5 อันดับ ‘รถไฟฟ้า’ ยอดฮิต สะท้อนดีมานด์ขนส่งสาธารณะ

กรมการขนส่งทางรางรวบรวมข้อมูลปริมาณผู้ใช้บริการรถไฟโดยสารประเทศไทย ประจำปี 2566 โดยพบว่ามีปริมาณการเดินทางเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ มีผู้ใช้รวมทั้งหมด 488,735,151 คน-เที่ยว ปรับตัวสูงมากกว่า 40% หากเทียบกับปี 2565 ที่มีผู้ใช้รวมทั้งหมด 337,389,095 คน-เที่ยว

ซึ่งปัจจัยบวกเกิดจากโครงข่ายระบบรางเปิดให้บริการเพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนของรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพและปริมณฑล และรถไฟระหว่างเมือง ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี รวมไปถึงรถไฟชานเมืองสายสีแดง ที่เชื่อมต่อการเดินทางจากระหว่างตลิ่งชัน - บางซื่อ - รังสิต สร้างความสะดวกในการเดินทางเข้าสู่เมืองชั้นในได้มากขึ้น

อย่างไรก็ดีในปี 2566 กรมการขนส่งทางรางยังรวมรวมสถิติปริมาณผู้ใช้บริการรถไฟโดยสารประเทศไทย แบ่งแยกตามโครงข่ายที่ให้บริการในเขตกรุงเทพและปริมณฑล พบว่ามี 5 อันดับโครงข่ายรถไฟที่ประชาชนนิยมเดินทางสูงสุด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นระบบรถไฟฟ้า ได้แก่

- สายสีเขียว 264,066,131 คน-เที่ยว คิดเป็น 54.03% ของการเดินทางในเขตกรุงเทพและปริมณฑล

- สายสีน้ำเงิน  137,336,127 คน-เที่ยว คิดเป็น 28.1% ของการเดินทางในเขตกรุงเทพและปริมณฑล

- แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ 22,495,300 คน-เที่ยว คิดเป็น 4.6% ของการเดินทางในเขตกรุงเทพและปริมณฑล

- สายสีม่วง  18,398,106 คน-เที่ยว คิดเป็น 3.76% ของการเดินทางในเขตกรุงเทพและปริมณฑล

- สายสีเหลือง  8,296,347 คน-เที่ยว คิดเป็น 1.7% ของการเดินทางในเขตกรุงเทพและปริมณฑล

ทั้งนี้ สถิติการปริมาณผู้ใช้บริการระบบรถไฟที่เกิดขึ้นนั้น สะท้อนให้เห็นว่าปัจจุบันประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลตอบรับต่อการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนประเภทรถไฟ โดยเฉพาะรถไฟฟ้าที่สามารถสร้างความสะดวกสบายในการเดินทางให้แก่ประชาชน ส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะมากยิ่งขึ้น และยิ่งเห็นสัญญาณบวกใช้บริการเพิ่มขึ้นจากนโยบายรัฐบาลผลักดัน “รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย”

อ้างอิงจากผลการให้บริการตามนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายของระบบรถไฟชานเมือง (รถไฟฟ้าสายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน และรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2566 ซึ่งเป็นวันแรกของการให้บริการ หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ พบว่ามีจำนวนผู้โดยสารใช้บริการรถไฟฟ้าทั้ง 2 สาย รวมทั้งหมด 94,446 คน-เที่ยวต่อวัน เพิ่มขึ้นทันทีจากวันที่ 15 ต.ค. 2566 ที่มีผู้โดยสารจำนวน 50,564 คน-เที่ยวต่อวัน

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการผลักดันให้ประชาชนปรับพฤติกรรมมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะระบบขนส่งทางรางเพื่อการเดินทางเป็นหลัก แน่นอนว่านอกจากการให้บริการที่สะดวกสบายและจัดทำโปรโมชันจูงใจในการเดินทางแล้ว การพัฒนาโครงข่ายให้สามารถเข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น จะสร้างโอกาสในการปรับพฤติกรรมเดินทางของประชาชนในวงกว้าง และยังขยายเมืองสู่พื้นที่ชั้นนอก

“พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์” อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า กรมฯ ได้จัดทำแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบรางสอบถามความต้องการการเดินทางของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งขณะนี้ได้ข้อสรุปออกมาเป็นแนวเส้นทางรถไฟฟ้าที่ประชาชนต้องการให้พัฒนารวม 33 เส้นทาง และจะถูกบรรจุไว้ในแผนแม่บทรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ฉบับใหม่ หรือ M-MAP 2

โดยผลการศึกษาเบื้องต้น ได้จัดลำดับความสำคัญแผนการพัฒนา M-MAP 2 แบ่งเป็น 4 กลุ่ม พบว่ากลุ่ม A1 ถือเป็นเส้นทางที่มีความจำเป็น มีความพร้อมในผลการศึกษาต่างๆ และสามารถดำเนินการทันที รวมจำนวน 4 เส้นทาง วงเงินลงทุนรวมกว่า 63,474 ล้านบาท ได้แก่

1.รถไฟฟ้าสายสีแดง รังสิต – ธรรมศาสตร์  ระยะทาง 8.84 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 6,468 ล้านบาท

2. รถไฟฟ้าสายสีแดง ตลิ่งชัน – ศาลายา ระยะทาง 14.8 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 10,670 ล้านบาท

3. รถไฟฟ้าสายสีแดง ตลิ่งชัน – ศิริราช ระยะทาง 5.7 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 4,616 ล้านบาท

4.รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย – บึงกุ่ม ระยะทาง 22.1 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 41,720 ล้านบาท

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

'นิคมโรจนะ'โซนอันตรายเหลือขายสูงสุดมูลค่า1.7หมื่นล้าน

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เผยผลสำรวจอุปทานโดยรวมภาคกลาง ในช่วงครึ่งแรกปี 2567 ที่อยู่อาศัยเสนอขายทั...

ตลาดหุ้นสหรัฐแทบไม่ขยับ นักลงทุนชะลอซื้อหลังดัชนีพุ่งแรงวันก่อน

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเล็กน้อยในวันศุกร์ (20 ก.ย.) เนื่องจากนักลงทุนชะลอการเข้าซื้อหุ้น...

เจาะพอร์ต 5 เซียนชื่อดัง ถือหุ้นปันผลสูงเกิน 5% รวม 18 หลักทรัพย์

การลงทุนในตลาดหุ้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้องค์ความรู้มาวิเคราะห์ สังเคราะห์ในทุกปัจจัยอย่างละเอียด ซึ่งม...

น้ำนมดิบอินทรีย์ สร้างรายได้ให้เกษตรกรครบวงจร

นางอังคณา พุทธศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 ชัยนาท (สศท.7) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (...