“วราวุธ ศิลปอาชา” ยัน แก้รัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องด่วนของรัฐบาล ชี้ กลไกสำคัญ คือ สสร. เชื่อ ปม ทำประชามติไม่ทัน เลือกตั้งท้องถิ่น ใช้กลไกสภาแก้กฎหมายรายมาตราได้ วอนอย่านำปม เกาะกูด มาเป็นประเด็นการเมืองระหว่างประเทศ ชี้ เป็นพื้นที่ของไทยอยู่แล้ว
วันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงกรณีที่นายนิกร จำนง ประธานกรรมการยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา ระบุ อาจทำประชามติไม่ทันการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 68 ว่า การดำเนินการเรื่องนี้ ยังถือเป็นวาระเร่งด่วนของรัฐบาล ซึ่งขณะนี้ชัดเจนแล้วว่า ในการเลือกตั้งท้องถิ่นต้นปีหน้า จะไม่ทันการทำประชามติ ส่วนการเลือกตั้งทั่วไป ที่จะมีขึ้นในปี 70 ก็อาจจะใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ทัน
นายวราวุธ กล่าวต่อว่า การทำงานเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หัวใจสำคัญอยู่ที่รัฐบาลชุดนี้ จะต้องเร่งดำเนินการเพื่อจัดตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เพราะกลไกการทำงานแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อมี สสร.แล้ว อายุ หรือสถานะของ สสร. ไม่ได้ขึ้นอยู่กับวาระของสภาชุดนี้ เนื่องจากสภาจะครบวาระในวันที่ 13 พฤษภาคม 70 หากมีการตั้ง สสร. ได้ก่อนหน้านั้น การดำเนินการของ สสร. ก็จะสามารถดำเนินการไปโดยที่ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับสภา
สำหรับการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ ก็อย่าเพิ่งกังวลว่า เราจะไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ เพราะกฎหมายเลือกตั้งเป็นกฎหมายภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่ได้ต้องแก้ที่ตัวรัฐธรรมนูญอย่างเดียว ยังมีสภาฯ ที่สามารถแก้ไขกฎหมายมาตราต่างๆ ได้ เว้นแต่กติกาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากมีประเด็นใดที่อยากจะแก้ ก็สามารถใช้สภาฯในการแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งได้ จึงอยากฝากเป็นข้อสังเกต และให้กำลังใจกับรัฐบาล
...
สำหรับกรณีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ มีแนวทางมาค่อนข้างชัดเจน ว่าการแก้ มาตรา 256 จะต้องมีการทำประชามติก่อน ซึ่งเมื่อจัดทำ สสร.แล้ว จะมีการทำประชามติอีกครั้งหนึ่ง แต่จะเป็น 2 หรือ 3 ครั้งนั้น ย้ำว่า ช้าๆ ได้พร้าเล่มงามเสียดีกว่า เพราะหากทำการลัดขั้นตอน แล้วเกิดปัญหา ความพยายามตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา จะกลับไปที่ศูนย์ใหม่ หากเพิ่มเวลาอีกนิด ทำประชามติตามขั้นตอน ท้ายที่สุดแล้ว จะคุ้มค่าเงิน
นายวราวุธ ยังมองว่า เครดิตของการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ ไม่ได้แปลว่ารัฐธรรมนูญจะต้องประกาศใช้ในรัฐบาลนั้นๆ แต่การที่ทำให้เกิด สสร. คือหัวใจสำคัญมากกว่า เพราะเป็นที่มาที่ทำให้เกิดรัฐธรรมนูญ ฉันใดฉันนั้น เหมือนสมัย รัฐบาลของนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี
ขออย่านำปม เกาะกูด มาเป็นประเด็นการเมืองระหว่างประเทศ
นอกจากนี้นายวราวุธ ยังกล่าวถึงเรื่องบันทึกข้อตกลงไทย-กัมพูชา (MOU 2544) เกี่ยวกับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ภายหลังกัมพูชาลากเส้นแบ่งเขตทับเกาะกูด ว่า ขอให้ความสบายใจว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ กัมพูชาและไทย ไม่ได้มีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับเกาะกูดเลย เนื่องจากกัมพูชาไม่ได้มีความสนใจในพื้นที่ตรงนี้ตั้งแต่แรก และเส้นเขตแดนนั้น ไม่มีเกาะกูดเข้ามาเกี่ยวข้อง
นายวราวุธ เชื่อว่า ทุกพรรคการเมือง โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี เตะทิ้งไปได้ ไม่ได้อยู่ในข้อสังเกต ข้อกังวล ของ MOU 2544 แต่ประเด็นที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากการที่ประเทศไทยใช้มาตรการลากเส้นแบ่งเขตแดนแบบหนึ่ง แต่กัมพูชาใช้อีกแนวคิดหนึ่ง ซึ่งไม่ตรงกัน จึงทำให้เกิดพื้นที่ทับซ้อนขึ้นมา และพื้นที่ทับซ้อนตรงนี้ ก็มีทรัพยากรที่อยู่ใต้ดิน คือปิโตรเลียม จึงทำให้ต้องมีการพูดคุยกัน
นายวราวุธ ยืนยันว่า ไม่ใช่ข้อขัดแย้ง แต่เมื่อมีความเห็นไม่ตรงกัน จึงต้องมีคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา (JTC) เกิดขึ้น ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้มีการปรึกษาหารือกันโดยตลอด แต่เมื่อมาถึงจุดนี้แล้ว ในการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล จากนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี มาสู่ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จึงทำให้ต้องมีการตั้งเจทีซีของไทยขึ้นมาใหม่ ขณะที่ เจทีซีกัมพูชายังมีอยู่
สุดท้าย ตนขอฝากประชาชนว่า อย่าเอาประเด็นการเมืองมาสู่ความขัดแย้งระหว่างประเทศ เพราะเป็นคนละประเด็นกัน การทำงานระหว่างไทยและกัมพูชา เป็นการพูดคุย และหารือ เพื่อให้ได้ข้อตกลงร่วมโดยเร็วที่สุด ไม่ได้มีความขัดแย้ง และที่สำคัญไม่ได้เกี่ยวข้องกับอธิปไตยของเกาะกูดแต่อย่างใด ย้ำว่า เกาะกูดยังเป็นอำเภอหนึ่งที่อยู่ในจังหวัดตราดของไทย ไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ ทั้งสิ้น
จากนี้ไป จะเป็นขั้นตอนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการตั้งเจทีซีของไทย เพื่อไปหารือกับกัมพูชาต่อไป ในเรื่องทรัพยากรที่อยู่ใต้พื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน (Overlapping Claims Area : OCA) ย้ำว่า ไม่ต้องกังวลเรื่องเกาะกูด เนื่องจากพื้นที่โอซีเอ ยังจะต้องมีการเจรจากันต่อ ยืนยันว่า เราจะไม่มีการเสียเปรียบกัมพูชา และไม่เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบของใครทั้งนั้น ซึ่งการที่สองประเทศมีความคิดต่างกัน จึงจำเป็นต้องมาพูดคุยกันโต๊ะ โดยรัฐบาลดำเนินการเต็มที่ และจะไม่ให้เสียผลประโยชน์ของประเทศไทย