แนะชาวไร่อ้อย วิเคราะห์ดิน ใช้ให้ปุ๋ยถูกส่วน ต้นทุนลด ผลผลิตเพิ่ม

นายอนุสรณ์ เทียนศิริฤกษ์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยปฐพีวิทยา กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร (กวก.) เปิดเผยว่า  การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ โดยเฉพาะวิกฤตแล้งกระทบโดยตรงต่อผลผลิตอ้อย ช่วงต้นปี 2567 เกิดความแห้งแล้ง ฝนทิ้งช่วงในบางพื้นที่ ทำให้ผลผลิตอ้อยเฉลี่ยต่อไร่ลดลง ทั้งปีคาดมีปริมาณมี 85.78 ล้านตัน มูลค่าการผลิตรวม 123,311.50 ล้านบาท ราคาเฉลี่ย (ม.ค. – มิ.ย.) 1,438 บาท/ตัน

กลุ่มวิจัยปฐพีวิทยา มีหน้าที่แนะนำการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินเป็นการใช้ปุ๋ยให้ตรงกับระดับความอุดมสมบูรณ์ของดิน เหมาะสมตามความต้องการของอ้อย สามารถใช้ปุ๋ยได้ถูกอัตรา

ดังนั้น พื้นที่ที่เหมาะสมที่จะปลูกอ้อย ต้องมีโครงสร้างดี ควรมีเนื้อดินร่วนปนทรายถึงร่วนเหนียว ค่าความเป็นกรด-ด่างของดิน (pH) เป็นกรดจัดถึงด่างเล็กน้อย (5.5-7.5) อินทรียวัตถุ 1.5-2.5 % ฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ 10-20 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โพแทสเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ 80-150 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เป็นต้น

 

หากพื้นที่ปลูกอ้อยเป็นดินทรายหรือร่วนปนทรายโดยทั่วไปจะมีอินทรียวัตถุในปริมาณต่ำ ควรปรับปรุงดินด้วยวัสดุอินทรีย์ เช่น กากตะกอนหม้อกรองอ้อย 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ เป็นต้น การไถกลบเศษซากพืช หรือ การปลูกพืชตระกูลถั่วที่สามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศ เช่น การปลูกปอเทือง ถั่วมะแฮะ ถั่วพร้า ถั่วพุ่ม และถั่วขอ เป็นต้น โดยหว่านเมล็ดอัตรา 8 - 10 กิโลกรัมต่อไร่ แล้วไถกลบก่อนปลูกอ้อย 2 – 4 สัปดาห์

กรณีที่ดินมีค่าความเป็นกรด-ด่างของดิน ต่ำกว่า 5.6 ควรปรับปรุงดินด้วยปูนขาวหรือปูนโดโลไมต์100 กิโลกรัมต่อไร่ กรณีดินทรายถึงดินร่วนปนทรายที่มีค่าความเป็นกรดด่างของดิน ต่ำกว่า 5.6 ควรปรับปรุงดินด้วยปูนโดโลไมต์100 กิโลกรัมต่อไร่ ร่วมกับการใช้กากตะกอนหม้อกรอง 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ ช่วยเพิ่มผลผลิตอ้อยได้ถึง 30 - 50 %

สำหรับการวิเคราะห์ตัวอย่างดิน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้รู้ปริมาณธาตุอาหารในดิน ดังนี้

1. ปริมาณอินทรียวัตถุในดิน (%OM-Organic matter)หรือ เพื่อดูปริมาณอินทรียวัตถุในดินที่จะปลดปล่อยไนโตรเจนให้แก่อ้อย

2. ปริมาณฟอสฟอรัสที่แลกเปลี่ยนได้ (Available P) หรือ เพื่อดูปริมาณฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ต่ออ้อย

และ 3. ปริมาณโพแทสเซียมที่แลกเปลี่ยนได้(Available K) หรือ เพื่อทราบปริมาณโพแทสเซียมที่เป็นประโยชน์ต่ออ้อย

“การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินเป็นการใช้ปุ๋ยให้ตรงกับระดับความอุดมสมบูรณ์ของดินและความต้องการธาตุอาหารของอ้อย ผลวิเคราะห์ดินสามารถบอกถึงปริมาณธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์กับพืชว่าอยู่ในระดับใด เพื่อเป็นแนวทางการใช้ปุ๋ยที่มีประสิทธิภาพ เหมาะสมตามความต้องการของพืช สามารถใช้ปุ๋ยได้ถูกอัตรา ช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ย 20% จากต้นทุนปุ๋ยที่มีสัดส่วนประมาณ 30% ของต้นทุนการเพาะปลูกอ้อย และเพิ่มผลผลิต 10% ”

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า เมื่อได้รับผลวิเคราะห์ตัวอย่างดินแล้ว นำค่าที่ได้มาพิจารณาร่วมกับตารางคำแนะนำการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินของอ้อย เพื่อนำไปพิจารณาอัตราการใช้ปุ๋ยต่อการเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของอ้อยให้เหมาะสม ซึ่งอัตราปุ๋ยที่ใส่ให้อ้อยจะแตกต่างกันตามระดับความอุดมสมบูรณ์ของดิน

สำหรับอ้อยปลูกและอ้อยตอ โดยทั่วไปจะใส่ปุ๋ยประมาณ 2-3 ครั้งต่อฤดูปลูก คือ 1. ใส่รองพื้นพร้อมปลูก (สำหรับอ้อยปลูก) หรือใส่หลังจากเก็บเกี่ยวอ้อยประมาณ 1-2 เดือน (สำหรับอ้อยตอ) ให้มีธาตุอาหารไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมครบทั้ง 3 ธาตุ โดยใส่ปุ๋ยฟอสเฟตตามอัตราแนะนำร่วมกับปุ๋ยไนโตรเจนและปุ๋ยโพแทช อย่างน้อย 1 ใน 3 ของอัตราแนะนำ

2.เมื่ออ้อยอายุ 3-4 เดือน หรือ 5-6 เดือน (กรณีปลูกอ้อยข้ามแล้ง) และดินมีความชื้นเหมาะสม ใส่ปุ๋ยไนโตรเจนและโพแทชที่เหลือทั้งหมด โดยโรยข้างแถวปลูกแล้วพรวนดินกลบ กรณีดินทรายหรือร่วนปนทราย ควรแบ่งใส่ปุ๋ย 3 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 ให้ใส่ปุ๋ยฟอสเฟตตามอัตราแนะนำ ส่วนปุ๋ยไนโตรเจนและปุ๋ยโพแทชให้แบ่งใส่ 1 ใน 3 ของอัตราแนะนำ จากนั้นใส่ปุ๋ยไนโตรเจนและปุ๋ยโพแทชอีก 2 ครั้ง เมื่ออ้อยอายุ 3-4 เดือน และ 5-6 เดือน โดยใส่ครั้งละ 1 ใน 3 ของอัตราแนะนำ

ส่วนวิธีการเก็บตัวอย่างดิน มีรายละเอียดดังนี้คือ

 1. แบ่งแปลงเก็บตัวอย่างดินตามสภาพของพื้นที่ ชนิดดิน ความลาดเอียงของพื้นที่เพื่อให้พื้นที่มีความสม่ำเสมอ ขนาดพื้นที่ 5-10 ไร่ต่อแปลง

2. เก็บตัวอย่างดินให้ทั่วพื้นที่อย่างน้อย 5-10 จุดต่อแปลง ที่ความลึก 0-20 เซนติเมตร

3. นำตัวอย่างดินมาคลุกให้เข้ากัน และแบ่งใส่ถุงประมาณ 1 กิโลกรัม พร้อมบันทึกรายละเอียดตัวอย่าง เช่น สถานที่เก็บตัวอย่าง เป็นต้น

 4. นำตัวอย่างดินส่งวิเคราะห์ตามหน่วยงานที่รับวิเคราะห์ตัวอย่างดิน

อย่างไรก็ตาม เกษตรกรควรมีการเก็บตัวอย่างดินหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตมาวิเคราะห์ในทุก ๆ ปี เพื่อทราบระดับความอุดมสมบูรณ์ของดิน การปรับปรุงดิน และการจัดการธาตุอาหารที่เหมาะสมในปีต่อ ๆ ไป โดยสามารถส่งตัวอย่างดินมาวิเคราะห์ได้ที่ กลุ่มวิจัยเกษตรเคมี กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กรุงเทพฯ หรือสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1-8 หรือศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรทั่วประเทศ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...