สศช. ถกโมเดลเปลี่ยนผ่านประเทศ โตอย่างยั่งยืนและทั่วถึง

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ จัดงานประชุมประจำปี 2566 ในหัวข้อ “Transitioning Thailand: Coping with the Future” เมื่อวันที่ 18 ก.ย.2566 แลกเปลี่ยนมุมมองและแนวคิดการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยเพื่อรับมือกับความเสี่ยงและความผันผวนของโลกในอนาคต 

รวมทั้งเปิดเวทีเสวนาหัวข้อ “Inclusive Green Growth Transition” โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิร่วมแสดงความคิดเห็นและมุมมองเกี่ยวกับการรับมือกับความเสี่ยงต่างๆ และสร้างจุดเปลี่ยนในการนำพาประเทศก้าวไปข้างหน้าอย่างทั่วถึงและยั่งยืน

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า ผลการพัฒนาในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2565) เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพียง 1.4% หากไม่รวมปีที่เกิดโควิดจะขยายตัวอยู่ที่ 2.6% ซึ่งไม่เป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ว่าจะขยายตัว 5% เนื่องจากผลกระทบจากหลายปัจจัย ตั้งแต่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน กระทั่งเกิดการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ภาคการท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจหลักมีรายได้ลดลงอย่างมาก ซึ่งแม้ในปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวกลับเข้ามาแต่ก็ยังมีค่าใช้จ่ายต่อหัวที่น้อยลงกว่าในอดีต 

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่น่ากังวลเรื่องอัตราการออมที่น้อยลง อัตราการฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้น ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงการศึกษาที่สะท้อนจากผลคะแนนสอบโอเน็ตที่ยังต่ำกว่า 50% รวมทั้งภาพรวมประสิทธิภาพภาครัฐที่มีอันดับลดลง

ขณะที่ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ และสถานการณ์ความยากจนปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องสำหรับเศรษฐกิจฐานรากมีความเข้มแข็งและชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ จากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าสินค้าชุมชนต่อเนื่องจากปี 2560 โดยรายได้จากการจำหน่ายสินค้า OTOP จำนวน153,467 ล้านบาท เป็น 244,778 ล้านบาท ในปี 2565

ก้าวหน้าลงทุนอีวี-อิเล็กฯ

ส่วนการขับเคลื่อนแผนฯ 13 ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาถือว่ามีความก้าวหน้าในการส่งเสริมภาคการผลิตที่มีผลตอบรับอย่างดีโดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด มีการลงทุนในประเทศไทยจากผู้ผลิตหลายราย รวมทั้งอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่เป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชนกำลังจะเข้ามาลงทุนมากขึ้น และมีการตั้งโรงงานแบตเตอรี่ในประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีการยกระดับภาคเกษตรเป็นสมาร์ตฟาร์มมิ่ง กำหนดตำบลนำร่อง 20-30 ตำบลทดลองใช้เทคโนโลยีเครื่องจักรเพื่อการเกษตรก่อนขยายผลไปในพื้นที่อื่นๆ ด้านอุตสาหกรรมการแพทย์และเครื่องมือแพทย์มีการเข้ามาลงทุนในมากขึ้น ซอฟต์พาวเวอร์ด้านอาหารที่มีชื่อเสียงในระดับโลกมากขึ้น การเปิดทางให้กองถ่ายภาพยนต์ต่างชาติเข้ามาทำงานได้ง่ายขึ้นและระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาค ที่มีการกำหนดสิทธิประโยชน์แล้ว อยู่ในขั้นตอนชักชวนลงทุนเข้ามาในพื้นที่

ในแง่ของทรัพยากรธรรมชาติมีการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านน้ำและพลังงาน โดยเฉพาะเชื้อเพลิงสะอาด อยู่ระหว่างการศึกษาเชื้อเพลิงไฮโดรเจนในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะส่งเสริมการผลิตภาคอุตสาหกรรมในประเทศให้มีพลังงานสีเขียวใช้

ขณะเดียวกันยังมีการพัฒนาระบบบริหารภาครัฐดิจิทัล การออกใบอนุมัติ อนุญาตให้รวดเร็วผ่านระบบอิเล็กมรอนิกส์เพื่อให้ลดต้นทุนทั้งค่าใช้จ่ายและต้นทุนด้านเวลา รวมทั้งดิจิทัลทรานส์ฟอเมชั่นด้านทักษะแรงงาน

อนาคตยังมีความเสี่ยง

“ทั้งนี้ ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ประเทศไทยยังเผชิญความเสี่ยงเรื่องความไม่ปกติ จากปัญหาเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง ค่าครองชีพสูง ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจหลักในยุโรปรวมทั้งจีน ซึ่งเราไม่รู้ว่าขนาดของปัญหานั้นลึกและกว้างขนาดไหน ขณะที่ความเสี่ยงเรื่องภัยธรรมชาติที่จะมีความถี่และความรุนแรงที่มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่เรื่องความมั่นคงทางอาหารในอนาคต”

ขณะที่ความเสี่ยงในระยาวอีก 10 ปีข้างหน้า มองว่าส่วนใหญ่เป็นวิกฤติการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งเกิดจากการไม่สามารถจัดการกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ ประกอบกับแรงหนุนจากแนวโน้มทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจ จะนำไปสู่ความเสี่ยงจากการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและการล่มสลายของระบบนิเวศ อาชญากรรมและความไม่ปลอดภัยทางไซเบอร์รวมถึงการย้ายถิ่นฐานขนาดใหญ่โดยไม่สมัครใจ ซึ่งจะกลายเป็นภัยคุกคามใหม่ต่อเสถียรภาพของโลก

