เปิดแผน ‘ภาษี’ สกัดสินค้าจีน ดึงเข้าระบบ VAT รัฐเปิดไต่สวน AD เองได้

ผลกระทบจากการผลิตสินค้าจำนวนมากและส่งออกขายไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกของสินค้าในจีนได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ และอุตสาหกรรมการผลิตในหลายประเทศทั่วโลกที่ไม่สามารถแข่งขันในสงครามราคากับผู้ประกอบการจากจีนที่มีต้นทุนการผลิตถูกกว่าซึ่งปัญหานี้ส่งผลกระทบกับประเทศไทยและมีเสียงสะท้อนมาถึงรัฐบาลให้ช่วยแก้ไขปัญหาเช่นกัน

ก่อนหน้านี้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า ยอดจดทะเบียนกิจการช่วงที่ผ่านมาของปี 2567 มีโรงงานอุตสาหกรรมทยอยปิดกิจการต่อเนื่อง โดยเฉพาะปี 2566 โรงงานปิดกิจการ 1,337 แห่ง เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 65% หรือเฉลี่ยเดือนละ 111 แห่ง ส่งผลให้มีผู้ตกงานแล้ว 15,000 คน 

รวมทั้ง 2 ปีที่ผ่านมา จากปัญหาสงครามการค้าทำให้สหรัฐและสหภาพยุโรปใช้มาตรการตอบโต้จีน ในขณะที่จีนมีกำลังการผลิตเท่าเดิมจึงมีสินค้าราคาถูกทะลักเข้าอาเซียนจำนวนมาก ส่วนผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในประเทศต้องลดกำลังการผลิตลงเพราะแข่งขันต้นทุนสินค้าไม่ได้

รัฐบาลพยายามแก้ปัญหานี้โดยวันที่ 13 ส.ค.2567 ที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในขณะที่นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เสนอการป้องกันและปราบปรามธุรกิจขายสินค้าจากต่างประเทศที่ผิดกฎหมาย โดยมอบให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นเจ้าภาพพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

ทั้งนี้ เพื่อกำหนดมาตรการแนวทางแก้ปัญหาและปกป้องผลประโยชน์ของผู้ผลิตและผู้ประกอบการไทยให้ชัดเจนเป็นรูปธรรมครบทุกมิติ โดยให้คำนึงถึงความสอดดคล้องกับความตกลงการค้าระหว่างประเทศควบคู่การรักษาผลประโยชน์ผู้บริโภคและผู้ประกอบการไทย

รวมทั้งแนวทางการสนับสนุนและพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของไทยให้ปรับตัวและแข่งขันต่างชาติได้ในสภาวะการค้าปัจจุบันแล้วให้ทำสรุปผลการพิจารณา/ผลการดำเนินการ

“พาณิชย์” ถก 22 หน่วยงานคุมสินค้าไร้มาตรฐาน

ต่อมากระทรวงพาณิชย์ประชุมกับ 22 หน่วยงาน และภาคเอกชนเพื่อแก้ปัญหานี้ซึ่งประกอบด้วย ภาคอุตสาหกรรมการผลิตรวม 30 กลุ่มธุรกิจ และธุรกิจบริการ (ขนส่งและโละโสติกส์และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์) 10 หน่วยงาน เพื่อหารือข้อเสนอแนะ รวมถึงมาตรการแนวทางแก้ปัญหาเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าและบริการที่ไม่มีคุณภาพมาตรฐานจากต่างประเทศที่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบการไทย โดยได้มีแนวทางเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2567 พิจารณา

นายศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ครม.เห็นชอบมาตรการป้องกันสินค้าผิดกฎหมาย เพื่อแก้ปัญหาสินค้าราคาถูกที่ไม่ได้มาตรฐานที่เข้ามาไทยตามที่กระทรวงพาณิชย์ เนื่องจากมีผู้ประกอบการไทยได้รับความเดือดร้อน และแข่งขันกับสินค้าจีนได้ยาก โดย ครม.เห็นชอบแนวทางการแก้ปัญหา 5 มาตรการหลัก 63 แผนปฏิบัติการ โดยมีสาระสำคัญ ได้แก่

ออกกฎหมายคุมจดทะเบียนในไทย

1.ให้หน่วยงานรัฐบังคับใช้ระเบียบกฎหมายเข้นข้น เช่น บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจเข้มสินค้า ณ ด่านศุลกากร การเพิ่มอัตราการเปิดตู้สินค้า (Full Container Load) เพื่อตรวจสอบคุณภาพสินค้านำเข้าจากต่างประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐานหรือการได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น 

มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สินค้าตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา การตรวจสอบมาตรฐานสินค้าที่จำหน่ายออนไลน์ โดยจะเพิ่มความถี่ในการตรวจสอบ รวมถึงการตรวจสอบผู้ประกอบการ/ผู้ให้บริการให้ปฏิบัติตามกฎหมายไทย การป้องปรามการกระทำอันมีลักษณะเป็นนอมินี

