“เต้าหู้ขน” กินได้จริงหรือ อันตรายไหม หลังมีไวรัลเมนูฮิตจากจีน

กำลังเป็นที่ถกเถียงกันบนโลกออนไลน์ว่าเต้าหู้ขนสามารถกินหรือไม่ หลังมีหญิงสาวรายหนึ่งได้ออกมาสอนวิธีการทำ “เต้าหู้ขน” หรือ “เต้าหู้รา” ซึ่งวิธีการทำของเธอนั้นถูกชาวเน็ตวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ด้วยกรรมวิธีการทำที่ไม่สะอาด มีการใช้มือเปล่าๆ จับที่เต้าหู้ รวมถึงการใช้ใบตองห่อข้ามคืน กลายเป็นกระแสดังที่คนพูดถึงกันมากมาย

วันนี้ ทีมข่าวนิวมีเดีย พีพีทีวี ขออาสามาคลายข้อสงสัยให้กับทุกคนว่า “เต้าหูขน” คืออะไร และสามารถกินได้จริงไหม จะมีอันตรายต่อร่างกายหรือเปล่า?

รู้จัก “เต้าหู้”

ก่อนจะไปรู้จักเต้าหู้ขน มาทำความรู้จักกับเต้าหู้ก่อน เต้าหู้เป็นอาหารแปรรูปที่เป็นเอกลักษณ์ที่สุดของจีน ขั้นตอนการทำเมนูนี้นั้นจะเริ่มจากการนำถั่วเหลืองไปแช่น้ำค้างคืนจนพอง จากนั้นก็นำไปบดและกรองจนได้น้ำนมถั่วเหลืองออกมา เมื่อต้มน้ำนมถั่วเหลืองจนเดือด ก็นำผงแคลเซียมซัลเฟตใส่ลงไป ทิ้งไว้สักระยะหนึ่ง โปรตีนในน้ำนมถั่วเหลืองก็จะจับตัวเป็นก้อน และเมื่อนำเนื้อเต้าหู้ดิบเหล่านี้มาอัดให้เป็นก้อนก็จะได้เป็นเต้าหู้ที่เห็นขายทั่วไป นอกจากนั้นเนื้อและรูปร่างของเต้าหู้นั้นจะสามารถทำให้แตกต่างกันออกไปหลายแบบ ขึ้นกับสัดส่วนของวัตถุดิบและกรรมวิธีการทำของนักทำเต้าหู้แต่ละคน

“เต้าหู้ขน” คืออะไร

“เต้าหู้ขน” หรือ “เต้าหู้รา” (Hairy tofu) เป็นเต้าหู้ที่นิยมชนิดหนึ่งในประเทศจีน ด้วยกรรมวิธีการผลิตที่พิเศษกว่าเต้าหู้ชนิดอื่นๆ คือ เพิ่มการเติม “หัวเชื้อ” สำหรับการหมักและเร่งการจับตัวของโปรตีนเข้าไป เพื่อให้มีรสชาติที่เข้มข้นกว่าปกติ และชาวเมืองชอบนำไปทอดบนกระทะหรือย่างกินกับซอสพริก ซึ่งตัวตนที่แท้จริงของหัวเชื้อนี้ก็คือ “เชื้อรา” ชนิดหนึ่งนั่นเอง และด้วยวิธีการหมักแบบนี้เต้าหู้นี้จึงไม่นิยมหมักกันในหน้าร้อนที่อุณหภูมิสูง

เต้าหู้ขน มีเชื้อรา แล้วกินได้จริงหรือไม่

“หมอเอิร์ธ” ได้ออกมาพูดถึงประเด็นนี้ผ่านติ๊กต๊อก aertha33 อธิบายว่า เชื้อที่เห็น คือ “ไรโซปัส โอลิโกสปอรัส” (Rhizopus oligosporus) ปกติชาวอินโดนีเซียและชาวจีน จะนำมาหมัก นำมาประกอบอาหาร เพื่อกินกันในช่วงที่อาหารกำลังขาดแคลน โดยจะนำมาปรับปรุง ปรับแต่งพันธุกรรมไม่ให้เป็นพิษต่อระบบร่างกายและนำมาขาย

โดย “หมอเอิร์ธ” ย้ำว่า คนไทยไม่ควรหากินตาม เพราะเรื่องของ พรีไบโอติก โพรไบโอติก ของเต้าหู้ขนนี้ ยังไม่มีประโยชน์ที่เห็นได้ชัดเจนว่ากินเข้าไปแล้วจะได้พรีไบโอติกส์จริงๆ และที่สำคัญคือเต้าหู้ขนในประเทศจีนเขาทำในสภาพแวดล้อมที่สะอาด

นอกจากนี้ “หมอเอิร์ธ” ยังได้ให้คำแนะนำดังนี้

“ไรโซปัส โอลิโกสปอรัส” เป็นราในกลุ่มมิลค์คอร์ป ซึ่งสามารถทำให้เกิดโรคได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น

  • โรคเบาหวาน
  • มะเร็ง
  • ผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ
  • หรือผู้ที่ใช้ยากดภูมิหรือสเตียรอยด์นานๆ

กลุ่มคนพวกนี้จะมีกลไกในการกำจัดเชื้อโรคได้ไม่ดี ทำให้เกิดโรคได้ โ กลไกการเกิดโรค มี 2 แบบ คือ

  1. การสูดดมเอาสปอร์เข้าไป ส่งผลต่อปอดและเข้าไปสู่กระแสเลือด
  2. การกินเข้าไป เมื่อเรากินเข้าไปแล้วเชื้อราเหล่านี้จะเข้าไปอยู่ในกระเพาะของเรา ซึ่งรุนแรงถึงขั้นกระเพาะทะลุนั่นเอง

โดยรวมแล้วโรคเหล่านี้เป็นโรคที่วินิจฉัยค่อนข้างยาก ต้องได้รับยาจำเพราะ ฉะนั้นทำให้มีอัตราการตายที่สูงมาก เหมือนที่เราเคยได้ยิน การติดเชื้อราในกระแสเลือดนั่นเอง

ด้วยเหตุนี้จึงไม่แนะนำให้กินตามหรือทำตาม เพราะยังไม่มีที่ไหนสามารถยืนยันว่ากินแล้วจะได้พรีไบโอติกหรือโพรไบโอติก แถมยังมีโอกาสเกิดโทษได้สำหรับคนไข้ที่ระบบภูมิคุ้มกันไม่ดีอีกด้วย

อันตรายของ “เต้าหู้ขน”

ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาให้ข้อมูลเรื่องเต้าหู้ขนเป็นเสียงเดียวกันกับ “หมอเอิร์ธ” ผ่านเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ว่า เป็นเรื่องจริงที่ เต้าหู้ขน กินได้ แต่ควรทำให้สุก สะอาด และมีข้อควรระวังสำหรับคนที่มีโรคประจำตัว ภูมิคุ้มกันต่ำด้วย

โดย อาจารย์เจษฎ์ ระบุใจความสำคัญว่า คุณผู้หญิงท่านหนึ่งที่สอนทำเมนู “เต้าหู้ขน” แบบอาหารจีน ด้วยการนำเต้าหู้มาหมักบ่มกับเชื้อราที่ใช้ทำ "เทมเป้" ซึ่งเป็นเชื้อราชนิด ไรโซปัส โอลิโกสปอรัส จนมีราสีขาว ขึ้นฟูฟ่อง แล้วนำมากินให้ดูนั้น กินได้จริงหรือ ? แถมราขาวที่เห็นนั้น ก็มีราสีดำๆ ปนด้วยจะเป็นอันตรายหรือไม่ ?

คำตอบคร่าวๆ คือ เชื้อราเทมเป้ที่เอามาใช้ทำเต้าหู้ขนนั้น เป็นสายพันธุ์เชื้อราที่นำมาบริโภคได้ โดยไม่อันตรายกับคนทั่วไป แต่ต้องระวังในคนที่มีโอกาสแพ้เชื้อรา หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ และเมื่อเจริญเติบโตจนถึงช่วงสร้างสปอร์แล้ว ก็จะมีสปอร์สีดำจริงๆ

แต่ทั้งหมดนี้ต้องระมัดระวังเรื่องการปนเปื้อนของเชื้อรา ชนิดอื่นๆ ที่มากับอากาศ และเจริญเติบโตแทรกลงไปด้วย ซึ่งเชื้อจุลินทรีย์พวกนี้อาจจะทำให้เกิดปัญหากับสุขภาพได้ครับ

ดังนั้น ถึงแม้ว่าจะมั่นใจว่าไม่ได้มีเชื้ออื่นๆ ที่ปนเปื้อนมาก็ตาม ก็ควรจะนำไปทำเป็นอาหารที่ปรุงสุก ไม่ว่าจะเป็นการทอด , ย่าง , ผัด ฯลฯ เสียก่อน ดีกว่านำมากินสดๆอย่างในคลิป

หรืออีกนัยหนึ่ง ก็ควรมองในเชิงการได้สารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ (หรือที่เรียกว่า prebiotics พรีไบโอติก) มากกว่าที่จะกินเพื่อเอาเชื้อราที่ยังมีชีวิต (หรือ probiotics โพรไบโอติก) เข้าไป

ขอบคุณข้อมูลจาก : aertha33, อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ และ เทคโนโลยีการหมัก สจล.

ภาพจาก : ShutterStock

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

จับตา 48 ชั่วโมงอันตราย หลังระเบิดเลบานอน l World in Brief

รมต.เลบานอนเตือนระวังสถานการณ์บานปลายรุนแรง จากเหตุเพจเจอร์และวิทยุสื่อสารที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบา...

‘อาเซียน’ หันใช้คิวอาร์โค้ดพุ่ง ดันภูมิภาคสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’

นิกเคอิเอเชียรายงานว่า การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดเริ่มเป็นที่แพร่หลายในตลาดเกิดใหม่เมื่อหลายปีก่อน เ...

เปิดประสบการณ์เยือน ‘กัมพูชา’ ครั้งแรกของนักการทูตแรกเข้า

“กัมพูชา” ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับไทย ซึ่งคนไทยสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้อย่างง่ายดายทั้ง...

“สถานการณ์ตอนนี้ไม่ง่ายเลย” ข้อความแรกของซีอีโอใหม่ Nike ถึงพนักงาน

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (20 ก.ย.) ว่า เอลเลียต ฮิลล์ ผู้บริหารคนใหม่ของ Nike Inc., กล่าวต่อ...