เจาะลึกอาชีพ “นายหน้าขายที่ดิน” มีกี่ประเภท และต้องเสียภาษีอย่างไร

ตามหลักการทางกฎหมายว่าด้วยเรื่องการซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ผู้ขายมีหน้าที่ต้องเสียภาษี นอกจากนี้ในกรณีที่มีการซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างผ่านนายหน้าขายที่ดิน

รู้หรือไม่ว่า! รายได้หรือค่าตอบแทนที่ผู้ขายให้กับ "นายหน้าขายที่ดิน" นี้ นายหน้าต้องเสียภาษีด้วยเช่นกัน

โดยหลักการเสียภาษีสำหรับบุคคลธรรมดาที่เป็นนายหน้าขายที่ดิน และนายหน้าที่ทำในนามนิติบุคคลมีความแตกต่างกัน  ซึ่งสามารถแบ่งนายหน้าได้เป็น 4 ประเภท คือ

1.นายหน้าท้องถิ่น เป็นกลุ่มที่มีผู้นิยมทำเป็นจำนวนมากที่สุด จะมีความน่าเชื่อถือเนื่องจากเป็นคนพื้นที่ โดยอาจจะเป็นนายหน้าให้กับเพื่อน ญาติ คนรู้จักเป็นส่วนใหญ่ แล้วติดต่อกับผู้ซื้อหรือผู้ขายอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ได้โดยตรง

2.นายหน้าโครงการ เป็นนายหน้าที่ทำงานในรูปแบบบริษัทหรือนิติบุคคล ซึ่งจะทำงานเป็นทีม ทำงานเป็นระบบและบริหารงานอย่างจริงจัง

3.นายหน้าโบรกเกอร์ เป็นนายหน้าในรูปแบบนิติบุคคล ไม่ได้ทำงานด้วยตัวเอง แต่จะใช้ระบบบริหารพนักงานขายให้เข้ามาทำหน้าที่ขายแทน 

4.นายหน้าร่วม หรือ Co-Broker เป็นนายหน้าจากทั้งฝั่งผู้ซื้อและผู้ขายโดยทั้งสองฝ่ายจะทำการตกลงแบ่งค่าคอมมิชชั่นระหว่างกันเพื่อให้ปิดการขายได้สำเร็จ

ทั้งนี้ นายหน้าแต่ละประเภทจะต้องเสียภาษีเงินได้ ภาษีหัก ณ ที่ จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งมีรายละเอียดที่สำคัญดังนี้

  • เป็นนายหน้าขายที่ดิน รายได้แบบไหนต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 

นายหน้าขายที่ดิน นายหน้าอสังหาริมทรัพย์ หรือปัจจุบันมักนิยมเรียก “เอเจนท์” คือตัวแทนของผู้ซื้อหรือผู้ขายที่มีหน้าที่ทำธุรกรรมต่างๆ ตั้งแต่ช่วยเจรจาต่อรองระหว่างผู้ซื้อละผู้ขาย (คู่สัญญา) กระทั่งตกลงซื้อขายเป็นอันเสร็จเรียบร้อยก็จะได้เงินเปอร์เซ็นต์จากการเป็นตัวกลางดำเนินการอยู่ที่ 2-4% จากราคาขายอสังหาริมทรัพย์ และเงื่อนไขที่ทำสัญญากันไว้

ทั้งนี้ เมื่อนายหน้าได้รับเงินเปอร์เซ็นต์จากการเป็นตัวกลางในการซื้อขายที่ดิน รายได้ส่วนนี้จะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย แตกต่างกันตามประเภทของผู้รับเงิน ดังนี้

- บุคคลธรรมดา ทำเป็นงานเสริม ฟรีแลนซ์  ค่านายหน้าที่ได้รับจัดเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 2 หรือ มาตรา 40(2) จะต้องหัก ณ ที่จ่ายตามอัตราก้าวหน้า และยื่นแบบนำส่งภาษี ภ.ง.ด.1

- นิติบุคคล หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 (3%)  

- มูลนิธิหรือสมาคม (ไม่รวมถึงมูลนิธิหรือสมาคมที่ได้รับประกาศให้เป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศล) หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 10.0 (10%)

ทั้งนี้ สามารถอธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมได้คือ

- นิติบุคคลที่ได้รับค่านายหน้าจากนิติบุคคล ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย 3% แล้วนำส่ง ภ.ง.ด.53 กรมสรรพากร ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป และสำหรับการยื่นผ่านช่องทางออนไลน์นั้นขยายระยะเวลาถึงวันที่ 15  

- นิติบุคคลจ่ายค่านายหน้าให้กับบุคคลธรรมดา ที่อยู่ในไทยเกิน 183 วันในปีภาษี มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราก้าวหน้าตั้งแต่ 0-35% แต่ถ้าจ่ายเงินค่านายหน้าให้กับบุคคลธรรมดาที่ไม่อยู่ในประเทศไทย หรืออยู่ในไทยไม่ถึง 183 วันในปีภาษี ให้หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15%  

ส่วนบุคคลธรรมดาจ่ายค่านายหน้าให้บุคคลธรรมดา จะไม่มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายต่อกัน เนื่องจากผู้ที่สามารถหักภาษี ณ ที่จ่ายได้ ต้องมีสถานะเป็นนิติบุคคลเท่านั้น

  • นายหน้าขายที่ดินลักษณะใด ต้องเสีย “ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา”

นายหน้าขายที่ดิน ที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือบุคคลธรรมดาทั่วไปที่ทำงานเสริมเป็นนายหน้าขายที่ดิน เงินค่านายหน้าที่ได้รับจะต้องนำมาคำนวณรวมกับรายได้อื่นๆ เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยค่านายหน้าถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 2  มาตรา 40(2) ซึ่งจะต่างจากคอมมิชชั่นที่นายหน้าสังกัดบริษัทได้รับจากบริษัท ลักษณะนี้จะเป็นเงินได้ประเภทที่ 1 (40(1)) 

ดังนั้น เมื่อยื่นภาษีสามารถหักค่าใช้จ่ายได้แบบเหมา 50% แต่เมื่อรวมกับเงินได้ประเภทที่ 1 แล้วสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท โดยวิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามสูตรคือ (รายได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่าย และเมื่อนำรายได้หักลบด้วยค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนแล้ว ให้นำยอดตัวเลขที่ได้มาคูณกับอัตราภาษีก้าวหน้า  

  • นายหน้าขายที่ดินลักษณะใด ต้องเสีย “ภาษีเงินได้นิติบุคคล”

ในกรณีที่นายหน้าขายที่ดินทำในนามบริษัทนิติบุคคล เมื่อได้รับเงินเปอร์เซ็นต์ค่านายหน้าที่ดิน จะถือว่าเป็นรายได้ของบริษัท ดังนั้น มีหน้าที่ต้องจัดทำภาษีที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่งกรมสรรพากรทุกเดือน และยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคลด้วย   

โดยวิธีการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล จะใช้สูตรคือ (รายได้ – ค่าใช้จ่าย) = กำไรสุทธิ และจะได้ยกเว้นภาษีจากกำไรสุทธิ 300,000 บาทแรก            

พร้อมจัดทำบัญชี งบการเงิน ภาษีให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด และส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นหากมีพนักงานที่จ่ายเป็นเงินเดือนประจำ ต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนกับประกันสังคม รวมถึงปิดงบการเงิน แล้วใช้บริการผู้สอบบัญชีให้ตรวจสอบบัญชี ก่อนส่งให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

  • นายหน้าขายที่ดินลักษณะใด ต้องเสีย “ภาษีมูลค่าเพิ่ม”

นายหน้าขายที่ดิน เป็นอาชีพในกลุ่มการให้บริการ ด้วยเหตุนี้เมื่อนายหน้าขายที่ดินมีรายรับจากการให้บริการในส่วนนี้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้องไปจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ไม่เกิน 30 วัน นับจากวันที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท และนำส่งให้กรมสรรพากรทุกๆ เดือน นับตั้งแต่วันที่ยื่นจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นต้นไป

และจะต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ยื่นแบบ ภ.พ.30 พร้อมชำระภาษี (ถ้ามี) เป็นรายเดือน ภายในวันนี้ 15 ของเดือนถัดไป และผ่านระบบออนไลน์ภายในวันที่ 23 ของเดือนถัดไป แต่กรณีลูกค้าจ่ายค่านายหน้าให้กับนายหน้าที่อยู่ต่างประเทศโดยหาลูกค้าในประเทศไทย ให้ลูกค้านำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7% ตามแบบ ภ.พ.36

สรุป

ดังนั้น นายหน้าขายที่ดิน โดยเฉพาะในนามบุคคลธรรมดา ไม่ควรละเลยรายได้จากเปอร์เซ็นต์ค่านายหน้าเป็นเด็ดขาด เพราะถือเป็นหน้าที่ของผู้มีรายได้เมื่อมีรายได้ต้องยื่นภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อป้องกันผลกระทบจากการไม่ยื่นเสียภาษีง ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจจนถูกตรวจสอบอาจต้องเสียภาษีย้อนหลัง​

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...