โดยสศช. สรุป 5 ความเสี่ยงหลัก ที่จะส่งผลต่อความมั่นคงของโลก ได้แก่ 1. ระบบเศรษฐกิจผันผวน ความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก ส่งผลต่อการเกิดวิกฤตค่าครองชีพและหนี้ครัวเรือน 2. ทรัพยากรขาดแคลน วิกฤตด้านอาหาร เชื้อเพลิง และต้นทุน ทำให้ความเปราะบางทางสังคมรุนแรงขึ้น 3. ภูมิรัฐศาสตร์ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์กระตุ้นให้เกิดสงครามทางเศรษฐกิจและความขัดแย้งต่าง ๆ 4. สังคมเปราะบาง ไม่เท่าเทียม ขาดความสามารถในการฟื้นตัว การลงทุนในมนุษย์ที่ลดลง มีผลต่อการลดลงของความสามารถในการฟื้นตัวของสังคมในอนาคต และ 5. ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีส่งผลให้ความไม่เท่าเทียมในสังคมรุนแรงขึ้น การถูกจารกรรมข้อมูลจากระบบที่ไม่ปลอดภัย ส่งผลต่อสังคมที่ทำให้ผู้คนสูญเสียทรัพย์

“ดังนั้นต่อจากนี้โมเดลการพัฒนาประเทศทไทยต่อไปจะต้องพัฒนาแบบไหน โดยสศช.มีแนวคิด3 เรื่อง ประกอบด้วย การเติบโตอย่างยั่งยืน (Green Growth) ที่ทุกคนมีส่วนร่วมเท่าเทียมกันในสังคม (Inclusive Growth) ซึ่งนำไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกันให้ประเทศเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว”

นายวิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และประธานกรรมการบริหารมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านจะเป็นโอกาสของประเทศไทยได้ต่อเมื่อเราสามารถบริหารความเสี่ยงภายในระบบเศรษฐกิจและสังคมไทยได้ ซึ่งประกอบด้วย 1.ผลิตภาพ(Productivity) โดยเฉพาะภาคการเกษตรที่คนจำนวนมากฝากชีวิตเอาไว้ ภาคการบริการ ที่ส่วนใหญ่จะเป็นบริการดั้งเดิม บริการท่องเที่ยว ภาคการผลิตของเอสเอ็มอี ติดกับดักในเรื่องความสามารถในการแข่งขัน

2.โครงสร้างระบบราชการ ไม่เอื้อการทำงานที่จะตอบโจทย์การทำงานในรูปแบบใหม่ ที่จะต้องมีการทำงานแบบบูรณาการกัน ที่อาจนำไปสู่การเกิดความล้มเหลวในการประสานงานของภาครัฐไทย ซุ่งอาจเป็นปัญหาในการผลักดันเรื่องใหม่ๆ

3. ระบบนิติรัฐและการคอร์รัปชัน สถานะของประเทศไทยไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงเลยในช่วงที่ผ่านมาเลยในเรื่องของการคอร์รัปชัน ซึ่งนี่เป็นตัวที่ทำลายความไว้วางใจ

4.สังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์แบบ ในขณะที่ประเทศไทยยังขาดความพร้อมในการดูแลสวัสดิการตลาดที่จะมีขนาดเล็กลง และคนวัยกลางคนที่จะมีภาระในการดูแลกลุ่มผู้สูงวัยมากยิ่งขึ้น

5.การวางแผนรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอาาศ โดยเฉพาะเรื่องน้ำที่จะเป็นเรื่องใหญ่ น้ำแล้ง น้ำสะอาดไม่พอใช้ กระทบพื้นที่ทำการเกษตร คนที่จะเดือดร้อนมากที่สุดจะเป็นกลุ่มฐานรากของสังคม รวมทั้งเรื่องพลังงานที่ไทยได้รับผลกระทบมากจากความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์เนื่องจากไทยพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ

ทั้งนี้ โจทย์ของโมเดลเศรษฐกิจไทยจะต้องมุ่งเน้น 4 ด้าน ได้แก่ การแข่งขันด้วยผลิตภาพที่สูงขึ้น การผลิตที่ต้องให้คุณค่ากลับมาที่สูงกว่าเดิม การกระจายผลประโยชน์อย่างทั่วถึง การมีภูมิคุ้มกัน เป็นเรื่องที่สำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกับคน โครงสร้างสังคมและเศรษฐกิจที่มีภูมิคุ้มกันมากก็จะไม่ล้มง่าย และฟื้นกลับมาเร็ว นอกจากนี้ในโลกในอนาคตจะต้องมีความสามารถในการปรับตัว ระบบเศรษฐกิจต้องปรับตัวได้เร็ว รวมทั้งการปฏิรูปภาครัฐ รับฟังฝั่งผู้ใช้บริการมีตัวเลือกมากขึ้น การกระจายศูนย์อำนาจ สู่ระบบสังคมและเศรษฐกิจที่หลากหลายมากขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส โดยเฉพาะโอกาสในการแข่งขัน และโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่ดี

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...