ซักฟอกงบ 67 พท.โดนเดี่ยว ฝ่ายค้าน‘ด้อยค่า’ พรรคร่วม‘ต่อรอง’

วาระอภิปราย “ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 67”  ของสภาฯ หลังเปิดศักราชใหม่ เหมือนเป็นเวทีที่รัฐบาล นายกฯเศรษฐา และพรรคเพื่อไทย ถูกลูบคม ซึ่งบางจังหวะเหมือนถูกดึง “คอขึ้นเขียง" ให้ “พรรคฝ่ายค้าน-พรรคร่วมรัฐบาล”รุมสับ

ต้นตอมาจากการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายปี 67 ในร่างกฎหมายงบประมาณที่เสนอต่อสภาฯ ที่ถูกจับผิด จาก “พรรคก้าวไกล” ว่า มีข้อผิดพลาด และยอมให้เกิดความผิดพลาดต่อไป ไม่คิดปรับแก้

โดยเฉพาะการรับมรดกของรัฐบาล "คสช.” ที่ชู “รัฐ-ราชการ” ให้อยู่เหนือ “ความต้องการของประชาชน” รวมถึง การจัดสรรงบประมาณในโครงการต่างๆ ไม่ตอบโจทย์การแก้ไขวิกฤติ ตามที่นายกฯ “เศรษฐา” จั่วหัวไว้ ตั้งแต่การแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อ 11 ก.ย.2566 ว่า ประเทศเผชิญวิกฤติ ทั้งเศรษฐกิจปากท้อง-วิกฤติสังคม-วิกฤติรัฐธรรมนูญ

ประเดิมการทำงานในบทบาท “ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ” ของ “ชัยธวัช ตุลาธน” หัวหน้าพรรคก้าวไกล แสดงความเห็นปรามาสในฝีมือการทำงานของรัฐบาล สะท้อนการจัดสรรงบประมาณที่เน้นงาน “รูทีน” มากกว่า แก้ปัญหาวิกฤตที่เคยยกมา “สมอ้าง” เพื่อสร้างความชอบธรรมที่จะ “เปลี่ยนขั้วการเมือง” 

พร้อมกับตั้งฉายาให้รัฐบาลปัจจุบัน เป็น “รัฐบาลรวมการเฉพาะกิจ” ที่คิดแต่ เรื่อง “ปันอำนาจ” ไร้วาระหรือนโยบายร่วมที่จะขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อตอบโจทย์ความคาดหวังของคนไทยส่วนใหญ่ รวมถึง “นโยบายที่เป็นเรือธง” ของรัฐบาล

โดยคำอภิปรายของ “ชัยธวัช” ยังแฝงแนวคิดที่ทำให้ “สังคมก้าวหน้า” คล้อยตาม คือ การพิทักษ์สังคมแบบจารีต - ต่อต้านพลังสังคมใหม่ที่ต้องการอนาคตที่ดีกว่า ทั้งที่ในยุคสมัยนี้ ไม่มีใครปฏิเสธความเปลี่ยนแปลง หรือหลีกหนีได้พ้น

เท่ากับเป็นการฟาดหมัด ใส่ปลายคาง “รัฐบาล-เพื่อไทย” ที่มีประวัติการเมืองไม่สมยอมกับ “ระบบศักดินา” และ มีบทบาทต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชน มาอย่างยาวนาน

ต่อเนื่องจากผู้นำฝ่ายค้านพรรคก้าวไกล ส่ง “ศิริกัญญา ตันสกุล” มือเศรษฐกิจหญิงของพรรค ขึ้นมาฮุกหมัดทะลวงไส้ “เพื่อไทย” ที่ยอมรับการสืบทอดมรดก “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” หรือ คสช. ทั้งที่ “รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง” มีทางเลือกอื่น ผ่านการปรับเป้าหมาย-ยุทธศาสตร์-วางโจทย์ ไว้ที่ “ประชาชน”

นัยที่ “ศิริกัญญา” สะท้อนผ่านคำอภิปรายในเวทีงบประมาณ 67 คือ ด้อยค่ารัฐบาล ปรามาส “พรรคเพื่อไทย” ไร้ฝีมือในการบริหารราชการ สะท้อนผ่านตัวเลขทางงบประมาณ โดยเฉพาะการบริหารจัดการหนี้คงค้าง และอนาคตที่จะ “ก่อหนี้” จากการทำนโยบาย

 เช่น เติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต หรือ นโยบายเรือธง คือ “ซอฟต์พาวเวอร์” ที่คาดว่าจะใช้งบ 5,000 ล้านบาท แต่กลับไม่พบรายละเอียดที่กำหนดไว้แบบเฉพาะเจาะจง หรือการให้รัฐวิสาหกิจแบกรับภาระนโยบายลดรายจ่ายให้ประชาชน แต่ไม่พบการตั้งงบประมาณเพื่อชดเชย

