ความคืบหน้าของกฎหมายกำกับ AI ในสหภาพยุโรป

การใช้ Generative AI มีประเด็นด้านกฎหมายที่น่าสนใจมากมาก เช่น

  • การให้ AI เรียนรู้จากงานที่มีลิขสิทธิ์นั้นเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของเจ้าของผลงานหรือไม่
  • ผลงานที่สร้างสรรค์โดย AI มีลิขสิทธิ์หรือไม่
  • AI ควรจะเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานที่มีลิขสิทธิ์ได้หรือไม่
  • ใครจะต้องมีความรับผิดในข้อความหมิ่นประมาทที่ AI เขียนขึ้นมา

ตามที่เคยนำเสนอไปเมื่อสองปีที่แล้ว ทางสหภาพยุโรปได้ประกาศร่างกฎหมายเพื่อควบคุมกำกับการใช้ AI เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2564 โดยร่างกฎหมายเพื่อควบคุมกำกับการใช้ AI ดังกล่าวเพิ่งผ่านมติสภาสหภาพยุโรป ในฐานะจุดยืนของสภาสหภาพยุโรป เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2566 ด้วยคะแนนเสียงอันท่วมท้น

ในขั้นตอนต่อไปก็จะเป็นการเจรจาตกลงกำหนดข้อความสุดท้ายของตัวบทต่อไปซึ่งคาดว่าน่าจะใช้เวลาอย่างน้อยอีกหลายเดือน หรือ อาจจะเป็นปี

ร่างกฎหมายเพื่อควบคุมกำกับการใช้ AI ดังกล่าวเน้นการวางโครงสร้างเพื่อแก้ปัญหาประเด็นเรื่องอคติ และการเลือกปฏิบัติ โดยมีกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการออกแบบ และคุณภาพของข้อมูลที่ใช้ในการพัฒนา ควบคู่ไปกับหน้าที่ในการทดสอบ และการตรวจสอบโดยมนุษย์ เพื่อไม่ให้ AI ตัดสินใจอย่างมีอคติและการเลือกปฏิบัติ

นอกจากนี้ ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังมีประเด็นที่น่าสนใจอีกหลายประเด็น เช่น การกำหนดให้มีการแยกประเภทการใช้งาน AI ตามระดับความเสี่ยงที่แตกต่างกันไป

(1) AI ประเภทที่ห้ามเอกชนใช้

AI ประเภทที่ห้ามเอกชนใช้ หมายถึง การใช้ AI ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายทางร่างกายหรือจิตใจแก่บุคคลใด ๆ โดยใช้วิธีปรับพฤติกรรมผ่านจิตใต้สำนึก หรือ การใช้ AI ที่การใช้ประโยชน์จากความเปราะบางของกลุ่มคนบางกลุ่มเนื่องจากอายุ สภาพร่างกาย หรือ สุขภาพจิตของบุคคลเหล่านั้น

ตัวอย่างของการใช้ AI ข้างต้น เช่น การใช้ AI ในระบบการให้คะแนน social scoring การใช้ระบบตรวจสอบตัวตนโดยชีวมิติ (biometric) แบบเรียลไทม์เพื่อระบุตัวตนในที่สาธารณะเพื่อจุดประสงค์ในการบังคับใช้กฎหมาย (ยกเว้นกรณีที่ประโยชน์สาธารณะของการใช้มีน้ำหนักมากกว่าความเสี่ยง

เช่น การใช้เพื่อค้นหาเด็กหาย การใช้เพื่อจัดการต่อสถานการณ์การก่อการร้าย หรือการใช้เพื่อหาตัวผู้กระทำความผิดสำหรับความผิดบางประเภท

อย่างไรก็ดี การใช้ในรูปแบบนี้จะต้องได้รับการรับรองจากหน่วยงานฝ่ายตุลาการหรือหน่วยงานภาครัฐที่เป็นอิสระในประเทศสมาชิกที่เกี่ยวข้องก่อนการใช้งาน)

(2) AI ประเภทที่มีความเสี่ยงสูง

AI ประเภทที่มีความเสี่ยงสูง เช่น การใช้ AI เพื่อพิจารณาความน่าเชื่อถือ (credit rating) ของบุคคล การใช้ AI ในการเลือกรับพนักงานเข้าทำงานหรือการตัดสินใจเลื่อนตำแหน่ง หรือการใช้ AI ในการคัดเลือกคนเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย หรือการตัดเกรดในการสอบ

เนื่องจากการตัดสินใจในเรื่องเหล่านี้ จะส่งผลต่อโอกาสและความก้าวหน้าของพนักงานในการเลือกอาชีพและการประกอบอาชีพของบุคคลเหล่านั้น

ในส่วนของการกำกับผู้ให้บริการระบบ AI นั้น ผู้ให้บริการจะมีหลายหน้าที่ เช่น หน้าที่ในการจัดให้มีระบบควบคุมคุณภาพและระบบจัดการความเสี่ยงตามที่กฎหมายกำหนด หน้าที่ในการควบคุมชุดข้อมูลที่ใส่ในระบบ

ในกรณีที่จะต้องมีการป้อนข้อมูลเพื่อฝึก AI หน้าที่ในการจัดทำเอกสารทางเทคนิคเพื่อแสดงว่ามีการปฏิบัติตามร่างกฎหมายนี้ และ หน้าที่ในการจดทะเบียนในฐานข้อมูล AI เป็นต้น

ในส่วนของผู้ใช้บริการระบบ AI ก็จะมีหน้าที่ต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด เช่น หน้าที่ในการทำตามคำสั่งของผู้ให้บริการระบบ หน้าที่ในการตรวจสอบการปฏิบัติการของระบบ หน้าที่ในการเก็บข้อมูล log file และหน้าที่ในการแจ้งเจ้าของระบบในกรณีที่มีเหตุการณ์ผิดพลาดหรือการปฏิบัติงานที่ผิด

(3) AI ที่มีความเสี่ยงจำกัด

AI ที่มีความเสี่ยงจำกัด จะครอบคลุม AI เพื่อการใช้ทั่วไป เช่น ChatBot และ Generative AI โดยจะมีการกำหนดหน้าที่การเปิดเผยข้อมูล เช่น การให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผลงานที่มีลิขสิทธิ์ที่นำมาใช้ในการพัฒนาระบบ การให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกันไม่ให้ AI ผลิตเนื้อหาที่เป็นการหมิ่นประมาท

(4) AI ความเสี่ยงต่ำ

AI ความเสี่ยงต่ำ หรือ ไม่มีความเสี่ยง จะไม่ได้อยู่ภายใต้ข้อกำหนด หรือ มีหน้าที่ตามร่างกฎหมายนี้ ตัวอย่างเช่น AI ที่ใช้ในเกมส์ 

ประเด็นสุดท้ายที่ทางผู้เขียนอยากจะนำเสนออีกครั้ง ก็คือ ค่าปรับตามร่างกฎหมายฉบับนี้นั้นสูงมาก เช่น การฝ่าฝืนข้อห้ามในการใช้ AI ประเภทที่ห้ามเอกชนใช้ จะมีโทษปรับไม่เกิน 40 สิบล้านยูโร (หากคิดเป็นเงินไทยก็ประมาณกว่า 1.4 พันล้านบาท)

หรือ 7% ของยอดขายทั่วโลกต่อปี แล้วแต่ว่าจำนวนใดจะสูงกว่า ซึ่งจำนวนเงินค่าปรับที่สูงขนาดนี้คงจะเป็นโทษที่ทำให้ผู้ประกอบการเกรงกลัวอย่างมากทีเดียว

คงต้องรอดูกันต่อไปว่าร่างกฎหมายเพื่อควบคุมกำกับ AI ฉบับนี้จะมีอิทธิพลในฐานะต้นแบบการออกกฎหมายเกี่ยวกับ AI สำหรับหลาย ๆ ประเทศนอกสหภาพยุโรป รวมถึงประเทศไทย มากน้อยเพียงใด.

คอลัมน์ Business&Technology Law 

ภูมิภัทร อุดมสุวรรณกุล

ภาณุพันธุ์ อุดมสุวรรณกุล

ที่ปรึกษากฎหมายด้าน M&A ไทย-ญี่ปุ่น

[email protected]

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

‘ไต้ฝุ่นยางิ’ ทำ ‘เศรษฐกิจเวียดนาม’ เสียหายกว่า 5 หมื่นล้านบาท

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า พายุไต้ฝุ่นยางิ ถล่มเมียนมา เวียดนาม ลาว และไทยด้วยกำลังลมที่แรงมาก และทำใ...

ท่วมหนักสุด 'ในรอบ 3 ทศวรรษ' พายุบอริสถล่มยุโรป ผลกระทบจากโลกร้อน

จากหย่อมความกดอากาศต่ำที่ชื่อว่า “พายุบอริส” ส่งผลให้มีฝนตกหนักจากออสเตรียไปจนถึงโรมาเนีย จนเกิด “น้...

ฮามาสโวความสามารถสูง ทำสงครามกาซาต่อได้แม้สูญเสีย

นายโอซามา ฮัมดัน ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอเอฟพี เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่นครอิสตันบูลของตุรกี ระบุ “ขบวนก...

สงครามสู้ฮามาสและยอดส่งออกร่วง กดดันจีดีพี ‘อิสราเอล’ Q2 ให้โตเพียง 0.7%

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของอิสราเอลในไตรมาสที่สองชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไ...