'มลพิษทางอากาศ' ‘มฤตยูเงียบ’คร่าชีวิตพลเมืองโลก

ในปี 2556 “เอลลา คิสซี-เดบราห์” เด็กหญิงวัย 9 ขวบ เสียชีวิตจากโรคหอบหืดเฉียบพลันรุนแรง หลังใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายอาศัยอยู่ในคอนโดสูง 30 เมตร บนถนนเซาท์เซอร์คิวลาร์ที่แสนวุ่นวาย ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และต้องไปโรงพยาบาลบ่อย ๆ หลังมีอาการชักหลายครั้ง

เจ้าหน้าที่ชันสูตรศพ ประกาศเมื่อปี 2563 ว่า สาเหตุการเสียชีวิตของเด็กหญิงรายนี้ เกิดจากควันพิษของการจราจรบนถนน ที่เด็กหญิงหายใจเข้าไป ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณะสุขจึงเชื่อว่า คิสซี-เดบราห์ เป็นเหยื่อของมลพิษทางอากาศ ที่เป็นวิกฤติฉุกเฉินระดับโลก

ด้านองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) คาดการณ์ว่า มลพิษทางอากาศ เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากรมากกว่า 7 ล้านคนทั่วโลกในทุกปี ก่อให้เกิดโรคปอด โรคหัวใจ มะเร็งปอด และการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ โดยประชากรเกือบทั่วโลก 99% หายใจนำอากาศสกปรกเข้าไป มากกว่าระดับที่ดับเบิลยูเอชโอแนะนำ

งานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารเดอะแลนซิต โดยทีมนักวิทยาศาสตร์จีน เมื่อเดือน ส.ค. เผยว่า มลพิษทางอากาศ เพิ่มความต้านทานยาปฏิชีวนะ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดว่า ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร 480,000 คน และมีผู้เสียชีวิต 18 ล้านคนทั่วโลก ในปี 2561

ด้านนักวิทยาศาสตร์ฮาวาร์ด พบความเชื่อมโยงว่า มลพิษจากการเผาไหม้คาร์บอน ก่อให้เกิดความเสี่ยงของโรคมะเร็งบางชนิด

“โซฟี กุมี” หัวหน้าฝ่ายเทคนิค ของกรมสิ่งแวดล้อม สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง และสุขภาพของดับเบิลยูเอชโอ บอกว่า มลภาวะทางอากาศแบ่งเป็นสองประเภท ได้แก่ ก๊าซ และอนุภาคที่เกิดจากการเผาไหม้คาร์บอนโดยตรง หรือกลไกรองอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น ไนตรัสออกไซด์ เป็นกลุ่มก๊าซที่ผลิตมาจากยานยนต์ การผลิตพลังงานที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล อุตสาหกรรมโรงกลั่น และโรงงานเคมี เป็นต้น

ไนโตรเจนไดออกไซด์ มลพิษปฐมภูมิทำให้เกิดอาการหอบหืด และโรคทางเดินหายใจ แต่ไนโตรเจนไดออกไซด์ และไนโตรเจนออกไซด์ชนิดอื่น ๆ สามารถทำปฏิกิริยากับรังสีอัลตราไวโอเลตของแสงอาทิตย์ และสารอินทรีย์ระเหยง่าย ก่อให้เกิดมลพิษทุติยภูมิ เช่น โอโซนระดับภาคพื้น ซึ่งทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา อาทิ เกิดการอักเสบในอวัยวะต่าง ๆ และทำลายระบบทางเดินหายใจ

“สกอตต์ บูดิงเจอร์” ประธานศูนย์ดูแลปอดและอาการวิกฤติ จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยไฟน์เบิร์ก ย้ำถึงผลวิจัย พบว่า หากผู้คนสัมผัสกับอนุภาคมลพิษทางอากาศมากขึ้น อาจมีผู้เสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนทางสุขภาพหลายอย่างเพิ่มขึ้น

ด้านกุมี บอกว่า อวัยวะที่รับภาระจากมลพิษมากที่สุดคือหัวใจ

“ผู้คนคิดว่ามลพิษทางอากาศ ก่อให้เกิดปัญหาทางระบบหายใจ แต่อนุภาคมลพิษที่เข้าไปในปอด และเดินทางเข้าสู่กระแสเลือด ส่งผลให้เซลล์ในร่างกายอักเสบ หัวใจเกิดภาวะเครียด ทำให้เกิดปัญหาโรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดตามมา เช่น โรคหัวใจวาย และโรคหลอดเลือดสมอง” กุมี เตือน

อย่างไรก็ตาม อย่าเพิ่งหมดหวังหรือท้อแท้ เพราะสนามรบมลพิษเหล่านี้ ยังมีแสงสว่างนำพาชัยชนะมาให้เราได้อยู่

สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐ (อีพีเอ) คาดว่า กฎหมายอากาศสะอาด จะช่วยรักษาชีวิตผู้คนทั่วสหรัฐได้หลายแสนคน ตลอด 50 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่กฎหมายนี้เริ่มใช้

ด้วยอานิสงส์ของอนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนระยะไกล 1979 (แอลอาร์ทีเอพี) ที่สร้างกรอบความร่วมมือทางภูมิภาค เพื่อแก้ไขมลพิษทางอากาศทั่วยุโรป อเมริกาเหนือ อดีตสหภาพโซเวียต และพันธมิตรในสนธิสัญญาวอร์ซอว์ ทำให้ประเทศในยุโรปหลายแห่ง ลดมลพิษทางอากาศได้มาก โดยเฉพาะการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์

ยกตัวอย่างเช่น การปล่อยมลพิษไนตรัสออกไซด์, ซัลเฟอร์ไดออกไซด์, คาร์บอนมอน็อกไซด์, คาร์บอนดำ และคาร์บอนอินทรีย์ในชั้นบรรยากาศทั่วโลก เริ่มลดลงตั้งแต่ปี 2555 หรือก่อนหน้านั้น เป็นผลมาจากการลดมลพิษในประเทศจีน อเมริกาเหนือ และยุโรป

อย่างไรก็ตาม กระบวนการลดมลพิษไม่ได้ดำเนินการเพียงประเทศร่ำรวยเท่านั้น แต่การลดมลพิษในภาคอุตสาหกรรมขนส่งของอินเดียและแอฟริกา รวมถึงการลดมลพิษในภาคอุตสาหกรรมพลังงานอินเดีย ทำให้การปล่อยมลพิษไนตรัสออกไซด์ทั่วโลกลดลง 60% และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ลดลง 14%

แต่ตัวเลขข้างต้นยังไม่ใช่ข่าวดีเสียทีเดียว เพราะการบริโภคพลังงานทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการปล่อยก๊าซแอมโมเนียยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากการทำฟาร์ม

“มาเรีย เนรา” ผู้อำนวยการกรมสิ่งแวดล้อม สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง และสุขภาพของดับเบิลยูเอชโอ บอกว่า ในชีวิตจริงการเดินทางไปข้างหน้าไม่ได้มีแค่ทางเดียว แต่มีหลายหนทางสำหรับหลายภูมิภาคที่แตกต่างกัน หากจะให้ภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง หรือประเทศใดประเทศหนึ่ง พัฒนามาตรฐานคุณภาพอากาศสำหรับการปล่อยมลพิษของอุตสาหกรรม ยังคงไม่เพียงพอ โดยเฉพาะยุคที่เผชิญกับความเสี่ยงทางสุขภาพ จากมลพิษทางอากาศในทุก ๆ วัน

“ผู้คนควรเข้าใจความหมายของข้อมูลมลพิษ ไม่ใช่เพื่อดูปริมาณมลพิษ แต่ควรรู้ไว้ว่า เราต้องมีสิทธิได้หายใจใช้อากาศที่ไม่ฆ่าคุณในแต่ละวัน” เนรา กล่าว
 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘ไต้ฝุ่นยางิ’ ทำ ‘เศรษฐกิจเวียดนาม’ เสียหายกว่า 5 หมื่นล้านบาท

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า พายุไต้ฝุ่นยางิ ถล่มเมียนมา เวียดนาม ลาว และไทยด้วยกำลังลมที่แรงมาก และทำใ...

ท่วมหนักสุด 'ในรอบ 3 ทศวรรษ' พายุบอริสถล่มยุโรป ผลกระทบจากโลกร้อน

จากหย่อมความกดอากาศต่ำที่ชื่อว่า “พายุบอริส” ส่งผลให้มีฝนตกหนักจากออสเตรียไปจนถึงโรมาเนีย จนเกิด “น้...

ฮามาสโวความสามารถสูง ทำสงครามกาซาต่อได้แม้สูญเสีย

นายโอซามา ฮัมดัน ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอเอฟพี เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่นครอิสตันบูลของตุรกี ระบุ “ขบวนก...

สงครามสู้ฮามาสและยอดส่งออกร่วง กดดันจีดีพี ‘อิสราเอล’ Q2 ให้โตเพียง 0.7%

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของอิสราเอลในไตรมาสที่สองชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไ...