วัดใจนโยบายค่าแรง ‘แพทองธาร’ 74 จังหวัดเสนอขึ้นไม่ถึง 400 บาท

นโยบายการปรับค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาท เป็นนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทยที่ใช้ในการหาเสียง โดยในรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ได้ทยอยปรับขึ้นเป็นวันละ 400 บาท ในบางธุรกิจท่องเที่ยว 10 จังหวัด และได้ประกาศเมื่อเดือน พ.ค.2567 ว่าจะปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท ในวันที่ 1 ต.ค.2567

จากนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ ส่งผลให้ภาคเอกชนที่ประกอบธุรกิจต่างออกมาคัดค้านอย่างต่อเนื่อง ในการประชุมคณะกรรมการภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2567 ได้หารือเกี่ยวกับการปรับค่าแรงเป็นวันละ 400 บาท ทั่วประเทศ

ทั้งนี้ กกร.ได้ประสานกับ กกร.กลุ่มจังหวัด พร้อมคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด เพื่อทำหนังสือเสนอผู้ว่าราชการของแต่ละจังหวัด ในการแสดงจุดยืนของ กกร.ต่อนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการค่าจ้าง โดยส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการครบ 77 จังหวัด เมื่อวันที่ 5 ก.ค.2567

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการค่าจ้าง กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ขั้นตอนการพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำถูกกำหนดให้เสร็จภายในเดือน ก.ย.2567 โดยขณะนี้คณะอนุกรรมการค่าจังหวัด 77 จังหวัด ได้ส่งข้อมูลค่าจ้างของแต่ละวังหวัดเข้ามาที่ส่วนกลาง ซึ่งขณะนี้จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองที่กำหนดพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 9 ก.ย.2567

หลังจากนั้นจะเสนอต่อคณะกรรมการค่าจ้างกลางที่มีปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน ซึ่งจะพิจารณาตามข้อเท็จจริงและข้อเสนอของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด

สำหรับข้อเสนอของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดมีอย่างน้อย 23 จังหวัดที่ไม่เสนอปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งทำให้คงระดับค่าจ้างขั้นต่ำที่ 330-345 บาท เช่น หนองบัวลำภู อุดรธานี ชัยภูมิ บุรีรัมย์ หนองคาย ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี

นอกจากนี้ แต่ละจังหวัดมีการเสนอขั้นค่าแรงขั้นต่ำแตกต่างกันระหว่าง 2-42 บาท รวมทั้งส่วนใหญ่เสนอให้มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค.2568 เช่น อ่างทองเสนอปรับเพิ่มขึ้น 29 บาท, เลยเสนอปรับขึ้น 26 บาท

สมุทรปราการเสนอปรับขึ้นมากที่สุด 42 บาท ทำให้ค่าแรงขั้นต่ำมาอยู่ที่ 405 บาท แต่ข้อเสนอไม่ระบุวันที่มีผลบังคับใช้ ส่วนภูเก็ตเสนอปรับขึ้น 30 บาท เป็นวันละ 400 บาท ให้มีผลบังคับใช้เดือน ม.ค.2568 ซึ่งจากข้อเสนอดังกล่าวทำให้มี 3 จังหวัดที่ค่าแรงขั้นต่ำขึ้นไปถึงวันละ 400 บาท คือ ภูเก็ต กรุงเทพฯ และสมุทรปราการ

ทั้งนี้ สำหรับเกณฑ์การพิจารณาได้อาศัยกฎหมายมาตรา 87 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ในการพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในคณะกรรมการค่าจ้างศึกษาและพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ ประกอบกับข้อเท็จจริงอื่น 

โดยคำนึงถึงดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้าและบริการ ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม การพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจะกำหนดให้ใช้เฉพาะกิจการ งาน หรือสาขาอาชีพประเภทใด เพียงใด ในท้องถิ่นใดก็ได้

“แรงงาน” ยันดีเดย์ขึ้นค่าแรง400 บาท 1 ต.ค.นี้

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศที่รัฐบาลได้มีการประกาศไว้ว่าจะมีการปรับขึ้นในวันที่ 1 ต.ค.2567 ขณะนี้ รัฐบาลยังตั้งเป้าจะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ 400 บาทเหมือนเดิม

อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศในครั้งนี้ จะไม่รวมกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มเอ็มอียังไม่ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพราะขณะนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอียังคงได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง และการที่ได้รับผลกระทบจากการที่มีสินค้าราคาถูกและนำเข้าผิดกฎหมายเข้ามาตีตลาดเป็นจำนวนมาก จึงจะยกเว้นการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้กับผู้ประกอบการที่เป็นเอสเอ็มอีก่อน 

นอกจากนี้ ภายหลังจากที่มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำแล้วจะมีการเสนอแพคเกจการเยียวยาช่วยเหลือผู้ประกอบการซึ่งนอกจากมาตรการของกระทรวงแรงงานจะมีมาตรการทางภาษีของกระทรวงการคลังรวมเข้ามาด้วย

เล็งลดเงินประกันสังคมฝ่ายนายจ้าง1%

ส่วนกระทรวงแรงงาน นายพิพัฒน์ กล่าวว่า จะเสนอให้ ครม.พิจารณาลดเงินสมทบประกันสังคมฝ่ายนายจ้าง 1% เป็นระยะเวลา 12 เดือน ซึ่งในเรื่องนี้ได้เคยมีการหารือกับภาคเอกชนเช่น นายคุโรดะ จุน ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่นประจำกรุงเทพฯ (JETRO Bangkok) และนายโคโซ โท ประธานหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (Japanese Chamber of Commerce, Bangkok:JCC) ถึงแนวทางการออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน ในประเทศไทยเบื้องต้นให้ JETRO และ JCC รับทราบ หลังจากผู้ประกอบการญี่ปุ่นในประเทศไทย ได้สอบถามและมีข้อกังวลเกี่ยวกับการขึ้นค่าแรงในปี 2567 นี้ ซึ่งผู้ประกอบการก็พอใจและเชื่อว่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบส่วนหนึ่งได้

สำหรับมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นมาตรการอื่นๆ เบื้องต้น ได้แก่ การลดภาษีค่าใช้จ่ายของสถานประกอบการ 1.5% โดยในเรื่องนี้ทางกระทรวงแรงงานจะหารือกับกระทรวงการคลังต่อไป ซึ่งมาตรการทั้งหมดที่ออกมาต้องมีการเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ที่จะเข้ามาทำหน้าที่พิจารณาด้วย

“คลัง”พร้อมออกมาตรการภาษีช่วยลดต้นทุน

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อการประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ มีผลบังคับใช้ คาดว่า กระทรวงการคลัง จะมีการออกมาตรการภาษีเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบด้านต้นทุนที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการ โดยให้นำค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นนั้นมาใช้ใพักลดหย่อนภาษีได้เป็นการชั่วคราว

ทั้งนี้ จะเป็นลักษณะคล้ายกับมาตรการที่เคยทำมาในอดีต เมื่อปี 2561 ที่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ โดยผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงให้นำค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้ 1.15 เท่า หรือประมาณ 3% ของอัตราค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาและต้องรอการจัดตั้งรัฐบาลให้เรียบร้อยก่อนถึงจะสรุปได้ว่าจะมีมาตรการรูปแบบใด

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...