“ศิริกัญญา” ตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า เมื่อไม่ตั้งงบชดเชยเงินคงคลัง แสดงว่าต้องมุ่งใช้งบกลาง และกลไกนอกงบประมาณ ที่สภาฯ ตรวจสอบได้ยาก คล้ายกับการ “ตีเช็คเปล่า” ให้รัฐบาลใช้เงินตามอำเภอใจ โดยไม่คำนึงถึงภาระทางการคลัง

ขณะที่พรรคคู่ปรับ “เพื่อไทย” อย่าง “ประชาธิปัตย์” ที่ยกให้ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์” เป็นผู้นำอภิปราย ฮุกหมัดใส่ปลายคาง “รัฐบาล” โดยขยี้แผลเก่า คือ “ความโปร่งใสในการใช้งบประมาณ” และ “เอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง” โดยเฉพาะ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ที่ถูกตั้งฉายาให้เป็น “นักโทษทิพย์”

ประเด็นที่ “พรรคฝ่ายค้าน” ยกมาเป็นประเด็น คล้ายเป็นการ “รัวหมัดไม่ยั้ง” ใส่ “รัฐบาล” จนเซ ทว่า “พลพรรคเพื่อไทย" เลี่ยงที่จะออกมาตอบโต้ตรงๆ แม้จังหวะหนึ่ง ส่ง “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” รมช.คลัง แทรกคิวชี้แจง แต่กลับเลี่ยงที่จะแก้ข้อกล่าวหา เพราะมองว่า เป็นแค่วาทกรรมการเมือง

ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่า ข้อกล่าวหานั้น จะกลายเป็นเรื่องหนักอก เพราะประชาชน-การเมืองนอกสภา รู้จุดที่จะจับตา- ตรวจสอบ เหมือนอย่างที่เพื่อไทยเคยทำหน้าที่ฝ่ายค้าน และชี้ช่องให้สังคมจับตาการทำงานของ “รัฐบาล คสช.” จนต้องแพ้ภัยตัวเอง

ในเวทีถกงบฯ 67 ไม่มีประเด็นซักค้านจาก “ก้าวไกล-ประชาธิปัตย์” ที่ทำให้รัฐบาลหนักอกเท่านั้น แต่ยังมีประเด็นหนักใจจากพรรคร่วมรัฐบาล ที่ส่ง “สส.ในสังกัด” ลุกขอ “งบฯเพิ่ม” ให้กับกระทรวง-หน่วยงานที่พรรคร่วมรัฐบาลเป็นเจ้ากระทรวงกันแบบดื้อๆ

ทั้งกรณีของ “พรรคพลังประชารัฐ” ที่ส่ง สส.คนสนิทในกลุ่มรัฐมนตรีของพรรค ของบให้กับ “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์-กรมการข้าว” ที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สส.พะเยา เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ และรมว.เกษตรฯ ดูแล หรือในหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข ที่ สันติ พร้อมพัฒน์รมช.สาธารณสุข ดูแล

สำหรับเหตุผลที่ยกมาประกอบคือ เป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกร-ระบบสาธารณสุขพื้นฐาน และประชาชน จำนวนมาก หากรัฐจะช่วยเหลือประชาชนจริง ต้องเพิ่มงบสนับสนุน แต่นัยที่แฝงเนื้อหาคือ การต่อรองงบประมาณ

จากการอภิปรายของ “ฝ่ายค้าน-พรรคร่วม” ในวันแรกของการ “ถกงบฯ 67” เชื่อว่า ทำให้หลังบ้าน “เพื่อไทย” ต้องร้อนรุ่ม เพราะนอกจากต้องแก้ข้อกล่าวหาให้สมราคาแล้ว ยังต้องเผชิญกับการต่อรองที่แฝงผลประโยชน์ทางการเมืองจาก “พรรคร่วมรัฐบาล”เขี้ยวลากดินอีก.

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

จับตา 48 ชั่วโมงอันตราย หลังระเบิดเลบานอน l World in Brief

รมต.เลบานอนเตือนระวังสถานการณ์บานปลายรุนแรง จากเหตุเพจเจอร์และวิทยุสื่อสารที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบา...

‘อาเซียน’ หันใช้คิวอาร์โค้ดพุ่ง ดันภูมิภาคสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’

นิกเคอิเอเชียรายงานว่า การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดเริ่มเป็นที่แพร่หลายในตลาดเกิดใหม่เมื่อหลายปีก่อน เ...

เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรกของนักการทูตแรกเข้า

“กัมพูชา” ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับไทย ซึ่งคนไทยสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้อย่างง่ายดายทั้ง...

“สถานการณ์ตอนนี้ไม่ง่ายเลย” ข้อความแรกของซีอีโอใหม่ Nike ถึงพนักงาน

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (20 ก.ย.) ว่า เอลเลียต ฮิลล์ ผู้บริหารคนใหม่ของ Nike Inc., กล่าวต่อ...