กลุ่มธุรกิจ TCP เผยผลสำรวจคนทำงานด้านความยั่งยืน ชี้ประเด็น Net Zero ต้องทำทันที

5 ตุลาคม 2566 กลุ่มธุรกิจ TCP สำรวจความคิดเห็นคนทำงานด้านความยั่งยืนในภาคธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม เห็นพ้องว่าการลงมือทำเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องลงมือทำทันที ผ่านกิจกรรมที่ลดใช้คาร์บอน การใช้บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ซ้ำได้ พร้อมชี้ "ขยะ" เป็นปัญหาใกล้ตัวที่ต้องแก้ไขเป็นอันดับแรก

งาน TCP Sustainability Forum 2023 ภายใต้แนวคิด "Net Zero Transition...From Commitment to Action" หรือการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero จากพันธสัญญาสู่การปฏิบัติ อีกหนึ่งความตั้งใจจริงในการปลุกพลังความร่วมมือของภาคธุรกิจเพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน โดยมีผู้เข้าประชุมมากกว่า 200 คน ซึ่งนอกจากจะได้รับฟังความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากนักวิชาการภาคสังคม นักธุรกิจ นักคิด นักปฏิบัติ และพันธมิตรในแวดวงธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มแล้ว ผู้ร่วมงานยังได้ทำแบบสำรวจความคิดเห็น สะท้อนมุมมองต่อวาระที่เร่งด่วนในการทำงานด้านความยั่งยืน โดยมีผลสำรวจที่น่าสนใจ ดังนี้ 

การรับมือกับ Climate Change มีความสำคัญที่สุดในการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero

ผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมดลงความเห็นว่า การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมสู่เป้าหมาย Net Zero เป็นเรื่องที่ต้องลงมือแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดย 61% ระบุว่ากิจกรรมที่มีบทบาทสำคัญสูงสุดต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero ให้ได้ในทางปฏิบัติ คือการรับมือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ไม่ว่าจะเป็นลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ใช้รถสาธารณะ ลดการใช้พลังงาน ใช้พลังงานหมุนเวียน ลดการเผาไหม้ ปลูกต้นไม้ และเปลี่ยนมาใช้รถขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าให้มากขึ้น เป็นต้น

อีก 24% ให้ความสำคัญกับกิจกรรมเกี่ยวกับ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เช่น การใช้ซ้ำ ลดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง การแยกขยะ การใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลได้ เป็นต้น

นอกจากนี้ 11% ของผู้เข้าร่วมประชุมตอบว่า การกำหนดนโยบายและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจะช่วยขับเคลื่อนสู่ Net Zero ได้สำเร็จ และ 4% ไม่แสดงความคิดเห็น 

"ขยะ" ปัญหาใกล้ตัวที่ต้องแก้ไขเป็นอันดับแรก

นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถาม 49% เห็นว่า ปัญหาขยะ เช่น การบริหารจัดการขยะให้ถูกต้อง เป็นปัญหาใกล้ตัวที่มีความจำเป็นและต้องเริ่มลงมือแก้ไขเป็นอันดับแรก รองลงมา 38% ให้ความสำคัญกับปัญหาเกี่ยวกับสภาพอากาศ อาทิ ฝุ่น PM 2.5 และอันดับ 3 คือปัญหาเรื่องน้ำ อยู่ที่ 12% โดยระบุถึงปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเสีย เป็นต้น และปัญหาอื่นๆ อีก 1% เมื่อสอบถามความท้าทายในระดับองค์กร ผู้ร่วมงานยังคงระบุลำดับของปัญหาเรื่องขยะ อากาศ และน้ำ ในทิศทางเดียวกัน แสดงให้เห็นว่ามีความตระหนักถึงความรุนแรงและเร่งด่วน 

องค์กรมากถึง 84% มีผู้ทำงานด้านความยั่งยืนแล้ว

เมื่อเจาะลึกลงไปในกลุ่มคู่ค้าของ กลุ่มธุรกิจ TCP สะท้อนให้เห็นแนวโน้มที่ดีในการลงมือเพื่อเปลี่ยนผ่าน โดย 84% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า องค์กรของตนมีผู้รับผิดชอบด้านความยั่งยืนแล้ว ที่สำคัญคือ 100% เห็นด้วยว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อม จำเป็นต้องลงมือแก้ไขเร่งด่วน และองค์กรพันธมิตรที่มาร่วมงานสูงถึง 71% ได้เริ่มลงมือทำงานด้านความยั่งยืน

คู่ค้า 71% เริ่มลงมือทำแล้ว

อย่างไรก็ดี มีสัญญาณที่ดีว่า องค์กรพันธมิตรที่มาร่วมงานสูงถึง 71% ได้เริ่มลงมือทำงานด้านความยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้ว ในขณะที่ 26% อยู่ในระหว่างเริ่มวางแผนการทำงานเพื่อรับมือกับปัญหานี้ โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือ การลงมือปฏิบัติ และอีก 3% ยังไม่ได้เริ่มต้น

ผู้เข้าร่วมประชุมยังระบุด้วยว่า องค์กรของตนวางเป้าหมายด้านความยั่งยืน เพราะเห็นความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อม ต้องการเป็นส่วนหนึ่งที่ใส่ใจดูแลโลก ตอบสนองความต้องการของลูกค้า เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และบริหารความเสี่ยง ตามลำดับ

นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวสรุปว่า การเดินหน้าสู่ Net Zero ให้สำเร็จจริงได้นั้น นอกจากกำหนดให้เป็นกลยุทธ์ของธุรกิจ มองหาทางเลือกใหม่ นวัตกรรม และการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนแล้ว ต้องกำหนดเป้าหมายที่ทำได้จริงคือ เป็นไปได้ทั้งในเชิงทฤษฎีและปฏิบัติ อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน วันนี้เรามารวมพลังกัน การทำงานด้านความยั่งยืนไม่ควรเป็นความลับ ต้องแลกเปลี่ยนกันอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มอัตราเร่งสู่ Net Zero และต้องแข่งกับเวลาเพื่อนำไปสู่โลกที่ดีกว่า

สำหรับ กลุ่มธุรกิจ TCP ได้ลงมือทำงานด้านความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเริ่มต้นเปลี่ยนที่องค์กรเอง อาทิ การนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภค การยกระดับบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน เช่น การวิจัยพัฒนาเพื่อลดการใช้วัสดุ การเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ที่ต้องรีไซเคิลได้ การร่วมมือกับพาร์ทเนอร์เพื่อการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์สู่ระบบรีไซเคิล การออกแบบอาคารและการทำงานที่ประหยัดพลังงาน เป็นต้น รวมถึงทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ในการบริหารจัดการปัญหาขยะ อากาศ และน้ำ ภายใต้แนวคิด Circular Economy เพื่อเร่งขับเคลื่อนเป้าหมาย Net Zero ของประเทศไทย

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

'นิคมโรจนะ'โซนอันตรายเหลือขายสูงสุดมูลค่า1.7หมื่นล้าน

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เผยผลสำรวจอุปทานโดยรวมภาคกลาง ในช่วงครึ่งแรกปี 2567 ที่อยู่อาศัยเสนอขายทั...

ตลาดหุ้นสหรัฐแทบไม่ขยับ นักลงทุนชะลอซื้อหลังดัชนีพุ่งแรงวันก่อน

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเล็กน้อยในวันศุกร์ (20 ก.ย.) เนื่องจากนักลงทุนชะลอการเข้าซื้อหุ้น...

เจาะพอร์ต 5 เซียนชื่อดัง ถือหุ้นปันผลสูงเกิน 5% รวม 18 หลักทรัพย์

การลงทุนในตลาดหุ้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้องค์ความรู้มาวิเคราะห์ สังเคราะห์ในทุกปัจจัยอย่างละเอียด ซึ่งม...

น้ำนมดิบอินทรีย์ สร้างรายได้ให้เกษตรกรครบวงจร

นางอังคณา พุทธศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 ชัยนาท (สศท.7) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (...