แบ่งจ่ายเงินเดือน ขรก.ไม่ส่งผลบวกศก.‘TDRI’ มองลูกหนี้นอกระบบได้ประโยชน์

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง มีแนวคิดในเรื่องการปรับเปลี่ยนการจ่ายเงินเดือนข้าราชการจากเดือนละครั้งเป็นเดือนละ 2 ครั้ง เพื่อต้องการเพิ่มสภาพคล่องให้กับข้าราชการได้มีเงินใช้จ่ายระหว่างเดือน โดยได้เป็นข้อสั่งการในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาเพิ่มเติมโดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค.2567 ก่อนที่จะมีการออกมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าเรื่องนี้เป็นทางเลือกให้ข้าราชการเลือกได้ว่าจะรับเงินเดือนครั้งเดียวหรือ 2 ครั้งใน 1 เดือน

“กรุงเทพธุรกิจ” สัมภาษณ์นักเศรษฐศาสตร์สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจหากมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจ่ายเงินเดือนเป็น 2 ครั้งใน 1 เดือน

นายนณริฏ พิศลยบุต นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่าแม้จะแบ่งการจ่ายเงินเดือนเป็น 2 รอบ แต่ในข้อเท็จจริง เงินรวม 2 งวดมันเท่าเดิม คือ แค่เอาเงินเดือนมาแบ่งจ่ายในราย 2 สัปดาห์จึงไม่มีผลกระทบต่อรายได้และความสามารถในการจ่ายหนี้

แต่ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นคือเป็นเรื่องของ “จังหวะ”ทำ หรือ “timing” ที่ข้าราชการจะได้รับเงินเร็วขึ้น 15 วันเงินที่ได้เร็วขึ้นจะเกิดประโยชน์ ถ้าข้าราชการมีหนี้ที่ต้องจ่ายในรอบที่เร็วกว่า 1 เดือน เช่น จ่ายทุกวัน ทุกสัปดาห์หรือทุก 2 สัปดาห์ แต่หนี้พวกนี้อาจจะเป็นหนี้นอกระบบที่ดอกเบี้ยสูงก็จะเกิดประโยชน์เพราะหนี้พวกนี้มักจะคิดดอกเบี้ยรายวัน

“ผมคิดว่าถ้าจะได้ประโยชน์ ก็จะเป็นกลุ่มที่เป็นหนี้นอกระบบครับ ก็คือ กู้หนี้ในระบบจนเต็มแล้วก็ไปกู้นอกระบบ ทีนี้หนี้นอกระบบมันคิดดอกแพง และคิดดอกรายวันหรือรายสัปดาห์ การมีเงินก่อนก็จะช่วยคนเหล่านี้ได้ แต่ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่ามีข้าราชการแบบนี้มากไหม

โดยปกติ การแก้หนี้นอกระบบ ควรจะแก้เฉพาะกลุ่มที่มีปัญหา ไม่ใช่หว่านแหแก้ระบบแล้วไปกระทบกับทุกคน”

ส่วนข้อเสียคือข้าราชการต้องปรับพฤติกรรมการวางแผนใช้เงินจาก 1 เดือนเป็น 15 วัน ซึ่งอาจจะมีความไม่คุ้นชิน และมีความเสี่ยง เช่น เงินที่ได้ในรอบ 15 วันแรกอาจจะต้องทนเก็บเอาไว้รอจ่ายหนี้ที่งวดเงินอาจจะต้องจ่ายในรอบ 1 เดือน ซึ่งระหว่างนั้น ถ้ามีสิ่งล่อใจให้จ่ายเงินก่อน พอถึงเวลาปลายเดือนก็จะไม่มีเงินจ่ายหนี้ได้ เป็นต้น

เมื่อถามว่าหากมีการเพิ่มการจ่ายเงินเป็น 2 รอบทำให้การหมุนเงินในระบบเศรษฐกิจเร็วขึ้นหรือไม่ นายนณริฏกล่าวว่าในส่วนของการหมุนของเงิน ส่วนตัวมองว่าไม่ได้เร็วขึ้นนะครับ เพราะว่าเงินที่ได้ต่อเดือนก็คงเดิม

“เงินที่ได้มันจะเกลี่ยมากขึ้น คือ เดิมได้เงินเดือนก็จะใช้จ่ายมากต้นเดือน ปลายเดือนกินมาม่า เงินก็จะกระจายมากขึ้นตลอดเดือน แต่หากไม่ได้แก้ปัญหาหนี้สินของข้าราชการซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ ก็ไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นตออยู่ดี”

นักวิชาการอาวุโสทีดีอาร์ไอยังกล่าวต่อด้วยว่าในส่วนของการแก้ปัญหาหนี้สิน มีข้อเสนอแนะ 3 เรื่องสำคัญคือ

1. การแก้หนี้ มีเครื่องมืออื่นๆ ที่ดีกว่าครับ เช่น การกำหนดการหักเงินเดือนที่เหมาะสม (เงินที่หักใช้หนี้ก่อนจ่ายเป็นเงินเดือน) เงินขั้นต่ำที่กฎหมายรองรับก่อนหักเอาไปใช้หนี้ที่ถูกฟ้อง

2. การแก้หนี้ ไม่ควรหว่านแห แต่เลือกเป็นกลุ่มๆ แยกประเภท ขนาดของหนี้ และสถานการณ์ของลูกหนี้แต่ละราย

และ 3.ให้ความรู้กับข้าราชการก่อนที่จะก่อหนี้ จัดทำบทเรียนประสบการณ์ของคนที่ติดภาระหนี้ ให้ความรู้ในเรื่องของขนาดของหนี้ที่ไม่ควรเกินต่อรายได้ และความรู้เรื่องประเภทของหนี้ (หนี้เพื่อการบริโภค หนี้เพื่อการลงทุน) เป็นต้น

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...