ThaiBMA รับหุ้นกู้‘ซบเซา’ ผลพวง EA ขอเลื่อนชำระหนี้ ชี้กระทบหุ้นกู้ออกใหม่

หลังเกิดสถานการณ์กับ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ขอเลื่อนชำระหนี้ตั๋วบี/อี รุ่นวงเงิน 700 ล้านบาท จากวันที่ 23 ก.ค. และ 1 ส.ค. เป็น 9 ส.ค. ที่ผ่านมา ประเด็นดังกล่าวยิ่งเป็นการซ้ำเติมทำให้นักลงทุน “ขาดความเชื่อมั่น” ส่งผลกระทบสร้างแรง “สั่นสะเทือน” อย่างมากต่อ “ตลาดหุ้นกู้” ในภาพใหญ่... 

หลังจากก่อนหน้านี้ ตลาดหุ้นกู้มีความเปราะบางอยู่แล้ว ! จากกรณีของ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ที่มีการผิดนัดชำระคืนหุ้นกู้ (Cross Default) ขณะที่ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จํากัด (มหาชน) หรือ JKN และบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD มีการขอยืดการชำระคืนหนี้หุ้นกู้ ด้วยการแลกกับการจ่าย “ผลตอบแทน” ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งทั้งหมดถือว่าสร้างความไม่เชื่อมั่นให้กับตลาดหุ้นกู้

“อริยา ติรณะประกิจ” รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ช่วงนี้ตลาดหุ้นกู้กลับมา “ซบเซา” อีกครั้ง... จากช่วงก่อนหน้านี้ ดังนั้น ตลาดอาจยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งเพื่อรอความชัดเจนแนวทางในการแก้ปัญหาของบริษัทที่มีปัญหา

สะท้อนผ่าน “หุ้นกู้ออกใหม่” โดยเฉพาะในกลุ่มหุ้นกู้เครดิตเรตติ้งระดับ “ปานกลาง” (ต่ำกว่า -A ถึง BBB- ) และ กลุ่มหุ้นกู้ไฮยีลด์ (เครดิตเรตติ้งต่ำกว่า BBB-) ยังขายได้อยู่ แต่อาจ “ขายยาก” ขึ้นกว่าเดิมอีก และยังไม่ครบตามวงเงินที่กำหนด

ส่วนกลุ่มหุ้นกู้ (non-rated) ไม่มีเครดิตเรตติ้ง แทบจะไม่ออกขายเพราะขายยากอยู่แล้ว ยกเว้นประเภทที่มีทรัพย์สินค้ำประกัน และมีฐานนักลงทุนขาประจำ 

ส่วนหุ้นกู้เครดิตเรตติ้งระดับลงทุน (Investment Grade) ยังสามารถขายได้ครบตามวงเงินที่กำหนด แต่ใช้ระยะเวลาขายนานขึ้นอีก 1-2 วันถึงจะครบจากปกติจะขายได้ครบภายในวันเดียวหลังเปิดขาย

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับตลาดหุ้นกู้ไม่ได้มีสภาพคล่องตลอดเวลาเหมือนตลาดหุ้น โดยเฉพาะตลาดรองนั้น ดังนั้น จะไม่สามารถเปรียบเทียบเรื่องสภาพคล่องของทั้งสองตลาดได้ และไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร

สำหรับตลาดหุ้นกู้เพราะสภาพปกติของตลาดหุ้นกู้ ไม่ได้มีการซื้อขายเปลี่ยนมือกันบ่อย อีกทั้งการซื้อขายหุ้นกู้ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ง่าย มีขั้นตอนค่อนข้างมาก และนักลงทุนสถาบัน (กองทุน) จะลงทุนเฉพาะหุ้นกู้เครดิตเรตติ้งระดับลงทุนเท่านั้น

ทั้งนี้ แม้ว่าปัจจุบันเริ่มเห็นแบงก์เข้ามาทำหุ้นกู้ตลาดรอง “เพิ่มขึ้น” แต่เมื่อเกิดปัญหาหุ้นกู้ จนกลายเป็น “หุ้นกู้อื้อฉาว” ทั้งนักลงทุนสถาบัน และแบงก์ ไม่ได้เปิดรับเสนอซื้อขายอยู่แล้ว ขณะที่ หุ้นกู้กลุ่มนี้ส่วนใหญ่อยู่ในมือนักลงทุนรายย่อยที่มีความต้องการขายหุ้นกู้ แต่ไม่มีคนรับซื้อหุ้นกู้ดังกล่าว  

ดังนั้น หากจะให้ตลาดหุ้นกู้มีสภาพคล่องมากขึ้น ในฝั่งกองทุน หรือ แบงก์ คงต้องเข้ามาซื้อขายหุ้นกู้ไฮยีลด์เพิ่มขึ้น ก่อนหน้านี้มีการพูดถึงการจัดตั้งกองทุนไฮยีลด์บอนด์ แต่ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า หากตั้งกองทุนนี้ขึ้นมาแล้ว หุ้นกู้ไฮยีลด์เกิดผิดนัดชำระหนี้ขึ้น แล้วจะเกิดสถานการณ์นักลงทุนแพนิกไถ่ถอนจนต้องปิดกองทุนอย่างที่เกิดขึ้นหรือไม่ ดังนั้น ปัญหาของตลาดหุ้นกู้มีมากกว่าแค่เรื่องสภาพคล่องเท่านั้น 

อย่างไรก็ตาม มองว่า นักลงทุนที่ลงทุนใน “หุ้นกู้” มักจะมีพฤติกรรมลงทุนที่ต้องการ “ซื้อและถือ” จนครบกำหนด โดยไม่ได้ต้องการซื้อๆ ขายๆ แต่ต้องการถือเพื่อรับผลตอบแทนต่อเนื่อง ดังนั้น หากผู้ออกหุ้นกู้ (เอกชน) ไม่ได้มีปัญหาเกิดขึ้นจะไม่เห็นการขายขายหุ้นกู้ออกมา แต่จะเห็นภาพหุ้นกู้ที่มีความต้องการขายออกมา เพราะว่าผู้ออกหุ้นกู้ มีปัญหาเกิดขึ้น แต่ก็ขายหุ้นกู้ดังกล่าวไม่ได้ เพราะกองทุน และแบงก์ไม่เปิดรับซื้อขายหุ้นกู้ดังกล่าว ดังนั้น เป็นจุดที่ต้องแก้ไขปัญหาเพื่อคุ้มครองผู้ลงทุน ไม่ให้กระทบกับความเชื่อมั่นผู้ลงทุนในตลาดหุ้นกู้ 

นางสาวอริยา กล่าวต่อว่า ความไม่เชื่อมั่นของนักลงทุนในปัจจุบันนี้ ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นกู้และตลาดหุ้น

ในส่วนของการแก้ไขปัญหาเรื่องความเชื่อมั่นนักลงทุนในตลาดหุ้นกู้ มองว่าต้องเป็นการปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องแก้ไขที่ต้นเหตุ และมองแบบบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน

ทั้งนี้ ทางสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย และ “สภาธุรกิจตลาดทุนไทย” (FETCO) ได้ร่วมกันสะท้อนถึงประเด็นปัญหาตลาดหุ้นกู้ดังกล่าว ไปยัง “สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์” (ก.ล.ต.) ที่เปิดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนในขณะนี้ และเรามองว่าตามแนวทางที่ประธานก.ล.ต. ผลักดันเร่งการบังคับใช้กฎหมายเข้มข้น เป็นเรื่องที่ทางสมาคมฯ และทั้งตลาด คาดหวังว่าจะสามารถช่วยเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้ เพราะที่ผ่านมาจะพบว่ากระบวนการการบังคับใช้กฎหมายนานเกินไปกว่าจะนำผู้กระทำผิดมารับโทษ 

ดังนั้น อยากให้ทาง ก.ล.ต. ขยายไปถึงความร่วมมือกับ “กรมบังคับคดี” เนื่องจากกฎหมายบางเรื่อง ยังเป็นข้อจำกัดต่อตลาดหุ้นกู้ เช่น พ.ร.บ.ล้มละลาย มีข้อจำกัดบ้างอย่างทำให้ผู้ถือหุ้นกู้ ไม่ได้รับความสะดวก ซึ่งประธาน ก.ล.ต.คนใหม่มีความเข้าใจดีอยู่แล้ว

“ตลาดหุ้นกู้”ระวังลงทุนมากขึ้น

รายงานข้อมูลจากเว็บไซต์ ThaiBMA รายงานยอดออกหุ้นกู้ตั้งแต่เดือนม.ค.-ก.ค. 2567 มีมูลค่าทั้งสิ้น 555,043.34 ล้านบาท ลดลง 17.77% ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา 

แหล่งข่าวตลาดตราสารหนี้ เปิดเผยว่า ยอมรับว่าหลังมีปัญหาหุ้นกู้อีเอต่อเนื่องมาตลอดเดือนที่ผ่านมา เหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นกระทบเซนติเมนต์นักลงทุน ดังนั้น ตลาดหุ้นกู้ตอนนี้ต้องใช้ความระมัดระวังมากยิ่งขึ้นไปอีก ทำให้ส่งผลต่อภาพรวมยอดออกหุ้นกู้ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันยัง “ลดลง”

จากการที่ผู้ลงทุน เน้นเลือกซื้อหุ้นกู้รายตัวมากขึ้น ผู้ออกหุ้นกู้ระดับอินเวสต์เมนต์ เกรด หรือ “กลุ่มระดับลงทุน” เรทติ้งตั้งแต่ AAA จนถึง BBB- เป็นหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทที่มั่นคง ผลประกอบการดี อยู่ในกลุ่มที่น่าลงทุน แม้ผลตอบแทนไม่สูงมาก แต่ปลอดภัย

ดังนั้น จุดนี้นับเป็นความท้าทายผู้ออกหุ้นกู้หุ้นกู้ กลุ่มระดับไฮยีลด์ หรือ นอนเรท เพราะเป็นหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทที่ไม่เป็นที่รู้จัก อาจขายยาก หรือขายไม่ได้ จะไม่ออกขายเลย เพราะตลาดหุ้นกู้ยังมีความเปราะบางมาก

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...