เปิดแผนปีงบ 67 รัฐระดมทุนผ่าน ESG บอนด์สูง 1.3 แสนล้าน

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา กระแสการลงทุนเพื่อความยั่งยืนมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยนักลงทุนทุกกลุ่มยังคงให้ความสนใจลงทุนในพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนในระดับค่อนข้างสูง เพื่อแสดงถึงความตระหนักในการลงทุนด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมควบคู่กับการพัฒนาสังคม สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.)ในฐานะผู้ระดมทุนจึงปรับพอร์ตให้สอดคล้องกับความต้องการดังกล่าว

โดยความสนใจเข้าร่วมประมูลพันธบัตรดังกล่าวของนักลงทุนที่อยู่ในระดับสูง สะท้อนจากจากต้นปี 2566 มียอดแสดงความสนใจลงทุน(BCR)ที่ 1.34 – 3.06 เท่าของวงเงินที่ประกาศ ทั้งนี้ ภาคเอกชนได้มีการออก ESG Bond ในตลาดอย่างต่อเนื่องจนมียอดคงค้างในตลาด ESG Bond อยู่ที่ 6.6 แสนล้านบาท ประกอบด้วย พันธบัตรรัฐบาล 4.12 แสนล้านบาท และหุ้นกู้ภาคเอกชน 2.48 แสนล้านบาท

ปีงบ 67 สบน.มีแผนออก ESG บอนด์ราว 1.3 แสนล้าน

นางจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล รองผู้อำนวยการ และรักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านหนี้สาธารณะสบน.เผยว่า ในส่วนของพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนนั้น (Sustainability Bond) สบน. ได้มีการออกSustainability Bond รุ่นอายุ 15 ปีเพื่อระดมทุนไปใช้ในโครงการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมตลาด ESG ในประเทศให้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมถึง สร้างความตระหนักในการลงทุนเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนแก่องค์กรหรือหน่วยงานอื่นๆ

โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 สบน. มีแผนที่จะดำเนินการออก ESG Bond รวมทั้งสิ้นประมาณ 1.2 -1.3 แสนล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา และคิดเป็น 10%ของปริมาณการออกพันธบัตรรัฐบาลในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

ทั้งนี้ สบน.ได้มีการประสานงานกับนักลงทุนหลักผ่านการประชุม Market Dialogue ซึ่งจัดเป็นรายไตรมาส พร้อมกับติดตามผลการประมูลพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง

“เราพบว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา กระแสการลงทุนเพื่อความยั่งยืนมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยนักลงทุนทุกกลุ่มยังคงให้ความสนใจลงทุนในพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนในระดับค่อนข้างสูง เพื่อแสดงถึงความตระหนักในการลงทุนด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมควบคู่กับการพัฒนาสังคม”

เปิดแผนระดมทุนรวมรัฐบาล 2.4 ล้านล้าน

ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รัฐบาลมีความต้องการระดมทุนอยู่ที่ระดับ 2.4 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น การกู้ใหม่ประมาณ 7 แสนล้านบา และการปรับโครงสร้างหนี้ประมาณ 1.70 ล้านล้านบาท

สบน. จะใช้กลยุทธ์กระจายการระดมทุนผ่านเครื่องมือกู้เงินที่หลากหลาย ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ให้ครอบคลุมนักลงทุนทุกกลุ่ม โดยจะพิจารณาพันธบัตรรัฐบาลเป็นอันดับแรกเป็นสัดส่วนประมาณ 50% ของความต้องการระดมทุนของรัฐบาล เนื่องจาก มีต้นทุนการกู้เงินอยู่ในระดับต่ำ สามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้ในระยะยาวและเป็นประโยชน์ในการบริหารพอร์ตหนี้ให้กับภาครัฐ

ลำดับถัดมา สบน. จะพิจารณาการระดมทุนผ่านตั๋วสัญญาใช้เงิน (Promissory Note) สัญญากู้เงิน(Term Loan) และตั๋วเงินคลัง (T-bill) เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดตราสารหนี้หรือป้องกันการแย่งชิงเม็ดเงินจากภาคเอกชนในช่วงใดช่วงหนึ่ง (Crowding out)

นอกจากนี้ สบน. ยังคงให้ความสำคัญกับการออมในภาคประชาชนและจะพิจารณาออกพันธบัตรออมทรัพย์ (Savings Bond) อย่างสม่ำเสมอเพื่อสนับสนุนการออมในภาคประชาชนและนักลงทุนรายย่อย

ตลาดการเงินโลกผันผวนปัจจัยหลักกระทบแผนระดมทุน

ที่ปรึกษาด้านหนี้สาธารณะกล่าวด้วยว่า ปัจจัยที่กระทบต่อการระดมทุนของรัฐบาล คือ ความผันผวนของตลาดการเงินโลก การเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์สถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ ล้วนส่งผลต่อการระดมทุนของรัฐบาล

อย่างไรก็ดี สบน. มีการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อติดตามสภาวะตลาดและดูแลสภาพคล่องของตลาดเงินตลาดทุน รวมถึง หารือเกี่ยวกับความต้องการของนักลงทุนและแง่มุมการลงทุนของนักลงทุนกลุ่มต่างๆ ผ่านการประชุม PDMO Market Dialogue เป็นประจำในทุกไตรมาสเพื่อกำหนดแนวทางการระดมทุนของรัฐบาลให้สอดคล้องกับสภาวะตลาดการเงินในแต่ละช่วงเวลาตลอดจนให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

ต้นทุนการกู้เงินเฉลี่ย 2.69% ต่อปี

สบน. ดำเนินการบริหารหนี้สาธารณะภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง ด้วยกลยุทธ์การบริหารหนี้สาธารณะระยะปานกลาง (Medium-Term Debt Management Strategy: MTDS) ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติสากลตามข้อแนะนำของธนาคารโลก(World Bank) ในการบริหารต้นทุนและความเสี่ยงของหนี้ โดยมีการจัดการความเสี่ยงของหนี้ใน 3 ด้าน คือ ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย และความเสี่ยงด้านการปรับโครงสร้างหนี้

ข้อมูล ณ สิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 รัฐบาลมีหนี้สาธารณะคงค้างจำนวน 11.13 ลลบ. คิดเป็น62.44%ของ GDP แบ่งเป็น หนี้รัฐบาลจำนวน 9.78 ล้านล้านบาท หนี้ของรัฐวิสาหกิจ 1.29 ล้านล้านบาท

เมื่อพิจารณาจากเครื่องมือการระดมทุนของรัฐบาล ซึ่งมีพันธบัตรรัฐบาลเป็นเครื่องมือการกู้เงินหลัก จะเห็นได้ว่า ต้นทุนการกู้เงินของรัฐบาลส่วนใหญ่เป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่กว่า 86% โดยมีต้นทุนการกู้เงินเฉลี่ย 2.69% ต่อปี ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่ต่ำมาก หรือคิดเป็น 0.48% ของหนี้สาธารณะความเสี่ยงด้านการปรับโครงสร้างหนี้ที่ระดับต่ำ และ Average Time to Maturity อยู่ที่ประมาณ 9 ปี

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

'นิคมโรจนะ'โซนอันตรายเหลือขายสูงสุดมูลค่า1.7หมื่นล้าน

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เผยผลสำรวจอุปทานโดยรวมภาคกลาง ในช่วงครึ่งแรกปี 2567 ที่อยู่อาศัยเสนอขายทั...

ตลาดหุ้นสหรัฐแทบไม่ขยับ นักลงทุนชะลอซื้อหลังดัชนีพุ่งแรงวันก่อน

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเล็กน้อยในวันศุกร์ (20 ก.ย.) เนื่องจากนักลงทุนชะลอการเข้าซื้อหุ้น...

เจาะพอร์ต 5 เซียนชื่อดัง ถือหุ้นปันผลสูงเกิน 5% รวม 18 หลักทรัพย์

การลงทุนในตลาดหุ้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้องค์ความรู้มาวิเคราะห์ สังเคราะห์ในทุกปัจจัยอย่างละเอียด ซึ่งม...

น้ำนมดิบอินทรีย์ สร้างรายได้ให้เกษตรกรครบวงจร

นางอังคณา พุทธศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 ชัยนาท (สศท.7) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (...