บริษัทซื้อขายที่ดิน-โอนกรรมสิทธิ์แยกตามผู้ถือหุ้นได้ไหม เสียภาษีอย่างไร

เปิดข้อน่ารู้เกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จากกรณีการซื้อขายที่ดิน “แสนสิริ” ที่ถูกระบุว่า เข้าข่ายเลี่ยงการเสียภาษี ทำให้ผู้ที่จะซื้อขายที่ดินโดยเฉพาะในนามบริษัท คณะบุคคล เกิดข้อสงสัยและกังวลว่า ตนเองได้ทำการซื้อขายที่ดินถูกต้องตามกฎหมายกำหนดหรือไม่ จะถูกตรวจสอบและโดนภาษีย้อนหลังหรือไม่

ดังนั้น กิจการที่ทำธุรกิจซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ควรทำความเข้าใจให้ถ่องแท้เสียก่อนว่าต้องโอนซื้อที่ดินหรือโอนกรรมสิทธิ์อย่างไร รวมถึงต้องเสียภาษีถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ ดังจะอธิบายได้ดังนี้ ​

  • หน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เมื่อซื้อขายที่ดินในนามบริษัท

เนื่องจากการซื้อขายที่ดิน หากทำในนามบุคคลธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นคนทั่วไปหรือคณะบุคคล ผู้ขายหรือผู้รับเงินมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่เมื่อใดก็ตามที่มีขายที่ดินในนามบริษัทนิติบุคคล ผู้ประกอบการจะต้องนำรายได้จากการขายที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นๆ รวมทั้งปี ยื่นเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสิ้นปี

โดยใช้สูตรในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลคือ

(รายได้ – ค่าใช้จ่าย) = กำไรสุทธิ

ทั้งนี้ หากเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ Small and Medium Enterprises (SMEs) คือ มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้รวมไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี ให้นำกำไรสุทธิที่ได้มาคิดภาษีเปรียบเทียบตามอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ดังนี้

  • กำไร 300,000 บาทแรก            ​=      ​ยกเว้นภาษี
  • กำไร 300,001 – 3 ล้าน            ​=      ​ภาษี 15%
  • กำไรมากกว่า 3 ล้านบาทขึ้นไป   ​=      ​ภาษี 20%

แต่ถ้าหากไม่ใช่ธุรกิจ SMEs ให้จัดอยู่ในอัตราภาษีเท่ากับ 20% ตั้งแต่กำไรบาทแรก

โดยสามารถอธิบายให้เห็นภาพชัดเจนได้ดังนี้

ขายที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ รวมทั้งปี (รายได้) 50,000,000 บาท
ต้นทุน​ ​20,000,000 บาท
จากนั้นนำ 50,000,000 – 20,000,000 ​​= 30,000,000 บาท (กำไรสุทธิ)

นำกำไรสุทธิที่ได้คำนวณภาษีเปรียบเทียบตามอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล (20%)

ภาษีที่ต้องเสียคือ 6,000,000 บาท

ทว่ายอดภาษีจากการขายที่ดินที่ต้องเสียนี้ ยังนำภาษีหัก ณ ที่จ่าย 1% ที่ถูกหักไว้ตอนโอนกรรมสิทธิ์ มาหักลบได้ (ซึ่งจะอธิบายในหัวข้อถัดไป) รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ของกิจการ สามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้อีก

  • หน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย เมื่อซื้อขายที่ดินในนามบริษัท

การหักภาษี ณ ที่จ่าย เมื่อนิติบุคคลได้ทำการซื้อขายที่ดิน นิติบุคคลผู้ขายที่ดินจะถูกหัก 1% ของราคาประเมินหรือราคาขาย แล้วแต่อย่างใดสูงกว่า โดยมีรายละเอียด หลักเกณฑ์วิธีการหักภาษี ณ ที่จ่ายดังนี้

1.ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย คือผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ ซึ่งได้แก่ ห้างหุ้นส่วน บริษัท สมาคม คณะบุคคล ซึ่งจ่ายเงินค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

2.ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย คือผู้ขายอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งได้แก่ บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

3.อัตราการหักภาษี ณ ที่จ่าย ผู้จ่ายเงินซื้ออสังหาริมทรัพย์ จะต้องหักภาษีจากเงินที่จ่าย 1% ของราคาขายหรือราคาประเมินทุนทรัพย์ของกรมที่ดิน แล้วแต่อย่างใดมากกว่า

โดยหักเมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ และสามารถนำภาษีหัก ณ ที่จ่ายนี้มาเป็นเครดิตภาษีนิติบุคคลตอนสิ้นปีได้

  • หน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ เมื่อซื้อขายที่ดินในนามบริษัท

ตามหลักการเมื่อมีการขายที่ดิน ทั้งในนามนิติบุคคลและคณะบุคคล จะได้ยกเว้นไม่ต้องเสีย “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” แม้ว่าจะเป็นผู้ประกอบการจด VAT อยู่แล้วก็ตาม เนื่องจากจะต้องเสีย “ภาษีธุรกิจเฉพาะ” แทน โดยผู้ประกอบการที่มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะด้วยแบบคำขอ ภ.ธ.01 ภายใน 30 วันนับแต่วันเริ่มกิจการด้วย

ทั้งนี้ รายได้จากการขายที่ดินที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ คือภาษีสำหรับที่ดินเพื่อการค้าหรือหากำไร โดยจะเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตรา 3% บวกกับภาษีสำหรับราชการส่วนท้องถิ่นอีกร้อยละ 10 ของภาษีธุรกิจเฉพาะ รวมเป็นร้อยละ 3.3 ของราคาประเมินหรือราคาขาย ขึ้นอยู่กับว่าราคาไหนสูงกว่ากัน ซึ่งบริษัทนิติบุคคลจะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะทันทีที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่กรมที่ดิน โดยไม่ต้องดูเวลาการถือครองอสังหาริมทรัพย์

สรุป... กรณีศึกษาโอนกรรมสิทธิ์แยกตามจำนวนผู้ถือหุ้นได้หรือไม่

เมื่อมาถึงบรรทัดนี้ อาจเห็นได้ว่าบริษัทนิติบุคคลที่ทำธุรกิจซื้อขายที่ดิน มีหน้าที่ต้องเสียภาษีหลายอย่างและค่อนข้างซับซ้อน รวมถึงบริษัทผู้ขายที่ดินมีหน้าที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการโอน 2% จากราคาประเมินอสังหาริมทรัพย์หรือราคาขาย ขึ้นอยู่กับว่าราคาไหนมีมูลค่ามากกว่ากัน

และรูปแบบการประกอบกิจการในนามบริษัทจำเป็นต้องมีหุ้นส่วน ดังนั้น เมื่อมีการขายที่ดินกรรมสิทธิ์รวมผู้ถือหุ้นทั้งหมด เช่นกรณีศึกษาเรื่องการโอนกรรมสิทธิ์แยกตามจำนวนผู้ถือหุ้นได้หรือไม่นั้น กฎหมายกำหนดว่า หากในกรรมสิทธิ์ผู้ถือหุ้นแม้ว่าจะมีการบรรยายส่วนการถือกรรมสิทธิ์ไว้ แต่ถ้าหากไม่ได้จดทะเบียนบรรยายว่า ใครถือกรรมสิทธิ์ในส่วนไหน เป็นจำนวนเนื้อที่เท่าไรไว้อย่างชัดเจน จะถือว่าผู้ถือหุ้นทั้งหมดถือกรรมสิทธิ์รวมกัน ตามมาตรา 1356 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

กล่าวคือ ได้ที่ดินมาพร้อมกัน ไม่ได้จดทะเบียนบรรยายว่าของใครอยู่ส่วนไหน และมีเนื้อที่เท่าไรอย่างชัดเจน

ขายให้กับผู้ซื้อซึ่งเป็นบริษัทเดียวกัน ขายในเวลาพร้อมกัน และมีเจตนาร่วมลงทุนในการขายที่ดิน เจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมแต่ละคนจะแยกยื่นเสียภาษีในนามของตนเองไม่ได้นั่นเอง

 


----------------------------------
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...