บทเรียน ‘4-me’ บะหมี่แกรมมี่ ถึง ณวัฒน์ ปั้น ‘หมี่มหาชน’ ผู้ท้าชิงไปไม่ถึงฝัน

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นสินค้าทั่วไป(Mass)ที่มีติดทุกบ้าน ส่วนแบรนด์ที่ทำตลาดครองใจกลุ่มเป้าหมาย พอนับได้ 3 ยี่ห้อดัง ได้แก่ มาม่า ยำยำ และไวไว จาก 3 ค่ายใหญ่

ทว่า ตลาดยังมีผู้เล่นอื่นที่ทุนหนา และมีของดีหรือ Product ที่เป็นพระเอกเข้ามาแข่งขัน เพื่อแย่งส่วนแบ่งตลาด ไม่ว่าจะเป็น นิชชิน เอฟเอฟ(ค่ายแฟชั่นฟู้ด)รวมถึงลิตเติ้ล กุ๊กและหมี่จัง(ค่ายนำเชา)

ปัจจุบันตลาดและผู้บริโภคเปิดกว้างรับบะหมี่ฯแบรนด์ใหม่ๆจากต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่วางจุดยืน(Positioning)เป็นพรีเมียมเพื่อจับกลุ่มเป้าหมาย ทั้งซัมยัง จากเกาหลีใต้ หรือแม้แต่หมี่โกเรง ของอินโดหมี่ ประเทศอินโดนีเซีย เป็นต้น

ณวัฒน์ ปั้น “หมี่มหาชน” ลงสนาม

ล่าสุด ตลาดมีสีสันขึ้นมาอีกนิด เมื่อมีผู้เล่นหน้าใหม่ประดับวงการบะหมี่ฯ เมื่อ ณวัฒน์ อิสรไกรศีล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มิสแกรนด์อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด(มหาชน) หรือ MGI ประกาศปั้นธุรกิจใหม่อย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “หมี่มหาชน” เพื่อเข้าทำตลาด โดยจะเปิดตัววันที่ 3 กันยายนนี้ ไฮไลต์คือการพาเหล่านางงามมาสร้างปรากฎการณ์เต็มขั้นฉบับมิสแกรนด์

กลยุทธ์ที่หมี่มหาชนจะนำเสนอคือ “รสชาติที่ไม่เหมือนใคร” ไม่เพียงตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายสายเส้น แต่ยังต้องการแย่งส่วนแบ่งการตลาดในระดับที่ดี ขณะที่การเปิดตัววันที่ 3 ไม่แค่แนะนำสินค้า แต่ยัง “ขาย” หมี่มหาชนทันทีด้วย

"4-me" บะหมี่แกรมมี่ ถึงบะหมี่นางงาม

ณวัฒน์ ไม่ใช่นักธุรกิจรายแรกที่เข้ามาท้าชิงตลาดบะหมี่ฯ “หมื่นล้านบาท” ที่เต็มไปด้วยขาใหญ่ ทุนหนา และ “แบรนด์แกร่งเกินต้าน”

ย้อนอดีต จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ของเมืองไทย ภายใต้การกุมบังเหียนโดย “อากู๋ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม” เคยลุยตลาดมาแล้ว ซึ่งขณะนั้นยังได้พันธมิตร “เบอร์ 1” ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอย่าง บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด(มหาชน)ของเครือสหพัฒน์ และบริษัทในเครืออื่นๆ เข้ามาถือหุ้น พร้อมกับแจ้งเกิดแบรนด์ใหม่ “4-me” ออกสู่ตลาด

เพื่อให้การสร้างแบรนด์บะหมี่ฯเป็นปรากฏการณ์อย่างแท้จริง ยังมีศิลปินดังของค่ายแกรมมี่เข้ามาถือหุ้นด้วย ซึ่งนำโดยตัวท็อป ตัวพ่อ ตัวแม่ของวงการเพลง ศิลปินนักร้อง

ทุนหนา พันธมิตรแกร่ง อาวุธตลาดดี แต่ไปไม่ถึงดวงดาว

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความร่วมมือของจีเอ็เอ็ม แกรมมี่กับไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ และเครือสหพัฒน์นั้น มีจุดแข็งหลายด้านทั้งการผลิตจากเบอร์ 1 การตลาดไม่เป็นสองรองใคร ยังมีแต้มต่อเพิ่มขึ้นจากการที่ศิลปินแกรมมี่ จะช่วยสร้างการรับรู้แบรนด์ การมีผู้จัดจำหน่ายและกระจายสินค้าที่แกร่ง

ทว่า การโกยส่วนแบ่งตลาดไม่ง่าย เพราะองค์ประกอบของความสำเร็จด้านยอดขาย มีหลากตัวแปร ทั้งโปรดักท์ ซึ่งหากมองย้อนอดีต 4-me ออกสินค้ามาอาจฮือฮา แต่ “รสชาติ” ถือว่าจำเจซ้ำกับพันธมิตรเจ้าตลาดอยู่ดี มุมผู้บริโภคอาจลองของใหม่ แต่ที่สุดผู้นำมาม่าอร่อยตามสโลแกนน่าจะโดนใจกว่า 

ยิ่งดูจุดแข็งของเบอร์ 1 อย่าง “มาม่า” แบรนด์แกร่งมากไม่พอ ชื่อแบรนด์ยังกลายเป็นชื่อเรียกสามัญหรือ Generic name ของบะหมี่ฯไป จนยากที่คู่แข่งจะทลายลงได้ หลายครั้งที่เห็นผู้บริโภคพูดคุย วางแผนเลือกซื้อบะหมี่ฯ แม้จะหยิบยี่ห้ออื่น ก็ยังเรียก “มาม่า” และกรุงเทพธุรกิจ ยังเคยเจอเหตุการณ์ที่มีบริษัทหนึ่งทำงานให้กับลูกค้ายี่ห้อบะหมี่ฯรายหนึ่ง แต่กลับเรียกชื่อสินค้านั้นว่า “มาม่า” ทั้งที่ยี่ห้อไม่ใช่ สะท้อนถึงการเป็น Top of mind ของผู้บริโภค

บิ๊กแบรนด์บะหมี่ฯครองขุมทรัพย์ 3 หมื่นล้านบาท

แหล่งข่าววงการตลาด สิ่งที่ทำให้จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ บุกตลาดบะหมี่ฯ เพราะมองศักยภาพการมี “สื่อ” ในมือที่จะช่วยสร้างการรับรู้แบรนด์เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายวงกว้าง

ชิงแชร์ 1% เท่ากับทำเงิน 300 ล้านบาท

แหล่งข่าววงการตลาด วิเคราะห์การเข้ามาทำตลาดบะหมี่ฯ ของ MGI จะเป็นการสร้างแบรนด์เข้ามาเจาะตลาดพรีเมียม กลยุทธ์ราคาขายระดับ 20 บาทขึ้นไป รองรับเทรนด์กำลังเติบโต ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภครุ่นใหม่

ขณะที่ช่องทางจำหน่าย มองออนไลน์ รวมถึงใช้อาวุธในการ Live สร้างยอดขาย

สำหรับตลาดบะหมี่ฯ มีมูลค่าประมาณ 3 หมื่นล้านบาท หากแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดได้เพียง 1% ก็เท่ากับสามารถสร้างยอดขายระดับ 300 ล้านบาท

ที่ต้องติดตามคือ “ผู้ผลิต” หมี่มหาชน ให้กับ MGI จะเป็นบริษัทใด เนื่องจากปัจจุบันหากมองศักยภาพของผู้ผลิตที่สามารถรับจ้างผลิต(โออีเอ็ม)ได้ จะมีอยู่ไม่กี่ราย เช่น บริษัท นำเชา(ประเทศไทย) จำกัด รวมถึงนิชชิน ยักษ์ใหญ่บะหมี่ฯโลกจากแดนอาทิตย์อุทัย ฯ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขโรงงานมี “กำลังผลิตเหลือ” และเปิดกว้างรับลูกค้าหรือไม่

“มาม่า” ยืนหนึ่ง 50 ปี

กรุงเทพธุรกิจ มีโอกาสได้คุยกับผู้บริหาร ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ หลายครั้ง ถึงสูตร(ไม่)ลับที่ทำให้ “มาม่า” เติบโตอย่างแข็งแกร่ง แบรนด์ครองใจกลุ่มเป้าหมาย และมีส่วนแบ่งทางการตลาดอันดับ 1 อย่างยาวนาน องค์ประกอบสำคัญ เริ่มจากตัวผลิตภัณฑ์(Product) ที่ต้องมีคุณภาพ และควบคุมคุณภาพไว้ให้ได้ตลอด 5 ทศวรรษ 

ขึ้นชื่อว่าเป็นอาหาร “รสชาติอร่อย” โดนใจผู้บริโภค ซึ่ง “มาม่า” นั้นมีผู้อยู่เบื้องหลังการคิดค้น วิจัยและพัฒนาสินค้าที่ทำงานร่วมกับบริษัทอย่างยาวนาน นอกจากนี้ “ทายาท” ตระกูล “พะเนียงเวทย์” ที่พี่น้องร่วมขับเคลื่อนอาณาจักรบะหมี่ฯเบอร์ 1 ยังเป็นหนึ่งในขุนพลสำคัญที่ดูแลเบื้องหลังความอร่อยด้วย

นอกจากนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า “มาม่า” เป็นอาหารที่คู่ครัวเรือนไทย ไม่ว่าจะยากดีมีจน ทุกคนต้องรับประทาน ขณะที่หลักการทำตลาดมาม่าเดิมมี 5 อย่าง คืออร่อย ปลอดภัย สะดวก เก็บรักษาได้นาน และประหยัด เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน ไลฟ์สไตล์ ความต้องการผู้บริโภคปรับ รวมถึงการรักษ์โลก ทำให้แบรนด์จึงเพิ่ม “คุณค่า” และการรักษาสิ่งแวดล้อมรับบริบทการทำธุรกิจในอนาคต

อย่างไรก็ตาม การมีผู้ท้าชิงเพิ่มในตลาดบะหมี่ฯ ผู้บริโภคมีทางเลือกในการซื้อสินค้ามากขึ้น การแข่งขันอาจมีสีสัน ส่วนความสำเร็จและเป้าหมายของ “หมี่มหาชน” จะเป็นตามเป้าหรือไม่ ต้องติดตามเกมการยืนระยะจะสั้นหรือยาว! 

เพราะขนาดบิ๊กคอร์ป บิ๊กแบรนด์ “ยำยำ-ไวไว” ยังไล่บี้ ขยับแชร์ทีละนิดยังยาก!

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...