ออกกำลัง “คาร์ดิโอ” ช่วยชีวิตคุณได้! กระตุ้นหัวใจ-ปอดลดเสี่ยงโรคNCDs

คาร์ดิโอ (Cardio Exercise) คือการออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับหัวใจและปอดเป็นหลัก โดยกระตุ้นให้หัวใจและปอดทำงานหนักขึ้น เมื่อปอดแข็งแรงขึ้นก็จะแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้ดีขึ้น และเมื่อหัวใจแข็งแรงขึ้นก็จะทำให้อัตราการเต้นของหัวใจลดลง ทั้งความดันโลหิตก็จะดีขึ้นด้วย นอกจากนี้การออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอยังช่วยเผาผลาญแคลอรีได้มาก จึงช่วยในเรื่องของลดน้ำหนักได้ดีและแน่นอนเมื่อร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง

ช่วยลดความเสี่ยงโรคเรื้อรังต่างๆ อย่างกลุ่มโรค NCDs โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อย่างเบาหวาน,ความดันโลหิตสูง,ไขมันในเลือดสูง,อ้วนลงพุง,หลอดเลือดหัวใจและสมอง

รู้ก่อนกำลังกายแบบคาร์ดิโอ

การเริ่มต้นออกกำลังกายใหม่ๆ ควรคำนึงถึงความพร้อมและสังเกตการตอบสนองของร่างกายให้ดี หากมีอาการเวียนหัว เหนื่อยหอบ ใจเต้นผิดปกติ กล้ามเนื้อล้า ให้ผ่อนแรงลงช้าๆ แล้วหยุดพัก แต่อย่าหยุดชะงักแบบทันทีทันใด เพื่อให้ร่างกายและหัวใจได้มีเวลาปรับตัวให้ทำงานช้าลง ทั้งนี้หากมีอาการดังกล่าวควรรีบปรึกษาแพทย์

ประโยชน์จากการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ

  • ลดน้ำหนัก โดยเฉพาะหากทำควบคู่ไปกับการดูแลโภชนาการ ก็ยิ่งจะช่วยลดน้ำหนักได้ดีขึ้นไปอีก
  • เสริมสร้างความแข็งแรง เพราะการออกกำลังกายจะกระตุ้นให้หัวใจทำงานหนักขึ้น จึงช่วยให้หัวใจแข็งแรงและสูบฉีดเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งย่อมส่งผลดีต่อระบบไหลเวียนเลือด ทั้งยังช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น เมื่ออายุมากขึ้นจึงยังสามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ดี ที่สำคัญ ยังช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน จึงช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส ทำให้ไม่ป่วยง่าย
  • ลดเสี่ยงปัญหาสุขภาพ การออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ ทั้งโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง เพราะช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล โดยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) และกำจัดคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) ทั้งยังลดความเสี่ยงโรคอ้วน ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และมะเร็งบางชนิด ยิ่งหากออกกำลังกายจนสามารถควบคุมน้ำหนักตัวได้ดี ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุนได้ด้วย

  • ลดอาการของโรคเรื้อรังต่างๆ กรณีผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรัง การออกกำลังกายอย่างเหมาะสมจะช่วยลดระดับความดันโลหิต ลดระดับน้ำตาลในเลือด ไขมันในเลือด และเพิ่มความแข็งแรงของหัวใจ เป็นต้น แต่ผู้ป่วยควรออกกำลังกายในระดับที่เหมาะสมโดยปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
  • ฟื้นฟูสุขภาพจิต ผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิต อย่างอารมณ์ซึมเศร้า หรือมีความเครียด การออกกำลังกายจะช่วยให้จิตใจผ่อนคลาย และเมื่อทำอย่างต่อเนื่องจะรู้สึกได้ถึงการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ที่ดีขึ้น ผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำจะรู้สึกเบิกบานและสดชื่นอยู่เสมอ

เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และทำให้ได้อย่างน้อยครั้งละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 ครั้ง เพื่อให้ได้เวลารวมมากกว่า 150 นาทีต่อสัปดาห์ และระมัดระวังไม่ออกกำลังกายเกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน เพราะความเหนื่อยล้าอาจทำให้ภูมิคุ้มกันตก หรืออาจทำให้เส้นเอ็น กล้ามเนื้อ และข้อต่อต่างๆ ต้องทำงานหนักเกินไป จนส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บหรืออักเสบ ซึ่งจะกลายเป็นโทษมากกว่าจะได้รับประโยชน์นั่นเอง

ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลพญาไท

ภาพจาก : freepik

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...