กมธ.ความมั่นคงฯคว้าน้ำเหลว ขุดข้อมูล “ทักษิณ” รักษาตัวชั้น 14 “โรม” บ่นอุบไม่มีใครยอมคาย ข้อมูล คาใจกรมราชทัณฑ์-รพ.ตำรวจโยนกลองคนตัดสินใจส่งต่อไป รพ.นอกเรือนจำ ค่าห้องค่ารักษา ประมาณ 1 ล้าน ไร้คำตอบใครจ่าย “ชูศักดิ์” ให้ปากคำ อัยการส่งศาลรัฐธรรมนูญ ยันอดีตนายกฯไม่ได้ครอบงำ พท. ซัดคำร้องมั่วไม่เข้าทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายมาตรา 49 ยัน “นายใหญ่” เป็นผู้ช่วยหาเสียงจัดคิว 13-14 พ.ย. ช่วยหาเสียงนายก อบจ.อุดรฯ ไม่ขัดกฎหมาย ปชน.ท้ารบ “พิธา” บินด่วนจากอเมริกาวัดรอยเท้าอดีตนายกฯ “ภูมิธรรม” ไปตรวจเยี่ยมชายแดนเกาะกูด เฉ่งพวกกุข่าวป่วนกระทบสัมพันธ์เพื่อนบ้าน “ไพบูลย์” ชี้ “บิ๊กป้อม” ไฟเขียวดันยกเลิก เอ็มโอยู 44 ขัด รธน.เป็นโมฆะ “นายกฯอิ๊งค์” โชว์วิชัน พัฒนาเชื่อมโยงภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ถก “มิน อ่อง หล่าย” ร่วมล้างยาเสพติด-พนันออนไลน์
คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร เชิญผู้เกี่ยวข้องมาซักถามกรณีกรมราชทัณฑ์ให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ พักรักษาตัวที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ แต่ กมธ.ระบุไม่ได้รับความร่วมมือในการให้ข้อมูล ยังคงต้องแสวงหาข้อเท็จจริงต่อไป
“โรม” ชู รธน.ให้เข้าถึงข้อมูล “ทักษิณ”
เมื่อเวลา 09.20 น. วันที่ 7 พ.ย. ที่รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐกิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุม กมธ.เพื่อหารือกรณีกรมราชทัณฑ์ให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ พักรักษาตัวที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจว่า กมธ.สอบถาม 2 ประเด็นหลัก 1.ป่วยจริงหรือไม่ 2.การอยู่ชั้น 14 ถูกควบคุมตัวเสมือนอยู่ในเรือนจำใช่หรือไม่ เพราะมีบุคคลมาพบนายทักษิณเหมือนอยู่บ้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ยืนยันการรักษาตัวนายทักษิณเป็นการคุมขังไม่เคยปล่อยสักวินาที ย้อนแย้งกับสิ่งที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทยเคยระบุ ต้องดูพยานหลักฐานใครโกหก การอ้างกฎหมายพีดีพีเอการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล กมธ.ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ เข้าถึงเอกสารหลักฐานได้
...
“เสรีพิศุทธ์–บิ๊กโจ๊ก” ชิ่ง–จี้ถามค่ารักษา
ต่อมาเวลา 09.30 น. ที่รัฐสภามีการประชุมคณะ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ มีนายรังสิมันต์ โรม ประธานคณะ กมธ. ทำหน้าที่ประธานการประชุม เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล อาทิ นพ.วัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข ผอ.ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ พล.ต.ต.สรวุฒิ เหล่ารัตนวรพงษ์ อดีตรองนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ ขณะที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย และ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล อดีตรอง ผบ.ตร. ไม่ได้มาชี้แจง กมธ. โดย นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชน. ถามว่า อาการป่วยนายทักษิณที่ระบุเป็นภาวะฉุกเฉินกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ต้องส่งตัวด่วนจาก รพ.กรมราชทัณฑ์ไป รพ.ตำรวจ ใช้เวลาส่งตัว 21 นาที การเดินทางจากเรือนจำไป รพ.ตำรวจ 17 กม.โดยทางด่วน 17 นาที มีเวลาปฏิบัติการ 3 นาทีเท่านั้น ผู้ป่วยรายอื่นมีมาตรฐานแบบเดียวกันหรือไม่ และการอนุญาตให้นายทักษิณรักษาตัวที่ รพ.ตำรวจยาวนาน ใครให้ความเห็น น.ส.พรรณิการ์ วาณิช ที่ปรึกษา กมธ. ถามว่า มีค่าห้องและค่ารักษาพยาบาลเท่าใด ใครออกให้แสดงหลักฐาน โดยนายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. เบรกขัดจังหวะเป็นระยะ ระบุคำถามวนไปมาไม่น่าฟัง ถามถึงแต่ภาพถ่ายภาพวงจรปิด ควรถามว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่
โยนพยาบาลประเมินส่งตัวไปรักษา
ด้าน พล.ต.ต.สรวุฒิ เหล่ารัตนวรพงษ์ อดีตรองนายแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ ชี้แจงว่า ช่วงทำหน้าที่เป็นรองนายแพทย์ใหญ่ ไม่ทราบข้อมูลผู้ป่วย ทำเรื่องเออรี่รีไทร์และพักร้อนช่วงนั้น เมื่อมีหนังสือส่งตัวมาเราก็รักษา ขึ้นอยู่กับสภาวะผู้ป่วยและความเห็นของแพทย์ที่ดูแลด้วย ตนเชี่ยวชาญผ่าตัดผ่านกล้องไม่ได้เป็นผู้ผ่าตัดนายทักษิณ ส่วนจะผ่าตัดหรือไม่ตนไม่ทราบ เพราะลาพักร้อน 3 สัปดาห์ การพักรักษาตัวจะสั้นหรือยาวขึ้นอยู่กับภาวะของโรค ส่วนตัวไม่เคยไปรักษาชั้น 14 ไม่สามารถตอบได้ จากประสบการณ์ที่เคยรักษาผู้ต้องขัง ไม่เคยเห็นต้องบันทึกภาพ
นพ.วัฒน์ชัย นายวัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข ผอ.ทัณฑสถาน รพ.ราชทัณฑ์ ชี้แจงว่า พยาบาลในสถานพยาบาลพิจารณาแล้วว่ามีความเสี่ยงจึงส่งตัว นายทักษิณแน่นหน้าอก ความดันสูงขึ้น ระดับออกซิเจนต่ำตอนดึก ศักยภาพ รพ.รักษาด้านโรคหัวใจ มีเครื่องมือแพทย์ไม่เพียงพอ สวนหัวใจทำไม่ได้ จำเป็นต้องส่งต่อ รพ.ภายนอก ถ้าในเวลาเป็นหน้าที่แพทย์เรือนจำ นอกเวลาพยาบาลจะประเมินผู้ป่วยฉุกเฉินได้ คนเซ็นอนุญาตคือ ผบ.เรือนจำ การรักษาตัวต่อเป็นหน้าที่แพทย์ผู้รักษาของ รพ.ตำรวจ ค่าห้องค่ารักษาอยู่ที่ 8,500 บาทต่อวัน รวมประมาณ 1 ล้านบาท ไม่มีข้อมูลว่าใครจ่าย แต่ผู้ต้องขังทุกคนที่อยู่ใน รพ.จะได้รับการรักษาโดยไม่มีค่าใช้จ่ายทุกกรณี ยกเว้นกรณีที่เกินสิทธิ ผู้ต้องขังหรือญาติผู้ต้องขังต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ยืนยันว่ากรณีผู้ต้องขังเจ็บป่วยฉุกเฉินจะได้รับการรักษาตัวทันท่วงทีเป็นบรรทัดฐานเดียวกัน
โอดไม่มีใครร่วมมือให้ข้อมูล
ต่อมาเวลา 13.00 น. นายรังสิมันต์ให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า เป็นที่เคลือบแคลงไทม์ไลน์เวลาตั้งแต่นายทักษิณไปถึงสถานพยาบาล รวมเวลาที่พยาบาลปรึกษาแพทย์ราชทัณฑ์ ส่งไปยัง รพ.ตำรวจ ใช้เวลาเพียง 21 นาที เป็นระยะเวลาการเดินทาง 17 นาที หมายความว่าใช้เวลาวินิจฉัยแค่เพียง 4 นาที รวดเร็วมาก ค่อนข้างแปลก บทบาทแพทย์ รพ.ราชทัณฑ์น้อยมาก ที่ผ่านมารองนายแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจบอกว่า นายทักษิณรักษาตัวอยู่ที่ รพ. ไม่ใช่การตัดสินใจของ รพ.ตำรวจ เป็นของกรมราชทัณฑ์ แต่กรมราชทัณฑ์บอกไม่ใช่การตัดสินใจของกรมราชทัณฑ์ เป็นแพทย์เจ้าของไข้ กมธ.พยายามสอบถามชื่อแพทย์เจ้าของไข้นายทักษิณ แต่ไม่ได้รับคำตอบ ไม่แน่ใจว่าเป็นการตัดสินใจของใคร อีกทั้งมีค่าใช้จ่ายรวมแล้วอาจมีค่าใช้จ่าย 1 ล้านบาท ใครจ่ายก็ไม่ได้คำตอบเวชระเบียนการรักษาก็ไม่มีใครตอบได้ ข้อเท็จจริงหลายอย่างไม่ปรากฏชัด น่าสงสัย มีพิรุธ กมธ.ได้รับความร่วมมือน้อยที่สุดจากหน่วยงานราชการ ไม่อยากบอกอะไรเป็นกรณีพิศวง ไม่มีที่สิ้นสุด ต้องแสวงหาข้อมูลต่อไป
“ชูศักดิ์” ยัน “ทักษิณ” ไม่ครอบงำ พท.
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกฯ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 พ.ย.ได้เข้าไปให้ปากคำเพิ่มเติมต่อพนักงานอัยการ เพื่อให้อัยการสูงสุดส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ภายในวันที่ 8 หรือ 15 พ.ย.เพื่อประกอบการวินิจฉัยว่าจะรับหรือไม่รับ คำร้องขอให้พรรค พท.หยุดการกระทำที่นำไปสู่การล้มล้างการปกครอง ยืนยันว่าทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน พรรคดูแล้วคำร้องทั้งหมดไม่เข้าตามมาตรา 49 ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายมั่ว อีก 1 คำร้องที่ยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรื่องการครอบงำพรรค ยืนยันว่าไม่ใช่การครอบงำอะไร เมื่อถามถึงกรณีนายทักษิณจะขึ้นเวทีปราศรัยช่วยผู้สมัครหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.ที่ จ.อุดรธานี ทำได้หรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า ที่ผ่านมา กกต.อนุญาตให้ผู้ช่วยหาเสียง นายทักษิณทำมาตั้งนานแล้ว เช่นเดียวกับนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกฯ ตามระเบียบทำได้ ไม่มีการกำหนดคุณสมบัติ ที่ผ่านมาไม่ได้มีปัญหาอะไร ไม่ได้กังวลพวกนักร้องอะไร ตามระเบียบทำได้และเคยทำมาแล้ว ไม่ต่างอะไรกับหลายคนที่เป็นผู้ช่วยหาเสียงให้พรรคการเมือง และพรรคมีบุคคลประเภทนี้มาก เพราะโดนกระทำมาเยอะ
จัดคิวช่วยสู้ศึกนายก อบจ.อุดรฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 13.00 น. วันที่ 9 พ.ย. นายทักษิณจะไปเป็นประธานพิธีทอดกฐินสามัคคี ที่วัดคลองครุ (ปัฐวิกรณ์) แขวงรามอินทรา เขตคันนายาว กทม.จากนั้นวันที่ 13-14 พ.ย. นายทักษิณ จะลงพื้นที่ จ.อุดรธานี ช่วยนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครนายก อบจ.อุดรธานี ในนามพรรคพท.หาเสียงเลือกตั้ง โดยเย็นวันที่ 13 พ.ย. นายทักษิณขึ้นเวทีปราศรัยใหญ่ อ.กุมภวาปี อ.ประจักษ์ ศิลปาคม อ.ศรีธาตุ อ.หนองหาน (บางส่วน) ที่วัด ศรีนคราราม อ.กุมภวาปี จากนั้นวันที่ 14 พ.ย.ช่วงเช้าปราศรัยหาเสียง อ.บ้านดุง อ.ทุ่งฝน ที่ลาน อเนกประสงค์ อ.บ้านดุง และพบปะพ่อค้านักธุรกิจ ผู้นำท้องถิ่น จ.อุดรธานี และช่วงเย็นขึ้นเวทีปราศรัย อ.เมือง อ.เพ็ญ อ.หนองวัวซอ (บางส่วน) และ อ.หนองหาน (บางส่วน) ที่ทุ่งศรีเมือง
คนอีสานดีใจพบนายใหญ่
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯ และ รมว.คมนาคม แกนนำพรรค พท.กล่าวว่า จ.อุดรธานีเหมือนเป็นเมืองหลวงของพรรค พท.ในอดีตนายกฯทักษิณมีผลงานประทับใจประชาชน โดยเฉพาะภาคอีสาน การลงพื้นที่ครั้งนี้น่าจะทำให้คนในภาคอีสานดีใจ ขณะที่นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกฯและ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แกนนำพรรค พท.กล่าวว่า นายทักษิณคุ้นเคยกับชาวอุดรธานี อยากไปเยี่ยมประชาชน พรรคหวังชัยชนะในพื้นที่เดิมของพรรคอยู่แล้ว ไม่อยากให้มองเป็นการวัดพลังกันกับพรรค ปชน. ผู้ช่วยหาเสียงต่างฝ่ายคงอยากไปให้กำลังใจ ไม่มีประเด็นห้ำหั่นหรือเผชิญหน้ากัน เมื่อถามว่านายทักษิณออกหน้าเองจะสร้างความมั่นใจให้พรรค พท.หรือไม่ นายประเสริฐกล่าวว่า เชื่อว่าผลงานของนายทักษิณในอดีตยังอยู่ในใจพี่น้องประชาชน ไม่กังวลจะถูกร้อง
ปชน.จัดเวที “พิธา” วัดรอยเท้าอดีตผู้นำ
ผู้สื่อข่าวรายงานจากพรรคประชาชน (ปชน.) เกี่ยวกับการจัดทัพลงพื้นที่ช่วยนายคณิศร คุริรัง หาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานีว่า ช่วงโค้งสุดท้ายพรรค ปชน.ประเมินการหาเสียงจะดุเดือด เพราะ จ.อุดรธานี เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ภาคอีสาน พรรคปชน.เองทุ่มสรรพกำลังในทุกเวทีมาตลอด ครั้งนี้ได้จัดทัพนักการเมืองลุยหาเสียงเหมือนเดิม แต่ไฮไลต์ที่วางคิวไว้คือนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรค ก.ก.ในฐานะผู้ช่วยหาเสียง จะบินกลับมาจากประเทศสหรัฐอเมริกาวันที่ 15-17 พ.ย. เพื่อเดินทางไปช่วยนายคณิศร หาเสียงที่ จ.อุดรธานี ช่วงโค้งสุดท้าย โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า กำหนดการหาเสียงดังกล่าวของนายพิธา เป็นการวางคิววัดเรตติ้งหรือไม่ เนื่องจากเป็นการหาเสียงต่อจากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่จะลงพื้นที่ไปช่วยนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครนายก อบจ.อุดรธานี พรรค พท.หาเสียงวันที่ 13-14 พ.ย.เช่นกัน
“บิ๊กอ้วน” ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเกาะกูด
อีกเรื่อง นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและ รมว.กลาโหม เปิดเผยว่า วันที่ 9 พ.ย.จะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมชายแดนที่หน่วยปฏิบัติการเกาะกูด กองทัพเรือ อ.เกาะกูด จ.ตราด พร้อมปลัดกระทรวงกลาโหม เลขาธิการ รมว.กลาโหมและเสนาธิการกองทัพเรือเพื่อตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจดูแลทุกข์สุขกำลังพลปฏิบัติหน้าที่ชายแดนไทย-กัมพูชา บริเวณเกาะกูด เพื่อยืนยันให้ชัดเจนว่าประเทศไทยเป็นเจ้าของเกาะกูดเป็นเขตอธิปไตยของไทย ให้ประชาชนสบายใจมั่นใจ ไม่ให้ใครมารุกล้ำจะรักษาพื้นที่ไว้ไม่ให้เสียพื้นที่แม้แต่ตารางนิ้วเดียว ความสับสนที่เกิดขึ้นเพราะมีการกุข่าว พูดเลื่อนลอยไม่อยู่บนฐานความเป็นจริง หยิบยกขึ้นมาใช้สร้างประเด็นทางการเมือง เกาะกูดเป็นของไทยมาตลอด รัฐบาลต่างๆพยายามสนับสนุนให้เอ็มโอยู 44 ได้ดำเนินการต่อไป เป็นกลไกที่เป็นประโยชน์ที่สุดในการเจรจาผลประโยชน์ทางทะเล การประกาศไหล่ทวีปในขอบเขตน่านน้ำต่างคนต่างประกาศ จึงต้องใช้เอ็มโอยู 44 มาเจรจากันเรื่องที่ยังไม่มีข้อตกลงชัดเจนบนความพึงพอใจทั้ง 2 ประเทศ จะรักษาผลประโยชน์คนไทยให้ได้มากที่สุด ที่มีข้อสังเกตการให้สัมปทานพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ครอบครัวชินวัตรกับครอบครัวสมเด็จฮุน เซน ที่ผ่านมาอยากให้เป็นบทเรียน พูดเรื่องที่จินตนาการยังไม่รู้ว่าข้อเท็จจริงคืออะไร แต่ส่งผลกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อยากให้ฟังข้อเท็จจริงแล้วค่อยมาวิจารณ์
ซัดแก๊งการเมืองบิดเบือนปลุกขัดแย้ง
นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ที่ปรึกษานายกฯ กล่าวว่า กรณีที่มีการเรียกร้องให้ยกเลิกเอ็มโอยู 44 อ้างว่าเสี่ยงทำให้ไทยเสียดินแดนนั้น เรื่องนี้ต้องตั้งสติกันก่อน ยืนยันว่าเกาะกูดอยู่ภายใต้อธิปไตยของไทย 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถเป็นอย่างอื่นไปได้ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความพยายามสร้างเงื่อนไขของกลุ่มการเมือง เพื่อปลุกระดมดิสเครดิตรัฐบาล โดยให้ข้อมูลที่บิดเบือนจากความเป็นจริง หวังสร้างความขัดแย้งของคนในชาติ ในขณะที่ทุกองคาพยพ ไม่ว่ารัฐบาล ภาคเอกชน หรือภาคประชาชน ต่างจับมือร่วมกันทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้า แต่กลับมี
กลุ่มการเมืองบางกลุ่มพยายามหาเหตุมาสร้างความขัดแย้งแตกแยกของคนในชาติ
พปชร.ชี้ช่องเอ็มโอยู 44 โมฆะ
วันเดียวกัน นายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พปชร. สั่งให้พรรค พปชร.ผลักดันนโยบายยกเลิกเอ็มโอยู 44 แม้ พล.อ.ประวิตรเคยเป็นประธานคณะเจรจาฯ ตามกรอบเอ็มโอยู 44 แต่ขณะนั้นไม่ทราบมาก่อนว่ามีปัญหาสำคัญทางกฎหมาย จนกระทั่งเดือน มิ.ย.ได้ไปเรียนให้ พล.อ.ประวิตรทราบว่าได้ใช้สิทธิ์ในฐานะประชาชนยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หลังตรวจสอบพบว่าเอ็มโอยู 44 มีปัญหาสำคัญทางกฎหมาย อาทิ กัมพูชาลากเส้นไหล่ทวีปที่ผิดกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ รวมถึงเอ็มโอยู 44 มีสถานะเป็นหนังสือสัญญา มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา แต่เอ็มโอยู 44 ไม่เสนอให้รัฐสภาเห็นชอบ มีผลให้เอ็มโอยู 44 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ตกเป็นโมฆะตั้งแต่ต้น ไม่มีผลผูกพันรัฐภาคีทั้งสอง ตามหลักความไม่สมบูรณ์แห่งสนธิสัญญา
“ธนกร” เชียร์ประชามติชั้นครึ่ง
นายธนกร วังบุญคงชนะ สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวว่า ขอทุกฝ่ายมองภาพรวมให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศมาก่อน มากกว่ามองแค่มุมการเมือง การทำประชามติยึดตามจำนวนผู้มาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ และคะแนนเสียงข้างมากต้องสูงกว่าคะแนนที่ไม่แสดงความคิดเห็นหรือเรียกว่าชั้นครึ่ง ตามที่ สส.เสนอเห็นด้วย โดยเฉพาะการลดงบฯ แผ่นดินที่ใช้ทำประชามติและขอสนับสนุนการออกเสียงประชามติผ่านทางไปรษณีย์ แต่ต้องโปร่งใส รัดกุม รอบคอบ
“ชูศักดิ์” ชี้สำคัญสุดต้องมาใช้สิทธิเกินกึ่ง
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รองหัวหน้าพรรค พท.ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายนิกร จำนง เลขานุการคณะ กมธ.ร่วม สส.และ สว.เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติ เสนอให้ทำประชามติชั้นครึ่งว่า จะ 2 ชั้นหรือชั้นครึ่ง เรื่องใหญ่มันอยู่ที่ชั้นแรก ต้องมีคนมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิสำคัญที่สุด ถ้าใช้วิธีเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเท่ากับว่าคนที่ไม่มาใช้สิทธิหรือไม่ประสงค์จะลงคะแนนจะถูกนับไปด้วยว่าเป็นคนไม่เห็นชอบ เท่ากับค้านการทำประชามติ พรรค พท. ยืนยันจุดนี้แล้วสภาฯก็ยืนยันจุดนี้แบบเอกฉันท์ ให้ใช้เสียงข้างมากธรรมดา ส่วนตัวให้ความสำคัญกับชั้นแรกมากกว่า พรรค พท.มุ่งมั่นอยากจะผลักดันเต็มที่ แต่จะผลักดันได้มากน้อยแค่ไหน ทันรัฐบาลนี้หรือไม่ ค่อยว่ากันอีกที
นายกฯโชว์วิชันพัฒนาเชื่อมโยงภูมิภาค
เมื่อเวลา 09.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นนครคุนหมิง เร็วกว่ากรุงเทพฯ 1 ชม.ที่ Yunnan Haigeng Convention Center นครคุนหมิง สาธารณรัฐ ประชาชนจีน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ร่วมประชุมอย่างไม่เป็นทางการในการประชุมระดับสุดยอดผู้นำครั้งที่ 8 แผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงหรือ GMS ภายใต้หัวข้อ “การพัฒนาที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมของไทย” โดย น.ส.แพทองธาร กล่าวถ้อยแถลงเสนอแนวทางการพัฒนาอนุภูมิภาคด้วยหลักการนวัตกรรมที่ครอบคลุมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สร้างสังคมที่มั่นคงและเท่าเทียม ที่ผ่านมาได้บูรณาการและส่งเสริมนวัตกรรมในนโยบายและแผนพัฒนาประเทศทุกระดับ ยกระดับให้เป็นเกษตรทันสมัย ผ่านแนวคิด ตลาดนำ นวัตกรรมเสริมเพิ่มรายได้
ลั่นร่วมบูรณาการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
จากนั้นเวลา 10.00 น. น.ส.แพทองธาร กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมเต็มคณะ เนื้อหาสรุปว่าไทยมุ่งมั่นจะร่วมเสริมสร้างการพัฒนาร่วมกันของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงให้เป็นประชาคมที่เข้มแข็ง เร่งสร้างความเชื่อมโยงให้เป็นรากฐานการบูรณาการระดับภูมิภาค อาทิ การเปิดให้บริการรถไฟระหว่างประเทศ เส้นทางกรุงเทพฯ-เวียงจันทน์ สปป.ลาว การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ที่ศรีราชา จ.ชลบุรี รวมทั้งแผนการก่อสร้างสนามบินล้านนาที่ภาคเหนือและสนามบินอันดามันในภาคใต้ จ.พังงา ใกล้กับ จ.ภูเก็ต เพื่อให้การค้า คมนาคมขนส่ง ข้ามพรมแดนสะดวกรวดเร็ว ราบรื่น ไร้รอยต่อมากยิ่งขึ้น จะส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน มุ่งเน้นการพัฒนาที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และเสริมสร้างประชาคมที่ดีขึ้น ด้วยการสร้างความร่วมมืออย่างบูรณาการ และจะร่วมขับเคลื่อน GMS สู่การเป็นอนุภูมิภาคที่มีการบูรณาการมากขึ้น มีความเจริญรุ่งเรือง ยั่งยืน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ร่วมรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุม 2 ฉบับ คือร่างแถลงการณ์ร่วมระดับผู้นำ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 8 และร่างยุทธศาสตร์นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง พ.ศ.2573 แผนงาน GMS
ชวนร่วมแก้มลพิษ น้ำท่วม ยาเสพติด
ต่อมาเวลา 14.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น ที่โรงแรม Wyndham Grand Plaza Royale Colorful Yunnan Kunming สาธารณรัฐประชาชนจีน น.ส.แพทองธาร เข้าร่วมประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขงหรือ ACMECS ครั้งที่ 10 มีผู้นำ 5 ประเทศ คือสปป.ลาว เป็นประธานและนายกฯกัมพูชา เมียนมาและเวียดนามเข้าร่วม โดย น.ส.แพทองธารกล่าวถ้อยแถลงว่า ขอเสนอ 3 แนวทางรับมือความท้าทายทั้งปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะการค้ายาเสพติดและอาชญากรรมทางไซเบอร์ มลพิษทางอากาศ กว่า 200 ล้านคนในอนุภูมิภาคหรือ 650 ล้านคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีค่ามลพิษทางอากาศสูง ต้องร่วมมือกันลดจุดความร้อน แก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน และภัยพิบัติทางธรรมชาติ เดือน ก.ย.ที่ผ่านมาประชาชนกว่า 5 ล้านคนในอนุภูมิภาค ต้องเผชิญกับผลกระทบจากไต้ฝุ่น “ยางิ” ความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงถึง 16,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การบริหารจัดการน้ำในอนุภูมิภาค เป็นประเด็นเร่งด่วน ไทยเสนอเอกสารแนวคิดการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เป็นภาคผนวกเพิ่มเติมในแผนแม่บท ACMECS เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ และ ACMECS ควรเร่งจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนา ACMECS รับมือกับความท้าทายเหล่านี้อย่างเร่งด่วน
“ไทย–เมียนมา” จับมือสู้พนันออนไลน์
จากนั้นเวลา 15.40 น.ที่นครคุนหมิง น.ส.แพทองธารให้สัมภาษณ์ว่าได้หารือทวิภาคีกับ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย นายกฯเมียนมา เรื่องปัญหาระหว่างประเทศ เราเสนอความสัมพันธ์อันดีที่จะช่วยให้เกิดสันติภาพในเมียนมา รวมถึงเศรษฐกิจอยากให้เติบโตไปพร้อมกัน หากมีอะไรขอให้ช่วยกัน เมียนมาได้แสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับแรงงานเมียนมาในไทย บางส่วนยังไม่ได้ลงทะเบียน พบตัวเลขเพียงไม่กี่ล้านคน แต่ข้อเท็จจริงมีมากกว่านั้น เขาอยากได้ตัวเลขว่าประชาชนของเขาอยู่ที่ไหนอย่างไร จึงฝาก รมว.ต่างประเทศคุยเรื่องนี้ต่อ ส่วนปัญหายาเสพติด เขาอยากแก้ปัญหานี้ร่วมกัน รวมถึงโจรกรรมออนไลน์ ปัญหาการพนันที่จะสนับสนุนซึ่งกันและกัน รัฐมนตรีต่างประเทศ 2 ประเทศพร้อมสานงานกันต่อ หลังเสร็จสิ้นภารกิจนายกฯเดินทางออกจากท่าอากาศยานนานาชาติคุนหมิงฉางสุ่ย นครคุนหมิง ถึงท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง เวลา 18.00 น.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่