่อดัง ถือหุ้นปันผลสูงเกิน 5% รวม 18 หลักทรัพย์

การลงทุนในตลาดหุ้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้องค์ความรู้มาวิเคราะห์ สังเคราะห์ในทุกปัจจัยอย่างละเอียด ซึ่งม...

น้ำนมดิบอินทรีย์ สร้างรายได้ให้เกษตรกรครบวงจร

นางอังคณา พุทธศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 ชัยนาท (สศท.7) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (...