'คลัง' ตั้ง 'NaCGA' ปลดล็อกเงินทุน หนุน SME รายย่อยเข้าถึงสินเชื่อต้นทุนต่ำ

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.)  มีมติเห็นชอบแนวคิดการจัดตั้งสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ (National Credit Guarantee Agency: NaCGA) เมื่อวันที่ 13 ส.ค.2567 เพื่อยกระดับกลไกการค้ำประกันของภาครัฐที่มีอยู่ในปัจจุบันให้มีประสิทธิภาพและสามารถส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่หลากหลายได้ด้วยต้นทุนทางการเงินในระดับที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความเสี่ยงมากขึ้น

โดยกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะร่วมกันหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและยกร่างกฎหมายจัดตั้ง NaCGA และนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาในระยะต่อไป

ทั้งนี้ NaCGA จะมีสถานะเป็นนิติบุคคลที่เป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่เป็นทั้งส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะทำให้การดำเนินการค้ำประกันมีความรวดเร็วและยืดหยุ่น พึ่งพางบประมาณจากภาครัฐน้อยลง อีกทั้งมีขอบเขตและรูปแบบการค้ำประกันที่มีความหลากหลายและมีกลไกการคำนวณค่าธรรมเนียมค้ำประกันที่อิงตามระดับความเสี่ยงของลูกหนี้

โดย NaCGA จะมีเป้าหมายและพันธกิจหลัก ดังนี้ 

1.ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ลดต้นทุนทางการเงิน 

ให้ความรู้และให้คำปรึกษาทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจที่มีหลักประกันไม่เพียงพอ โดยขอบเขตและรูปแบบการค้ำประกันของ NaCGA จะไม่จำกัดเฉพาะการค้ำประกันสินเชื่อจากธนาคารดังที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่จะครอบคลุมถึงกระบวนการเข้าถึงแหล่งทุนในรูปแบบอื่น ๆ เช่น ค้ำประกันแหล่งทุนจากสถาบันการเงินอื่นที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-Bank) การค้ำประกันหุ้นกู้ของผู้ประกอบการ SMEs เป็นต้น

โดยค่าธรรมเนียมในการค้ำประกันจะอิงตามระดับความเสี่ยงของลูกหนี้ (Risk-Based Pricing) ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนทางการเงินในการเข้าถึงแหล่งทุนของผู้ประกอบการ SMEs ได้ อีกทั้งการค้ำประกันสินเชื่อของ NaCGA จะเน้นการค้ำประกันโดยตรง (Direct Guarantee Approach) และรายสัญญา (Individual Guarantee) ซึ่งลูกหนี้จะขอให้ NaCGA ค้ำประกันเครดิตของตน และเมื่อได้รับการค้ำประกันแล้ว ลูกหนี้สามารถเลือกธนาคารหรือ Non-bank ที่ให้อัตราดอกเบี้ยและเงื่อนไขที่เหมาะสมกับบริบทของลูกหนี้มากที่สุด ซึ่งจะเพิ่มอำนาจในการต่อรองให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในการเข้าถึงแหล่งทุน

นอกจากนี้ เพื่อให้การส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ครบวงจรและเบ็ดเสร็จ NaCGA จะทำหน้าที่ในการให้ความรู้และคำปรึกษาทางการเงิน เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่หลากหลายอีกด้วย

2.เป็นเครื่องมือเพื่อผลักดัน Strategic Direction ของประเทศตามนโยบายของภาครัฐและสนับสนุนให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศสามารถก้าวเข้าสู่บริบทโลกใหม่

โดย NaCGA สามารถผลักดันอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญของประเทศหรืออุตสาหกรรมที่รัฐบาลต้องการผลักดัน เช่น 8 อุตสาหกรรมภายใต้วิสัยทัศน์ Ignite Thailand เป็นต้น ด้วยโครงการหรือผลิตภัณฑ์ค้ำประกันเครดิตที่มีเงื่อนไขพิเศษ โดยมีคณะกรรมการกำกับนโยบาย ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนจากภาคเอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิ กำกับนโยบายและทิศทางขององค์กรเพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและนโยบายของภาครัฐในระยะยาวได้ ซึ่งจะทำให้ภาครัฐสามารถส่งผ่านนโยบายในการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศผ่านองค์กรนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3.เป็นกลไกรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ ในกรณีที่เกิดภาวะวิกฤติและมีความเสี่ยงในระบบการเงินสูง

ด้วยขอบเขตและรูปแบบการค้ำประกันที่หลากหลายกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน และด้วยโครงสร้างองค์กรที่มีความยืดหยุ่นทั้งในมิติของการกำกับดูแลและแหล่งเงินจากเงินสมทบจากรัฐบาล เงินสมทบจากผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อ และค่าธรรมเนียมจากผู้ขอรับการค้ำประกัน

ทั้งนี้ NaCGA จะทำให้ผู้ประกอบการ SMEs และประชาชนมีทางเลือกในการเข้าถึงแหล่งทุนมากขึ้น และสามารถตอบสนองความต้องการในด้านสภาพคล่องได้อย่างทันการณ์ โดยเฉพาะในภาวะที่มีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนในระบบเศรษฐกิจสูง เช่น กรณีที่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นต้น

นายพรชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า กลไกการค้ำประกันที่มีประสิทธิภาพจากการจัดตั้ง NaCGA จะนำไปสู่ระบบนิเวศน์ (Ecosystem) ใหม่สำหรับภาคธุรกิจไทย อันจะนำมาซึ่งประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน ดังนี้

1.ภาคธุรกิจและประชาชน สามารถเข้าถึงสินเชื่อหรือแหล่งเงินทุนได้ด้วยต้นทุนทางการเงินที่เหมาะสมกับความเสี่ยงของตนมากขึ้น ตลอดจนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้หลากหลายขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการพึ่งพาหนี้นอกระบบของภาคธุรกิจและประชาชน

2.สถาบันการเงินและเจ้าหนี้ สามารถลดต้นทุนในการประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกหนี้และภาระการดำรงเงินสำรอง อีกทั้งมีแรงจูงใจในการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านเครดิตอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

3.หน่วยงานภาครัฐ มีเครื่องมือในการส่งผ่านนโยบายให้ความช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายในรูปแบบการค้ำประกันเครดิตที่หลากหลาย และมีฐานข้อมูลความเสี่ยงด้านเครดิตที่สมบูรณ์ขึ้นเพื่อใช้ประกอบการดำเนินนโยบายของภาครัฐ

4.เศรษฐกิจไทยโดยรวม มีกลไกในการรองรับความผันผวนทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในกรณีที่เกิดภาวะวิกฤตที่มีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนในระบบเศรษฐกิจสูง อีกทั้งเป็นกลไกที่ช่วยสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในอนาคต ตลอดจนช่วยในการผลักดันและสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...