 

2.ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบให้สอดคล้องการค้าอนาคต เช่น กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ ต้องจดแจ้งและจัดตั้งนิติบุคคลในไทย เพื่อให้ภาครัฐกำกับดูแลประโยชน์ผู้บริโภคและความเป็นธรรมในการประกอบธุรกิจ 

ทั้งนี้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) อยู่ระหว่างจัดทำประกาศฯ ให้ผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มต่างประเทศที่มีคุณสมบัติตามกำหนด “ต้องจดทะเบียนนิติบุคคล โดยให้มีสำนักงานในไทย” พร้อมให้มีข้อกำหนดเพิ่มเติมเพื่อให้แข่งขันที่เป็นธรรมและคุ้มครองผู้บริโภคไทย 

นอกจากนี้ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จะเร่งเพิ่มจำนวนรายการสินค้าควบคุมภายใต้มาตรฐานบังคับ ครอบคลุมรายการสินค้าให้มากที่สุด

เพิ่มมาตรการด้านภาษี-ลดการนำเข้า

3.มาตรการด้านภาษี เช่น ภาษีศุลกากร ภาษีรายได้นิติบุคคลภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (Ant-dumping: AD) ภาษีตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (Anti-circumvention: AC) มาตรการปกป้องจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard Measure: SG)

ทั้งนี้ ปัจจุบันรัฐบาลอยู่ระหว่างการศึกษาการแก้ไขกฎหมายการทุ่มตลาดที่ให้เอกชนที่ได้รับผลกระทบเป็นผู้ฟ้องร้องมาเป็นให้รัฐบาลฟ้องแทนเพราะรัฐบาลรู้ถึงผลกระทบ และมีข้อมูลที่จะสามารถสู้กับบริษัทต่างชาติได้หากมีการกระทำในลักษณะทุ่มตลาดจนกระทบกับสินค้าในไทยจริง ทั้งนี้ในช่วงที่ยังไม่สามารถแก้กฎหมายได้ก็จะต้องให้ความรู้กับผู้ประกอบการมากขึ้น

ปัจจุบันกรมสรรพากรอยู่ระหว่างปรับปรุงประมวลรัษฎากรสำหรับการกำหนดให้ผู้ขายสินค้าออนไลน์จากต่างประเทศและแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์ที่จำหน่ายสินค้าในไทยต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากร 

ขณะเดียวกันกรมการค้าต่างประเทศจัดอบรมให้ความรู้เชิงเทคนิคกับผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว เพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับกระบวนการยื่นคำขอและไต่สวนการใช้มาตรการ AD AC และ SG

4.มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs โดยให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการพัฒนาเสริมความแข็งแกร่งภาคธุรกิจเร่งพัฒนาศักยภาพการผลิตสินค้าไทยและการประกอบธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ SMEs ไทย เพื่อให้แข่งขันได้ในยุคการค้าโลกใหม่ เช่น การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ในการผลิต และขยายการส่งออกสินค้าไทยผ่าน E-Commerce

ต่อยอดความร่วมมือกับประเทศคู่ค้าเพิ่มมากขึ้น

5.สร้าง/ต่อยอดความร่วมมือกับประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้นเช่น กับสาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี ให้เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการผลักดันสินค้าและบริการไทยผ่าน E-Commerce ต่างประเทศ รวมถึงส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางรวบรวมและกระจายสินค้าสำหรับ E-Commerce ในระดับภูมิภาค

ทั้งนี้ ครม.มีมติให้ทุกหน่วยต้องดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดทันที โดยรายงานผลการดำเนินงานเป็นรายสัปดาห์ และจะมีการประชุมหารือในเรื่องดังกล่าวทุก 2 สัปดาห์ หากมีความจำเป็นตามสถานการณ์อาจพิจารณาปรับแผนดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 

5 มาตรการสอดรับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวข้างต้นได้คำนึงถึงความสอดคล้องกับความตกลงทางการค้าและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับประเทศคู่ค้า ควบคู่กับการรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภคและผู้ประกอบการไทยอย่างสมดุล ตลอดจนสนับสนุนและพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้สามารถปรับตัวและแข่งขันได้ในโลกการค้ายุคใหม่ โดยในเรื่องของการใช้มาตรการภาษียังไม่มีการพิจารณาในขณะนี้

นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.ได้หารือกันในเรื่องการจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจฯ เพื่อทำหน้าที่ในการกำกับและติดตามแผนปฏิบัติการของหน่วยงานในแต่ละด้าน และรายงานการแก้ปัญหาเรื่องนี้ รวมทั้งรายงานปัญหาและอุปสรรคต่างๆให้รองนายกรัฐมนตรี หรือ รมช.พาณิชย์ที่เป็นประธานรับทราบเพื่อสั่งการให้ดำเนินการต่อไป 

อย่างไรก็ตาม ในส่วนนี้ที่ประชุม ครม.มีความเห็นว่าควรมีการเสนอเข้ามาภายหลังที่มี ครม.ชุดใหม่แล้วซึ่งคณะทำงานในเรื่องนี้ก็พร้อมที่จะเสนอ ครม.ชุดใหม่เพื่อให้มีการจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจฯในเรื่องนี้ขึ้น

“หอการค้า”หนุนรัฐบาลออกมาตรการ

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า การที่ ครม.อนุมัติ 5 มาตรากรสกัดสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพทะลักเข้าไทย เป็นสิ่งดีที่รัฐบาลให้ความสำคัญและมีมาตรการรับมือ เพราะผู้ประกอบการได้รับผลกระทบมาก

ทั้งนี้ หอการค้าไทยได้หารือฝ่ายจีนเบื้องต้นทราบว่ารัฐบาลจีนมีความพร้อมและตั้งใจที่จะให้การสนับสนุนการทำงานของไทยในส่วนนี้ อย่างเต็มที่ เพื่อให้การค้าระหว่าง 2 ประเทศเกื้อกูลกัน ซึ่งฝั่งไทยควรมีรองนายกฯ เศรษฐกิจ ที่ชัดเจนและเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จะได้เป็น Counterpart กับรองนายกฯ จีน ที่ชัดเจน 

รวมทั้งควรเสนอรองนายกฯ เศรษฐกิจของไทยให้รื้อฟื้นกลไกประชุมกับรองนายกฯ จีน ซึ่งปัจจุบัน คือ นายเหอลี่เฟิง ซึ่งเป็นคนสนิทกับนายสีจิ้นผิงและเคยมาเยือนไทยช่วงเอเปคพร้อมนายสีจิ้นผิง จะช่วยแก้ไขได้เหมือนช่วงแก้ปัญหาทุเรียนไทยไปจีนช่วงโควิด-19

แนะมาตรการเชิงรุกตรวจระบบชำระเงิน

นอกจากนี้ มาตรการที่ออกว่ายังไม่พอเพราะเป็นการตั้งรับ ตอนนี้สินค้าที่เข้ามานั้นมีที่มาและช่องทางที่หลากหลายแตกต่างกัน หลายรูปแบบซึ่งหอการค้าไทยจึงเสนอประเด็นเพิ่มเติมดังนี้

1.รัฐบาลไทยต้องหารือทางการจีนในการควบคุมมาตรฐานของสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับอาหาร โดยเฉพาะมาตรฐานฝั่งไทย ทั้ง มอก.และ อย. โดยจีนต้องมีส่วนสำคัญในการช่วยคัดกรองสินค้าก่อนส่งออกมาไทย

2.หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสินค้านำ โดยเฉพาะศุลกากรต้องเข้มงวดในการตรวจสอบและสกัดสินค้าจากต่างประเทศที่นำเข้ามาอย่างละเอียด ขณะเดียวกันสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานที่หลุดลอดมาแล้ว รัฐบาลต้องใช้กฎหมายอย่างจริงจัง 

ขณะที่ภาคธุรกิจและภาคประชาชนต้องมีส่วนในการช่วยชี้เบาะแส ถึงความผิดปกติ ของสินค้าที่ถูกลักลอบเข้ามาจำหน่ายในไทย หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องมีมาตรการเชิงรุกในการตรวจสอบ และกวาดล้างสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพคุณภาพมาตรฐาน

3.มีมาตรการที่บังคับให้แพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์ต่างชาติจำเป็นต้องเสียภาษีทั้ง VAT และภาษีรายได้ (จากยอดขาย ไม่ใช่กำไร) เพื่อทำให้จัดเก็บรายได้เข้าภาครัฐตามที่ควรจะเป็น

4.รัฐบาลต้องเข้มงวดและตรวจสอบการใช้ระบบชำระเงิน Payment ต่างชาติ ซึ่งที่ผ่านมาเม็ดเงินจำนวนมากไหลออกนอกประเทศจากระบบชำระเงินของต่างชาติ ซึ่งต้องบังคับให้เข้าสู่ระบบที่ถูกต้องและอยู่ภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย

5.การดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติจำเป็นต้องมีมาตรการที่ให้นักลงทุนจำเป็นต้องใช้ Local Content ของไทยสัดส่วนมากที่สุด เพื่อทำให้ผู้ประกอบการในซัพพลายเชนเติบโตไปพร้อมกัน ขณะเดียวกันในอนาคตเป็นการป้องกันปัญหาจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน เป็นการหลีกเลี่ยงข้อกังวลในการใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออก

6.มีมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping: AD) รวมถึงอาจกำหนดราคาต้นทุนสินค้าเพื่อไม่ให้สินค้าที่นำเข้ามาในราคาถูกตีตลาดสินค้าในประเทศจนแข่งขันไม่ได้

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...