“แพทองธาร” ถกแกนนำพรรคร่วมฯ ปฏิเสธไทยส่อเสียดินแดนเกาะกูด ลั่นรัฐบาลรักษาแผ่นดินไทยเต็มที่ ไม่ยอมเสีย ให้ใครแม้แต่ตารางนิ้วเดียวแจงเอ็มโอยู 44 ไม่เกี่ยวกับเรื่องดินแดน แค่ 2 ประเทศ ลากเส้นแบ่งพื้นที่ผลประโยชน์ในทะเลไม่ตรงกัน ยกมติ ครม.รัฐบาล “ประยุทธ์” หักล้างข้ออ้างยกเลิกเอ็มโอยู 44 เดินหน้าตั้งคณะทำงานชุดใหม่เจรจากัมพูชาต่อ วอนอย่าเอาการเมืองมาสั่นคลอนความสัมพันธ์ 2 ประเทศ “อนุทิน” เผย กต.มาแจงข้อมูลทางเทคนิค ต้องตั้งกรรมการร่วมฝ่ายไทยหลังเปลี่ยนรัฐบาล “ไชยชนก” ระบุวงหารือเห็นพ้องแก้ รธน.
โดย ส.ส.ร. ไม่แตะต้องมาตรา 112 ออกตัวบางเรื่องต้องใช้เวลามากกว่า 1 รัฐบาล “สนธิรัตน์” จี้พรรคร่วมฯเดิมรักษาจุดยืนป้องผลประโยชน์ชาติ ปชน.โอ่ผลงาน 1 ปี ชงกฎหมาย 84 ฉบับ “พริษฐ์” การันตี ตรวจสอบเต็มที่ ไม่มีฮั้วรัฐบาลเพื่อไทย
ที่ประชุมแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลหยิบยกประเด็นร้อน ที่บางฝ่ายตั้งข้อสังเกตโจมตีจะนำไปสู่การเสียดินแดนเกาะกูดไปให้กัมพูชา โดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยืนยันเอ็มโอยู 44 ไม่ได้มีการยกเลิกในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และมีมติ ครม.รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เดินหน้าเจรจาพื้นที่ประโยชน์ทับซ้อนทางทะเลที่ยังมีการลากเส้นต่างกัน ต้องตั้งคณะทำงานขึ้นเจรจากันต่อ หลังมีการเปลี่ยนรัฐบาล
นายกฯถกยูเอ็นเดินหน้าโรดเซฟตี้
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 4 พ.ย. ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ให้การต้อนรับ นายฌอง ท็อด ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติด้านความปลอดภัยทางถนน (UN Secretary General’s Special Envoy for Road Safety) และคณะในโอกาสเยือนประเทศ ไทยอย่างเป็นทางการ โดย น.ส.แพทองธารกล่าวว่า ขอบคุณการสนับสนุนของสหประชาชาติ ขอย้ำถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างกันในการเดินหน้าทำงานเพื่อสังคมที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น ขณะที่นายฌอง กล่าวว่า ยินดีที่ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนมุมมองประเด็นต่างๆ ขอเชิญนายกฯร่วมแคมเปญโครงการ UN Global Campaign for Road safety ร่วมกับผู้มีชื่อเสียงอื่นๆ เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยบนท้องถนนและสร้างถนนที่ปลอดภัย ครอบคลุมและยั่งยืนทั่วโลก
...
กำชับดันเม็ดเงินลงทุนปลุกจีดีพี
ต่อมาเวลา 11.30 น. ที่ห้องกำปั่นทอง ชั้น 21 อาคาร 150 ปี กระทรวงการคลัง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 4/ 2567 มีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และ รมว.คลัง พร้อม รมช.คลัง รอต้อนรับ โดยนายกฯกล่าวตอนหนึ่งว่า เศรษฐกิจไทยเจอปัญหารุมเร้าหลายด้าน ทั้งปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมานาน และความท้าทายใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคมและการเมืองโลก จึงต้องแก้ไขปัญหา สะสม พร้อมสร้างภูมิคุ้มกันให้เศรษฐกิจ เครื่องมือที่สำคัญเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจคือการใช้จ่ายของภาครัฐ โดยเฉพาะงบลงทุนมูลค่าถึง 9.6 แสนล้านบาท หรือร้อยละ 5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ขอให้ผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานร่วมกันผลักเม็ดเงินการลงทุนทุกบาทลงสู่ระบบเศรษฐกิจเพื่อสร้างจีดีพีให้ประเทศและสร้างรายได้ให้ประชาชน
หารือพรรคร่วมฯ MOU44-แก้ รธน.
จากนั้นเวลา 13.30 น. ที่ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) เรียกประชุมแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ติดตามความคืบหน้าและปัญหาในการทำงาน มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) นายไชยชนก ชิดชอบ เลขาธิการ พรรค ภท. นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และ รมว.คลัง นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.ต่างประเทศ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมฯ หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) นายประภัตร โพธสุธน เลขาธิการพรรค ชทพ. นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนา (ชพน.) นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม หัวหน้าพรรคประชาชาติ (ปช.) และ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม เลขาธิการ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) และนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรฯ หัวหน้าพรรคกล้าธรรม (กธ.) เข้าร่วม โดยหยิบยกบันทึกข้อตกลงไทย-กัมพูชาหรือ MOU44 พื้นที่ทับซ้อนทางทะเล หลังกัมพูชาลากเส้นเขตแดนทับเกาะกูดของไทย และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในประเด็นร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ที่อาจทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จไม่ทันในรัฐบาลชุดนี้ขึ้นมาพูดคุย
ตั้ง กก.สางปมพื้นที่ทับซ้อนในทะเล
กระทั่งเวลา 15.00 น. น.ส.แพทองธารพร้อมแกนนำพรรคร่วมฯ ได้แถลงร่วมกันที่ทางเชื่อมตึกไทยคู่ฟ้ากับตึกสันติไมตรี โดย น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า เอ็มโอยู 44 ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับเกาะกูดที่เป็นของไทย เรื่องนี้ไม่มีข้อถกเถียง ถ้าดูการตีเส้นกัมพูชาตีเส้นเว้นเกาะกูดไว้ให้เรา วันนี้ไม่ได้พูดเรื่องที่ดิน แต่พูดถึงพื้นที่ในทะเลว่าใครขีดเส้นอย่างไร เพราะในเอ็มโอยูขีดเส้นไม่เหมือนกัน และเอ็มโอยูเป็นการเจรจาระหว่าง 2 ประเทศ ต้องมีคณะทำงานขึ้นมาพูดคุยกัน ตอนนี้คณะกรรมการของกัมพูชามีอยู่แล้ว ของเราเมื่อเปลี่ยนรัฐบาล ต้องเปลี่ยนคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ไทย-กัมพูชาด้วย สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ มีคณะกรรมการ JTC ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดตั้ง จะมีกระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพลังงานมาช่วยกัน ดำเนินการมาประมาณ 1 เดือน ไม่นานจะตั้งเสร็จ เมื่อเสร็จแล้วจะได้ศึกษาและพูดคุยกันว่าระหว่าง 2 ประเทศตกลงกันอย่างไร เมื่อถามว่ารัฐบาลจะเดินหน้าเอ็มโอยูใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า แน่นอน เราจะเดินต่อ
เดินหน้าต่อไม่มียกเลิกยุค “รบ.อภิสิทธิ์”
เมื่อถามว่า การไม่ยกเลิกเอ็มโอยูทำให้คนมองว่าเรายอมรับการขีดเส้นของกัมพูชาหรือไม่ น.ส.แพทองธารกล่าวว่า อันนั้นคือความเข้าใจผิด เราไม่ได้ยอมรับเส้นอะไร เอ็มโอยูดังกล่าวคือเราคิดไม่เหมือนกัน จึงต้องแก้ไขปัญหาร่วมกัน ปี 2515 กัมพูชาขีดเส้นมาก่อน ปี 2516 เราขีดเส้นด้วยข้อตกลงข้างในไม่เหมือนกัน จึงทำเอ็มโออยู่ขึ้นมาเปิดการเจรจา ขอย้ำว่าเกาะกูดไม่เกี่ยวกับการเจรจานี้ ให้คนไทยทุกคนสบายใจได้เลยว่าเราจะไม่เสียเกาะกูดไป และกัมพูชาไม่ได้สนใจเกาะกูดของเราด้วย เมื่อถามว่ามีการอ้างสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ มีมติ ครม.ยกเลิกเอ็มโอยู นายกฯกล่าวว่า ไม่มี ข้อเท็จจริงเอ็มโอยูปี 2544 ยกเลิกไม่ได้ หากไม่เกิดการตกลงของทั้ง 2 ประเทศ เรื่องนี้ต้องเข้าที่ประชุมรัฐสภา และในปี 2552 ไม่มีเรื่องนี้เข้าในรัฐสภา
งัดมติ ครม. “ลุงตู่” หักล้างลุยเจรจาต่อ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างนี้นางนฤมลที่ยืนอยู่ข้างๆนายกฯกล่าวเสริมว่า “ปี 2557 ท่าน พล.อ.ประยุทธ์ยืนยัน” น.ส.แพทองธารจึงกล่าวต่อว่า ปี 2557 พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันทุกคนเป็นเนื้อเดียวกันว่า มีมติ ครม.ว่าไม่มีการยกเลิก ส่วนที่มีเสียงเรียกร้องให้ยกเลิกนั้น ต้องถามว่ายกเลิกแล้วได้อะไร ทุกประเทศคิดไม่เหมือนกันได้ จึงต้องมีเอ็มโอยูเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาระหว่างประเทศ เรื่องนี้สำคัญมาก การรักษาไว้ซึ่งความสงบระหว่างประเทศเป็นสิ่งสำคัญ และถ้ายกเลิกฝ่ายเดียวโดนฟ้องร้องจากกัมพูชาแน่นอน
อย่าเอาการเมืองป่วนสัมพันธ์สอง ปท.
เมื่อถามว่า การยืนยันเช่นนี้อาจถูกมองว่ารัฐบาลเดินต่อ ไม่ฟังเสียงคัดค้าน นายกฯกล่าวว่า ไม่จริงเลย วันนี้ทุกคนตกลงกันอย่างง่ายดาย เข้าใจคอนเซปต์เดียวกันว่าอันนี้คือข้อตกลงระหว่างประเทศไม่เกี่ยวกับเสียงคัดค้าน ที่ออกมาพูดให้ประชาชนฟัง เพื่อจะอธิบายว่า 1.เอ็มโอยูไม่เกี่ยวกับเกาะกูด 2.เอ็มโอยูคือเรื่องระหว่าง 2 ประเทศ หากจะยกเลิกต้องเป็นการตกลงระหว่างประเทศ และ 3.เรายังไม่เสียเปรียบเกี่ยวกับข้อตกลงเลย ฉะนั้นอย่าเอาเรื่องการเมืองมาทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสั่นคลอน เราอยากให้เข้าใจตรงกันตามหลัก ถ้าทุกคนเข้าใจในหลักการแล้ว เรื่องนี้ไม่น่าจะบานปลาย เพราะทั้งหมดไม่มีการคุยอะไรข้างหลัง และเรื่องนี้ไม่ใช่เผือกร้อนของตน
ลั่นรัฐบาลรักษาแผ่นดินไทยเต็มที่
เมื่อถามอีกว่า จะใช้ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ กับสมเด็จฮุน เซน ประธานวุฒิสภาและอดีตนายกฯกัมพูชา ในเรื่องนี้หรือไม่ นายกฯกล่าวว่า “ความสัมพันธ์ที่ดีสามารถสร้างคอนเน็กชันที่ดีได้ แต่เรื่องประโยชน์ของประเทศเขาและประเทศเรา เราต้องใช้คณะกรรมการ เพื่อไม่ให้มีอคติ ให้เกิดความรู้จริง รู้ครบและยุติธรรม เมื่อถามว่ายืนยันจะรักษาผลประโยชน์ให้ประเทศไทยอย่างสูงสุดใช่หรือไม่ นายกฯกล่าวว่า “ดิฉันเป็นคนไทย 100% ประเทศไทยต้องมาก่อน คนไทยต้องมาก่อน รัฐบาลนี้ยืนยันจะรักษาแผ่นดินไทยไว้อย่างเต็มที่ และจะทำให้พี่น้องประชาชนมีความสุขที่สุด รัฐบาลนี้จะไม่ยอมเสียพื้นที่ของประเทศไทย แม้แต่ตารางนิ้วเดียวไปให้กับใครก็ตาม” นายกฯกล่าวย้ำหนักแน่น
“อ้วน” ย้ำยุค “ลุงป้อม” เจรจาค้างอยู่
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม กล่าวว่า สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์พูดกันเหมือนยกเลิกเอ็มโอยู 44 แต่ที่จริงไม่ได้ยกเลิก ยังไม่มีมติ ครม.ให้ยกเลิก ที่ผ่านมารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ มอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ที่กำกับดูแลเรื่องดังกล่าวไปเจรจากับกัมพูชาเมื่อปี 64 เรื่องนี้ยังค้างอยู่ ยืนยันเอ็มโอยู 44 ไม่เกี่ยวกับเกาะกูดเลย เกาะกูดยังเป็นของไทย 100% เป็นไปตามสนธิสัญญาฝรั่งเศส มีทหารดูแลรักษาอธิปไตยของไทยอยู่แล้ว ไม่เข้าใจหยิบกรณีเกาะกูดพูดถึงเพราะเหตุอะไร เอาให้ชัดจะให้ยกเลิกอะไร เกาะกูดเป็นของไทยอยู่แล้ว รัฐบาลไม่ได้หยิบประเด็นนี้ขึ้นมาดำเนินการตั้งแต่แรก
มท.1 ยันเกาะกูดไม่มีเสียดินแดน
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวว่าในฐานะ รมว.มหาดไทย โดยเจตนารมณ์และไปสืบหาข้อมูลหลักฐานต่างๆ ยืนยันเกาะกูดเป็นของไทยทุกตารางนิ้ว ข้อกังวลที่จะเสียดินแดนบางส่วนจากเส้นที่กัมพูชาลากเข้ามายืนยันไม่มี เอ็มโอยูมีการลงนามทั้ง 2 ฝ่าย จะยกเลิกโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ จะยกเลิกได้ทั้ง 2 ฝ่ายต้องเห็นพ้องต้องกัน ทั้งนี้ที่ประชุมพรรคร่วมรัฐบาลได้หารือถึงเอ็มโอยู 44 โดยกระทรวงการต่างประเทศได้มาชี้แจงทางเทคนิคและ จะตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคฝ่ายไทยขึ้นมา หลังคณะกรรมการชุดนี้สิ้นสุดไปตามการเปลี่ยนรัฐบาล ยืนยันเกาะกูดเป็นแผ่นดินไทย ส่วนเอ็มโอยู 44 ไม่ได้ระบุถึงเขตแดน มีแต่การพัฒนาพื้นที่ในทะเล คณะกรรมการทั้ง 2 ประเทศต้องมาหาข้อยุติ ทำอย่างไร ให้เส้นที่ต่างคนต่างลากเห็นพ้องด้วยกัน ตอนนี้ยังหาบทสรุปไม่ได้ จึงต้องคุยกันต่อไป
เห็นพ้องแก้ รธน.โดย ส.ส.ร.-ไม่แตะ 112
นายไชยชนก ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยนิดหน่อย ทุกคนเห็นตรงกันว่าควรมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าแก้ต้องเป็นประโยชน์กับประชาชน ทั้งวิธีการที่แก้หรือแก้เรื่องไหน เมื่อถามว่าเป็นห่วงกันว่าอาจแก้ไม่ทันในรัฐบาลชุดนี้ นายไชยชนกตอบว่า ทันหรือไม่ทัน ทุกคนขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ ที่สำคัญการเร่งให้ทัน กระบวนการต้องถูกต้อง เพราะเป็นกฎหมายที่ควบคุมทั้งประเทศ ถ้ามัวเร่งรีบอย่างเดียว เพื่อให้เสร็จออกมา แล้วพลาดขึ้นมาจะไม่มีใครรับผิดชอบได้ ส่วนการทำประชามติ พรรค ภท.เห็นว่าถ้าประชาชนเกินครึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ ถือว่ามากพอ เราสบายใจ ไม่ว่ารัฐบาลชุดนี้หรือรัฐบาลต่อไปก็กล้าเดินต่อ บางเรื่องต้องใช้เวลามากกว่ารัฐบาลหนึ่ง เมื่อถามว่ามีพรรคใดเป็นห่วงประเด็นไหนในการแก้รัฐธรรมนูญบ้าง นายไชยชนกตอบว่า ไม่มีพรรคไหนห่วง ทุกคนพูดเหมือนกันหมดว่าไม่แตะมาตรา 112
“สนธิรัตน์” จี้พรรคร่วม รบ.รักษาจุดยืน
เมื่อเวลา 12.26 น. นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ประธานศูนย์นโยบายและวิชาการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โพสต์เฟซบุ๊กกล่าวถึงกรณีนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยข้อมูลใหม่ว่า มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐบาลอภิสิทธิ์ เห็นชอบในหลักการ “ให้ยกเลิก MOU 2544” หรือยกเลิกบันทึกความเข้าใจระหว่างราชอาณาจักรไทย-กัมพูชาเกี่ยวกับการอ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลในอ่าวไทย ปี 44 (MOU 2544) ตั้งแต่วันที่ 10 พ.ย.52 ยังคงมีผลผูกพันทางกฎหมายถึงปัจจุบันว่า พรรคร่วมรัฐบาลในเวลานั้นที่เห็นชอบหลักการให้ยกเลิก MOU 2544 ประกอบไปด้วยพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรครวมชาติพัฒนา พรรคกิจสังคมและพรรคมาตุภูมิ ทั้งผู้นำพรรค สมาชิก พรรคหลายท่านนั่งอยู่ในรัฐบาลเวลานี้ จึงอยากเรียกร้องจากทุกพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบัน ให้ออกมายืนหยัดจุดยืนการยกเลิก MOU 2544 แบบที่ทุกท่านที่ได้เห็นชอบร่วมกันใน ครม.เวลานั้น ร่วมปกป้องผลประโยชน์ของชาติอย่างดีที่สุด ไม่ให้เอื้อประโยชน์ทับซ้อนกับผู้มีอำนาจและกลุ่มทุนใด
ปชน.โชว์ชง ก.ม.1 ปี 84 ฉบับไม่มีฮั้ว พท.
เมื่อเวลา 10.00 น. ที่อาคารอนาคตใหม่ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคประชาชน (ปชน.) แถลงข่าวสรุป 1 ปีผลงานกฎหมายในสภาฯของพรรค ปชน.ว่า ได้เสนอร่างกฎหมายเข้าสภาฯไปแล้ว 84 ฉบับ ผ่านวาระ 1 แล้ว 25 ฉบับ ผ่านความเห็นชอบ 3 วาระ 5 ร่าง เช่น ร่างสมรสเท่าเทียม เป็นต้น ช่วงปิดสมัยประชุมจะผลักดันกฎหมายและรณรงค์เดินสายทั่วประเทศ 7 ชุด ประกอบด้วย 2 เปิด 1.เปิดโอกาสแข่งขันทางการค้า ยื่นร่าง พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า 2.เปิดโปงการทุจริต อาทิ ร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลสาธารณะ แก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เรื่องสิทธิมนุษยชน เสนอปฏิรูปกองทัพในร่างกฎหมาย พ.ร.บ.ระเบียบราชการกลาโหม ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร เป็นต้น ส่วนผลโพลพรรค ปชน.กระแสลด ต้องดูรายละเอียดเป็นสำนักไหน ถามใคร อย่างไร แต่ล้วนเป็นประโยชน์ ประชาชนจะพิพากษาอย่างไรไปจบที่การเลือกตั้งครั้งถัดไป เหมือนเกมฟุตบอล ปรับเปลี่ยนไประหว่างแข่งขันได้ ท้ายสุดคะแนนต้องจบ 90 นาที ในฐานะแกนนำพรรคฝ่ายค้านเต็มที่ ตรวจสอบรัฐบาลทุกเรื่องที่สังคมคาใจ สมัยก่อนพรรค พท.กับพรรค ก.ก. เคยอยู่ซีกฝ่ายค้านร่วมกัน แต่หลังตั้งรัฐบาลปี 66 อยู่คนละขั้วกัน ตรวจสอบเต็มที่ ไม่ได้ฮั้วกัน ไม่มีการอ่อนข้อแน่นอน
จับตาเลื่อนเฟ้น ปธ.บอร์ด ธปท.
น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค ปชน. กล่าวถึงการเลื่อนการสรรหาประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกไปว่า เป็นที่ตัวบุคคล สืบเนื่องจากในอดีตที่มีพฤติกรรมส่อเค้าว่าจะแทรกแซง ธปท. เนื่องจากนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีต รมว.คลัง เคยพูดว่าจะปลดผู้ว่าการ ธปท. ช่วงปี 2554-2555 กลายเป็นข้อกังวล คงซื้อเวลามากกว่า ท้ายที่สุดคงมีการตกลงกัน ประธานบอร์ด ธปท.ไม่ได้มีอำนาจไปกำหนดดอกเบี้ยนโยบาย ยังเป็นหน้าที่ กนง. แต่ประธานบอร์ด ธปท.มีสิทธิกำหนดว่าใครจะมาเป็น กนง.รุ่นต่อไป รวมถึงเสนอชื่อผู้ว่าการ ธปท.คนต่อไป ต้องดูว่ายังดำเนินการอย่างอิสระ คำนึงถึงผลประโยชน์ระยะยาวหรือไม่ ตามกฎหมายดูเหมือนไม่มีอำนาจอะไร แต่ถ้ากำหนด กนง.อีก 2 คนได้ อาจเปลี่ยนเสียงข้างมากใน กนง.ได้หรือ เปลี่ยนตัวผู้ว่าการ ธปท.เป็นส่วนที่เราต้องจับตา
“อ้วน” โอดต้าน “โต้ง” โยงการเมือง
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกระแสต้านนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกฯและอดีต รมว.คลัง สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ นั่งตำแหน่งประธานบอร์ด ธปท.เพราะเกรงว่าการเมืองจะแทรกการทำงาน ธปท. ทำให้วันที่ 4 พ.ย. ต้องเลื่อนการสรรหาว่า สาเหตุที่เลื่อนการสรรหาต้องไปถามประธานคณะกรรมการสรรหา ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาลและตน เมื่อถามว่าที่มีกระแสต้านเพราะนายกิตติรัตน์มาจากฝ่ายการเมืองใช่หรือไม่ นายภูมิธรรมตอบว่า ต้องหาข้อสรุปและว่ากันตามกระบวนการทางกฎหมาย ถ้านายกิตติรัตน์ไม่ขาดคุณสมบัติสมัครได้ จริงๆไม่เห็นประเด็นที่ต้องคัดค้านนายกิตติรัตน์ ไม่เช่นนั้นจะทำงานไม่ได้เลย คิดว่านายกิตติรัตน์เป็นมืออาชีพ รู้ทั้งเรื่องการเงิน การคลัง หากเข้าไปจะพูดคุยในมุมมองที่กว้างขึ้น หากเข้าสู่กระบวนการแล้ว หากตัดสินใจอย่างไรเป็นเช่นนั้น ขึ้นอยู่กับบอร์ดแบงก์ชาติที่ตั้งคณะกรรมการสรรหาขึ้นมา
“อิ๊งค์” ไม่ตอบปมเวชระเบียนรักษาพ่อ
เมื่อเวลา 11.25 น. ที่กระทรวงการคลัง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ปฏิเสธที่จะตอบคำถามถึงกระแสข่าวคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พยายามขอเวชระเบียนการรักษาตัวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ จาก รพ.ตำรวจไปถึง 3 ครั้งแต่ไม่ได้รับ โดยนายกฯได้แต่ฟังคำถาม พยักหน้ารับทราบ แต่ไม่ได้ตอบคำถาม ต่อมาเวลา 13.00 น. ภายหลังประชุมหัวหน้าส่วนราชการ ผู้สื่อข่าวถามเรื่องเดิมอีกครั้ง นายกฯตอบเพียงว่า “เราเจอกันพรุ่งนี้เนอะ”
ผบ.ตร.โยนบอร์ด รพ.ตำรวจชี้ขาด
พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร.กล่าวว่า กระแสข่าวคณะกรรมการ ป.ป.ช.ขอเวชระเบียนการรักษาตัวของอดีตนายกฯ จาก รพ.ตำรวจถึง 3 ครั้ง แต่ไม่ได้รับว่า การบริหารราชการถึงแม้ตนจะกำกับดูแล รพ.ตำรวจ แต่อำนาจสิทธิ์ขาดขึ้นอยู่กับคณะกรรมการของ รพ.ตำรวจ ต้องพิจารณาคำร้องขอว่าให้ได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับพิจารณาของคณะกรรมการ ถ้าเห็นว่ากระทบสิทธิส่วนบุคคลของผู้ป่วยไม่ให้ก็ได้ ต้องสอบถามจาก รพ.ตำรวจเท่านั้น ไม่ต้องขอความเห็นจาก ผบ.ตร. ไม่ทราบว่ามีนัยหรือไม่ แต่ได้กำชับให้ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
“น้องธิธาร” วิ่งเล่นสนามหญ้าตึกไทย
เมื่อเวลา 17.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่าภายหลัง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ เสร็จสิ้นภารกิจ ก่อนเดินทางกลับบ้าน นายปิฎก สุขสวัสดิ์ สามี และ “น้องธิธาร สุขสวัสดิ์” บุตรสาว เดินทางมาพบ น.ส.แพทองธารที่ตึกไทยคู่ฟ้า เพื่อกลับออกจากทำเนียบฯพร้อมกัน โดย น.ส.แพทองธารและนายปิฎกได้พาน้องธิธารมาเดินเล่นที่สนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ไปยืนดูปืนใหญ่ วิ่งเล่นที่สนามหญ้าอย่างสนุกสนานกัน 3 คนพ่อ แม่ ลูก พร้อมโบกมือให้ผู้สื่อข่าวก่อนเดินทางกลับ ระหว่างรถยนต์ของนายกฯจะออกจากทำเนียบฯ น.ส.แพทองธารได้ลดกระจกลง เพื่อให้น้องธิธารโบกมือทักทายสื่อมวลชนด้วย
“เทพไท” ชี้ช่องสอบอุ้มนักโทษเทวดา
วันเดียวกัน นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โพสต์เฟซบุ๊กหัวเรื่อง “ชี้ช่อง “รังสิมันต์ โรม” เอาผิดนักโทษเทวดา” ใจความว่า สังคมคลางแคลงใจต่อบทบาทการตรวจสอบของพรรค ปชน.ต่อนายทักษิณมาตลอด เหมือนตรวจสอบแบบขอไปที มีข้อตกลงหรือความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันอะไรหรือไม่ ขอแนะนำให้เรียกสมุดบันทึกสีน้ำเงินเล่มใหญ่ ที่บันทึกการตรวจผู้ป่วยของเวรตรวจประจำวันทุกวันที่ต้องรายงานต่อผู้บังคับบัญชาการเรือนจำ พร้อมถ่ายรูปผู้ป่วยที่เป็นนักโทษติดกุญแจโซ่ตรวนที่ขากับเตียงนอน ส่งรายงานทางแอปพลิเคชันไลน์ ถึงผู้บัญชาการเรือนจำทุกวันเช่นกัน เป็นหลักฐานชัดเจนว่านายทักษิณพักรักษาตัวอยู่ที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจจริงหรือไม่ มีใครได้เข้าเยี่ยมในแต่ละวันบ้างหรือไม่ ถ้าไม่มีหลักฐานนี้ สันนิษฐานได้เลยว่ามีเหตุผิดปกติเกิดขึ้น ขอให้ กมธ.ชุดนี้สอบสวนค้นหาความจริง ขออย่าเป็นมวยล้มต้มคนดูแล้วกัน
“เสรีพิศุทธ์” ไม่ไปให้ข้อมูล กมธ.มั่นคง
ด้าน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีคณะ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ เชิญไปให้ข้อมูลกรณีการพักรักษาตัวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจในวันที่ 7 พ.ย.ว่า จะไม่ไปให้ข้อมูลต่อ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ เนื่องจาก ป.ป.ช.สอบสวนเรื่องนี้แล้ว ให้ข้อมูลพร้อมนำหลักฐานส่งให้ ป.ป.ช.หมดแล้ว ไม่จำเป็นต้องให้ข้อมูลกับ กมธ. เชิญมาคงไม่เหมาะ ใน กมธ.มีคนจากพรรค พท.เข้าร่วม เป็นลูกน้องนายทักษิณ เกรงความลับจะรั่วไหล ส่วนที่ ป.ป.ช.อยากได้ข้อมูลเวชระเบียนประวัติการรักษาตัวของนายทักษิณที่ รพ.ตำรวจ ให้ไปขอ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ หรือนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและ รมว.กลาโหม กำกับดูแลตำรวจ ไม่ต้องไปขอจาก รพ.ตำรวจ ถ้าไม่ให้ให้เอาผิดทั้ง 2 คนไปด้วย อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเวชระเบียนเป็นแค่พยานหลักฐานส่วนหนึ่ง การเอาผิด ไม่ได้ดูจากเวชระเบียนอย่างเดียว ยังมีข้อมูลอื่นๆอีกเยอะแยะ
แนะเค้นข้อมูลการรักษาจากลูก
พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์กล่าวว่า ขอแนะนำให้ ป.ป.ช.หรือ กมธ.ไปหาข้อมูลจากบุคคลอื่นๆที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม เช่น เชิญบุคคลในครอบครัวนายทักษิณมาให้ข้อมูล ทั้งคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภริยา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ และลูกคนอื่นๆ บุคคลเหล่านี้มีชื่ออยู่ในผู้มีสิทธิเยี่ยมนายทักษิณตอนพักรักษาตัวชั้น 14 รพ.ตำรวจ ถ้าอยากรู้ข้อมูลอาการป่วยสอบถามได้ อยากรู้เหมือนกันจะกล้ามาให้ข้อมูลหรือไม่ สิ่งที่เคยพูดข้อมูลกรณีชั้น 14 ของนายทักษิณไปเป็นเรื่องจริง นายทักษิณไม่เคยปฏิเสธ ไม่เคยฟ้องตนกลับ นอกจากนี้เคยโทร.ไปถาม พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล อดีตรอง ผบ.ตร.ยอมรับว่า เคยได้รับนัดหมายไปพบนายทักษิณที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ หาก ป.ป.ช.เรียกไปให้ข้อมูล พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์พร้อมจะไปตามที่ ป.ป.ช.เรียก
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่