รู้จักโปรเจกต์ใหม่ ไข่มุกอ่าวไทย สร้างเกาะเขื่อน ในทะเล ป้องกันน้ำท่วม กทม.

จากภาวะโลกร้อนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีความรุนแรงขึ้นทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นทั่วโลก และทำให้หลายพื้นที่เสี่ยงเกิดภาวะน้ำท่วมมากขึ้น รวมทั้งกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลที่มีความเสี่ยงถูกน้ำท่วมเช่นกัน ซึ่งเป็นสาเหตุที่รัฐบาลและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเริ่มพูดถึงการวางแผนป้องกันน้ำท่วมขนาดใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต 


ก่อนหน้านี้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แสดงวิสัยทัศน์  บนเวที Vision for Thailand 2024 ว่า“ผมเคยพูดไว้นานแล้ว แต่ยังไม่ได้ทำ นั่นคือ การถมทะเลบางขุนเทียน ปากน้ำ เพื่อให้ได้พื้นที่ ขยายความแออัดของ กทม. ส่วนหนึ่งและทำให้เป็นเมืองสีเขียว และเป็นเมืองใหม่ให้รถไฟฟ้าวิ่งเท่านั้น มีรถไฟเชื่อมและป้องกันน้ำท่วม กทม. ได้ เราต้องเตรียมการป้องกันน้ำท่วม กทม.ตั้งแต่วันนี้”

ขณะที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าปัญหาน้ำท่วมเป็นปัญหาที่รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาและป้องกันเพื่อไม่ให้ประชาชนจำนวนมากได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมที่เป็นปัญหาที่มีความรุนแรงขึ้นทุกปี 

นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการนโยบายสิ่งแวดล้อม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่าการป้องกันน้ำท่วม กทม.และพื้นที่โดยรอบเป็นเรื่องที่พรรคเพื่อไทยได้มีการวางแผนและศึกษาไว้นานแล้วเพราะพรรคเห็นถึงความจำเป็นในเรื่องนี้ จากผลการศึกษาในภาวะที่โลกร้อนมีความรุนแรงน้ำแข็งขั้วโลกละลายสูงมาก

ซึ่งเป็นเรื่องที่มีการพูดคุยกันในองค์การสหประชาชาติ (UN) มาหลายปีแล้วเกี่ยวกับเรื่องที่น้ำทะเลสูงขึ้นและจะมีพื้นที่จำนวนมากที่จมน้ำ เช่นเดียวกับในอ่าวไทยที่น้ำในมหาสมุทรและทะเลจะสูงขึ้น ซึ่งโมเดลที่มีการทำและในกรณีที่มีภาวะโลกร้อนสูงสุด น้ำแข็งละลายสูงสุดน้ำทะเลในอ่าวไทยจะสูงขึ้นมากขึ้นถึง 5 – 6 เมตร ทำให้น้ำท่วมเข้ามาในพื้นที่ด้านอ่าวตัวก.บริเวณอ่าวไทยกินพื้นที่การท่วมในพื้นที่ลุ่มมากถึง 16,000 ตารางกิโลเมตร
ซึ่งแปลว่าอ่าวไทยฝั่งจะขึ้นไปที่จ.ลพบุรี จ.สระบุรีทางตอนเหนือ อุทัยธานี จังหวัดที่ถูกน้ำท่วมแน่คือกรุงเทพฯ นนทบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา ปราจีนบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และชลบุรีบางส่วนจะถูกน้ำท่วม

ซึ่งพื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่ที่เราต้องป้องกันซึ่งรัฐบาลก็ต้องมีหน้าที่ที่จะคิดป้องกันในส่วนนี้เพราะไม่เช่นนั้นจะเกิดผลเสียกับเศรษฐกิจและประชาชนมาก 


ทั้งนี้แม้ว่าในระยะเวลาสั้นในช่วง 2 – 5 ปีข้างหน้าการป้องกันสามารถทำเหมือนที่ทำอยู่ในทุกวันนี้ได้คือการเสริมพนังกั้น หรืออุดรอยรั่วของพนังและเขื่อนกั้นน้ำที่มีการสร้างมาก่อนหน้านี้ซึ่งในขณะนี้ กทม.ก็มีการทำอย่าในช่วงที่มีปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามากขึ้นแต่ในระยะถัดไปเมื่อปริมาณน้ำทะเลหนุนสูงมากขึ้นจากภาวะโลกร้อนการสร้างกำแพงหรือพนังกั้นน้ำไม่สามารถใช้ได้ต้องพิจารณาการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จะมีการป้องกันน้ำทะเลท่วมพื้นที่ซึ่งมีความแข็งแรงและใช้งานต่อไปได้ในระยะยาว
โดยแนวคิดที่ผ่านมาคือมีการพิจารณาถึงแนวคิดที่หลากหลายทั้งการสร้างประตูระบายน้ำกั้นแม่น้ำขนาดใหญ่ใน 4 แม่น้ำที่ไหลลงทะเลที่อ่าวไทย เพื่อไม่ให้น้ำทะเลหนุนท่วมขึ้นมาตามแม่น้ำสายต่างๆ

แต่แนวคิดนี้ถือว่าเป็นไปได้ยากเพราะในการออกแบบประตูน้ำที่จะใช้ในการปิดแม่น้ำต่างๆมีข้อจำกัดในการก่อสร้างและการใช้งานจริง ขณะที่อีกแนวคิดหนึ่งคือการสร้างฟลัดเวย์โดยการยกระดับถนนเส้นหลักเพื่อเป็นทางกั้นและระบายน้ำที่จะเข้ามาท่วมพื้นที่เศรษฐกิจก็ทำได้ยากมากอีกเช่นกัน เพราะหากจะมีการปิดจราจรในถนนเส้นต่างๆที่เป็นเส้นหลักนั้นก็จะเกิดความโกลาหลอย่างมากในการสัญจรไปมา

สร้างเกาะและเขื่อนกั้นน้ำทะเล ในระยะทาง 100 กม.


ดังนั้นทางออกก็คือสร้างสิ่งปลูกสร้างลงไปในทะเลในลักษณะของเกาะซึ่งเบื้องต้นอาจจะมีเกาะจำนวน 9 เกาะ และให้แต่ละเกาะนั้นมีเขื่อนเป็นแนวกั้นน้ำและมีประตูเปิดปิดได้ซึ่งเกาะแรกจะสร้างในพื้นที่ของชายทะเลบางขุนเทียน จากนั้นจะสร้างเกาะอื่นๆไปจนถึงชลบุรี รวมระยะทางตลอดอ่าวตัว ก.ประมาณ 100 กิโลเมตร 

พื้นที่เขื่อน 50 ตรกม.ให้สัมปทาน 99 ปี


ทั้งนี้พื้นที่เกาะที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นจุดเชื่อมของเขื่อนกั้นน้ำแต่ละเกาะจะมีขนาดประมาณ 50 ตารางกิโลเมตร และสร้างห่างจากชายฝั่งไป 1 กิโลเมตร มีถนนเชื่อมกับพื้นที่ชายฝั่ง โดยแนวความคิดก็คือเกาะที่สร้างขึ้นนี้เป็นการลงทุนของเอกชน โดยเอกชนที่เข้ามาลงทุนก็จะได้สัมปทานไป อาจจะเป็น 99 ปี ซึ่งสามารถพัฒนาเกาะนี้ใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆเช่นการท่องเที่ยวที่จะเป็นแลนด์มาร์คใหม่ หรือเป็นเมืองใหม่ที่เป็นสมาร์ทซิตี้ใช้พลังงานสะอาด ที่จะมีการติดตั้งกังหันลม หรือโซลลาร์เซลล์ ก็สามารถที่จะออกแบบได้ โดยเมื่อหมดระยะเวลาสัมปทานแล้วพื้นที่นี้ก็จะเป็นของภาครัฐ ซึ่งแนวความคิดนี้ทำให้เกิดประโยชน์ทั้งในแง่ของภาครัฐที่ได้โครงสร้างพื้นฐานในการป้องกันน้ำท่วมพื้นที่เศรษฐกิจและพื้นที่ลุ่มในพื้นที่กทม.และปริมณฑล รวมทั้งพื้นที่ลุ่มในภาคกลางที่จะถูกน้ำทะเลท่วมถึงได้ในอนาคต 


“โครงการนี้มีชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่าโครงการสร้อยไข่มุกอ่าวไทย ซึ่งถือว่าโครงการนี้ถือว่าเป็นโครงการที่ใหม่มาก แต่ก็มีความจำเป็นที่รัฐบาลต้องตัดสินใจว่าจะเริ่มเดินหน้าได้หรือไม่ เพราะโครงการนี้เป็นโครงการที่ต้องแข่งกับเวลา เพราะทั้งโครงการจะต้องใช้เวลาสร้างกว่า 20 ปี และจะเป็นโครงการที่ใช้เงินในการก่อสร้างมากที่สุดในประวัติศาสตร์เท่าที่ประเทศไทยเคยลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมา โดยหากสามารถเดินหน้าในพื้นที่แรกคือเกาะในพื้นที่ชายทะเลบางขุนเทียน หากสามารถเริ่มทำได้ก่อนในสมัยรัฐบาลนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีเพราะจะทำให้เกิดการลงทุนต่อเนื่องในพื้นที่อื่นๆต่อไป” นายปลอดประสพ กล่าว 

 

อดีตรองนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวด้วยว่าโครงการในลักษณะนี้มีองค์ความรู้อยู่ในหลายประเทศที่มีการสร้างโครงการในลักษณะนี้ เช่น เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ เนเธอร์แลนด์ เขตเศรษฐกิจพิเศษ ฮ่องกง ซึ่งหากประเทศไทยประกาศว่าจะทำโครงการในลักษณะนี้ก็สามารถที่จะเปิดให้มีการออกแบบดีไซน์โครงการในลักษณะที่เปิดกว้าง

รวมทั้งเปิดโอกาสให้สถาบันศึกษาในประเทศไทยออกแบบการใช้ประโยชน์บนพื้นที่เกาะต่างๆได้ ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้มีการใช้องค์ความรู้ต่างๆทั้งทางวิศวกรรมศาสตร์ วิศวกรรมทางทะเล วิศวกรรมสมุทรศาสตร์ (Oceanic Engineering) มาพัฒนาโครงการนี้ซึ่งจะเกิดประโยชน์ในการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต  
 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...