‘เทย์เลอร์ สวิฟต์’ บริจาคเงินช่วย ‘ธนาคารอาหาร’ ต่อชีวิตชาวยุโรป สหรัฐนับแสน

เมื่อเดือนมิถุนายน 2567 ธนาคารอาหารกรุงคาร์ดิฟฟ์ ในเวลส์ ได้รับเงินบริจาคมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ภายหลังซีอีโอขององค์กรได้เปิดเผยว่าผู้ที่บริจาครายใหญ่นั่นก็คือ “เทย์เลอร์ สวิฟต์” ศิลปินดังชื่อก้องโลก โดยเธอได้ธนาคารอาหารทั่วสหราชอาณาจักร ยุโรป และอเมริการะหว่างทัวร์ “The Eras Tour” คอนเสิร์ตที่ทำรายได้สูงสุดตลอดกาล

เงินทุนที่สวิฟต์บริจาคจะนำไปใช้เป็นค่าอาหารหลายแสนมื้อ เพื่อช่วยเหลือชาวยุโรปและอเมริกันจำนวนมาก ที่กำลังดิ้นรนต่อสู้กับค่าอาหารและที่อยู่อาศัยที่เพิ่มสูงขึ้น เฉพาะเงินบริจาคที่ธนาคารอาหารกรุงคาร์ดิฟฟ์ได้รับ สามารถช่วยชีวิต 1,200 คนให้มีอาหารกินวันละ 3 มื้อ ได้ 3 วันติดต่อกัน หรือคิดเป็นอาหารทั้งหมด 10,800 มื้อ

“เงินบริจาคของเทย์เลอร์ทำให้เรามีกำลังใจและสร้างการดำเนินงานที่ยั่งยืน สำหรับสนับสนุนผู้คนที่ต้องการความช่วยเหลือจากเรา และช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนและการสนับสนุนทางการเงิน เพื่อช่วยให้พวกเขาสามารถช่วยเหลือตนเองได้ และไม่ต้องการความช่วยเหลือจากเราอีกต่อไป” ราเชล บิ๊กส์ ซีอีโอ ของธนาคารอาหารคาร์ดิฟฟ์กล่าว

ในช่วงที่สวิฟต์ทัวร์คอนเสิร์ตในสหราชอาณาจักร เธอได้บริจาคเงินให้แก่ธนาคารอาหารในลิเวอร์พูลและเอดินบะระด้วย โดย edinfoodproject ได้โพสต์บนอินสตาแกรมพร้อมข้อความว่า “ขอบคุณมากเทย์เลอร์ คุณได้เปลี่ยนแปลงเอดินบะระไปตลอดกาล”

ริช โจนส์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเครือข่ายชุมชนเซนต์แอนดรูว์ในลิเวอร์พูล ซึ่งจัดการธนาคารอาหาร 11 แห่ง กล่าวว่าเงินบริจาคของสวิฟต์จะช่วยให้มีอาหารเพียงพอสำหรับหนึ่งปีเต็ม ขณะที่ Crosscare องค์กรการกุศลด้านอาหารในดับลินได้รับเงินบริจาค 25,000 ยูโรจากนักร้องดัง

“พูดได้ว่าเทย์เลอร์ สวิฟต์ จ่ายค่าอาหารให้เราเกือบ 12 เดือนแล้ว ซึ่งทำให้เรามีเวลาหายใจหายคอ และมุ่งเน้นไปที่ความพยายามในการระดมทุนในอนาคต พร้อมดูว่าเราจะสามารถให้คำแนะนำทางการเงิน งานเพิ่มรายได้ สวัสดิการสังคม และงานแก่ผู้คนที่มาใช้บริการได้อย่างไร”

ระหว่างทัวร์ในยุโรป สวิฟต์ได้บริจาคเงินจำนวนมากให้กับ Voedselbank Amsterdam นาคารอาหารของเมืองหลวงของเนเธอร์แลนด์ ทั้งนี้องค์กรไม่ได้เปิดเผยว่านักร้องสาวบริจาคเงินไปเท่าไร แต่โฆษกขององค์กรบอกกับ NL Times ว่า “เราคิดว่าเป็นเรื่องดีที่ซูเปอร์สตาร์อย่างเทเลอร์ สวิฟต์จะเข้าถึงผู้คนที่ต้องการความช่วยเหลือ”

ปีที่แล้วระหว่างที่สวิฟต์ออกทัวร์ทั่วสหรัฐ เธอก็ได้บริจาคเงินให้กับธนาคารอาหารของสหรัฐด้วย ซึ่งสามารถช่วยให้ชาวสหรัฐมีอาหารกินไปหลายแสนมื้อ หลังจากความไม่มั่นคงด้านอาหารเพิ่มสูงขึ้น และความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากรัฐบาลกลางสหรัฐได้สิ้นสุดลง

ชาวอเมริกันอย่างน้อย 49 ล้านคนต้องพึ่งพาอาหารจากธนาคารอาหารและองค์กรการกุศลอื่น ๆ โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งของคนหนุ่มสาวอายุระหว่าง 18-34 ปี  กล่าวว่าราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น ถือเป็นปัญหาทางการเงินที่สำคัญที่สุดของพวกเขา

"ธนาคารอาหาร" ขาดเงินทุน

ตามข้อมูลของ Feeding America เครือข่ายธนาคารอาหาร โรงอาหาร และโครงการอาหารท้องถิ่นทั่วประเทศ ระบุว่า ธนาคารอาหารมักจะพึ่งพาเงินบริจาคจากบุคคลและองค์กร การบริจาคจากเกษตรกรและผู้ค้าปลีกในท้องถิ่น และโครงการช่วยเหลือของรัฐบาลกลาง เพื่อให้องค์กรสามารถดำเนินกิจการต่อไป 

แต่ในขณะนี้ธนาคารอาหารกำลังเผชิญกับแรงกดดันอย่างมาก เพราะชุมชนมีความต้องการอาหารที่สูงกว่าปรกติ เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อ ต้นทุนอาหารและพลังงานที่สูงขึ้น จนคนไม่สามารถหาซื้ออาหารได้

Second Harvest of Silicon Valley หนึ่งในองค์กรที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากสวิฟต์ กล่าวว่าเธอเป็นเหมือนแสงส่องสว่างให้ผู้คนจำนวนมาก แต่สถานการณ์ขององค์กรก็ยังไม่ดีมากนัก เนื่องจากแรงงานในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในซิลิคอนวัลเลย์ถูกเลิกจ้างจำนวนมาก ทำให้พวกเขาไม่มีเงินมาบริจาคให้องค์กร

โซบานา กุบบี หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายการกุศลของ Second Harvest of Silicon Valley กล่าวว่า ผู้คนกำลังกังวลกับความมั่นคงในหน้าที่การงานและเริ่มบริจาคน้อยลง และเมื่อการบริจาคลดลง ก็หมายถึงองค์กรมีเงินลดลงเช่นกัน ทำให้ Second Harvest จำเป็นต้องมีมาตรการรัดเข็มขัด

กุบบีระบุว่า ในตอนนี้องค์กรต้องลดจำนวนพนักงานลง และต้องลดจำนวนอาหารที่แจกให้ประชาชนด้วย โดยลดปริมาณนมลงเหลือแค่ครึ่งแกลลอน จากเดิมที่แจกทั้งแกลลอน รวมถึงแจกเนื้อสัตว์ ไข่และผลิตภัณฑ์จากนมสลับสัปดาห์กัน เพราะองค์กรต้องช่วยเหลือผู้คนราว 500,000 คนต่อเดือน ซึ่งเท่ากับช่วงพีคของยุคโควิด-19

 

"ธนาคารอาหาร" ช่วยลดโลกร้อน

ธนาคารอาหารมีบทบาทสำคัญในการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้หลายล้านเมตริกตัน จากการช่วยรักษาอาหารที่ถูกทิ้ง ทั้งที่ยังมีคุณภาพดี

Global Foodbanking Network ซึ่งสนับสนุนองค์กรการกุศลด้านอาหารในกว่า 50 ประเทศ รายงานว่า องค์กรสมาชิกได้แจกอาหารไปแล้ว 1,700 ล้านมื้อในปี 2023 ซึ่งวิธีนี้ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 1.7 ล้านเมตริกตัน 

เมื่ออาหารลงไปอยู่บ่อขยะ จนเข้าสู่กระบวนการย่อยสลาย ขยะอาหารจะปล่อยก๊าซมีเทนออกมาในปริมาณมาก และเมื่ออาหารถูกทิ้งไป ก็เท่ากับว่าการเสียพลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขั้นตอนการเพาะปลูก ขนส่ง และแปรรูป ได้สูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์


ที่มา: ABC News, Euro News, Thred

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

อเมริกันดราม่า! กองเชียร์จี้ไบเดนลาออก เปิดทาง ‘ประธานาธิบดีแฮร์ริส’ สู่ทำเนียบขาว

เว็บไซต์ Times Now รายงานว่า แม้แฮร์ริสจะยอมรับความพ่ายแพ้ไปแล้วและขอให้ผู้สนับสนุน “สู้ต่อไป” แต่บร...

อีลอน มัสก์ หนุนทรัมป์แทรกแซง 'เฟด' ชูประเด็น #EndtheFed ให้ปธน.คุมแบงก์ชาติ

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งบริษัทเทสลาและสเปซเอ็กซ์ และเป็นเจ้าของแ...

การกลับมาของวัฒนธรรม Gothic ทางเลือกของ Gen Z ท่ามกลางป๊อปคัลเจอร์

วัฒนธรรมกอธิค หรือโกธิคที่มีรากฐานมาจาก Dark Romantic ความเข้มข้นทางอารมณ์ และการแสดงออกถึงตัวตนที่แ...

คาด 'วันคนโสดจีน' 11.11 ปีนี้ ยอดขายดีขึ้น แต่แบรนด์เนมหรูยังฟื้นยาก

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า เทศกาลวันคนโสด 11.11 ซึ่งเป็นเทศกาลชอปปิ้งที่ใหญ่ที่สุดในรอบปีของจีน แล...