เมื่อปัญหา Apple ไม่ใช่เรื่องกล้วยๆ

หลังจากที่ยูทูบ Apple UK หรือบัญชีทางการของ Apple สหราชอาณาจักรเผยแพร่คลิปวิดีโอ “The Underdogs : OOO (Out Of Office) | Apple at Work” เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมีเรื่องราวเกี่ยวกับการเดินทางมายังประเทศไทย เพื่อค้นหาวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์ 

ดูเผินๆ เหมือนจะส่งผลดีต่อการโปรโมทการท่องเที่ยว แต่กลับโดนทัวร์ลงจากชาวเน็ตพร้อมตั้งคำถามว่า หลายๆ ฉากกลายเป็นการเสนอภาพลักษณ์แบบด้อยค่าการพัฒนาประเทศไทยหรือไม่

แม้ในที่สุด ทาง Apple ได้ออกมาแถลงขอโทษและยุติการเผยแพร่โฆษณาดังกล่าวแล้ว แต่เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดข้อถกเถียงเป็นวงกว้างในสังคมไทยทั้งเห็นด้วยและเห็นต่าง ซึ่งสะท้อนถึงคำโบราณที่ว่า “เหรียญมีสองด้าน” คือเรื่องจริง

กรณีดังกล่าวเป็นหนึ่งในตัวอย่างการทำการตลาดสำหรับธุรกิจ ที่นำภาพจำของคนทั่วไปในสังคมหรือนำวัฒนธรรมประเทศใดประเทศหนึ่ง ซึ่งอาจตรงหรือต่างจากสภาพความเป็นจริง มาใช้เป็นสื่อส่งเสริมสินค้าของตนเอง บางกรณีก็ประสบความสำเร็จจนเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างประเมินค่าไม่ได้ แต่ในหลายกรณีก็กลายเป็นผลลบแบบไม่น่าเชื่อ 

ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ ธุรกิจแฟชั่นชั้นนำ 2 ยี่ห้อ คือ Dolce & Gabbana (D&G) และ Christian Dior (ดิออร์) ที่ได้รับผล Shock Impact จากกลยุทธ์การตลาดที่ใช้ในประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของสินค้าประเภทนี้ โดยยอดซื้อสินค้าหรู (Luxury Goods) จากจีนคิดเป็น 1 ใน 3 ของยอดขายสินค้าหรูทั้งหมดในโลก

สำหรับ D&G สถานการณ์ที่โด่งดังไปทั่วโลกคือ งานแฟชั่นโชว์ครั้งใหญ่ที่มีแขกคนสำคัญเข้าร่วมกว่า 1,400 คน ในปี 2561 เปิดตัวด้วยการแพร่ภาพนางแบบชาวจีนที่พยายามใช้ตะเกียบคีบอาหารอิตาเลียน คือ พิซซ่า พาสต้าและขนมคาโนลี พร้อมใช้เพลงจีนบรรเลงประกอบ จุดมุ่งหมายเพื่อแสดงถึงการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมทางตะวันตกและตะวันออก 

แต่ผลในทันทีกลับกลายเป็นถูกมองว่า โฆษณาดังกล่าวคือ การดูถูกมรดกทางวัฒนธรรมเก่าแก่ของจีน ซึ่งเห็นคุณค่าตะเกียบลึกซึ้งมากกว่าเป็นแค่เครื่องมือในการรับประทานอาหาร หากแต่แฝงไว้ด้วยปรัชญาของความร่วมมือสองฝั่งในการประกอบกิจกรรมใดๆ ให้ได้ผล

แถมยังเหมือนกับดูถูกคนจีนว่าไม่ทราบธรรมเนียมปฏิบัติในการรับประทานอาหารอิตาเลียนที่ถูกต้อง ส่งผลให้การจัดแฟชั่นโชว์ของ D&G ที่เตรียมไว้อย่างยิ่งใหญ่ในเซี่ยงไฮ้อีก 2 วันต้องยกเลิก 

แถมยังขยายผลกระทบต่อถึงยอดขายในอิตาลี และสร้างทัศนคติเชิงลบต่อเหล่าผู้มีอิทธิพลทางสื่อออนไลน์ (Influencers) อีกด้วย ภาพถ่ายและคลิปวีดิโอที่ลูกค้าชาวจีนถ่ายทำเองแสดงความโกรธแค้นด้วยการทำลายสินค้า D&G ก็ถูกโพสต์ลงบนสื่อสังคมของจีน Weibo ซึ่งมีอัตราพุ่งขึ้นถึง 2,500% ในช่วงนั้น

ไม่เพียงแค่ราคาหุ้น D&G ที่ไหลรูดตามลงมาติดๆ เท่านั้น ผลยังกระทบต่อถึงแพลตฟอร์มออนไลน์หลายแห่งในจีน เช่น Alibaba ที่ตัดสินใจไม่ให้ D&G ขายผ่านช่องทางของตนอีกต่อไป นักวิเคราะห์การเงินได้ประมาณการความสูญเสียไว้ถึง 6,800 ล้านบาท หรือ 20% ของมูลค่าธุรกิจ ยังไม่นับเงินลงทุนทำมาตรการต่างๆ เพื่อฟื้นฟูชื่อเสียง แต่ผลกระทบก็ยังคงเดินหน้าต่อไม่หยุด 58 สาขาของ D&G ในจีนทยอยปิดตัวเหลือ 47 สาขาในปี 2564 และยังไม่มีการเปิดเพิ่มจนถึงปัจจุบัน

ลองมาดูอีกกรณีที่จีนเหมือนกัน แต่ผลลัพธ์กลับต่างกันสิ้นเชิง สำหรับดิออร์ของฝรั่งเศส อีกหนึ่งยี่ห้อหรูที่กลยุทธ์การตลาดถูกมองว่า ได้หยิบฉวยความเป็นจีนหรือเอเชียมาใช้โปรโมทสินค้า แล้วสร้างความไม่พอใจให้กับคนในแผ่นดินมังกรเหมือนกันกับ D&G แถมยังไม่ได้เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวด้วย 

อย่างการใช้รูปแผนที่ประเทศจีนที่ไม่มีไต้หวัน ซึ่งขัดกับนโยบาย “One-China Policy” มาโปรโมทสินค้าในปี 2562 การนำกระโปรงแบบจีนโบราณมาเป็นต้นแบบในปี 2565 หรือการใช้ภาพนางแบบชาวเอเชียที่กำลังใช้นิ้วดึงหางตาขึ้นให้หรี่เล็กในปี 2566 เหล่านี้ล้วนแต่ถูกกล่าวหาว่า นำเรื่องละเอียดอ่อนและวัฒนธรรมจีนดั้งเดิมมาใช้แสวงหาประโยชน์ทางธุรกิจ สร้างความโกรธเคืองและบางคนถึงกับประกาศคว่ำบาตร

แต่ความไม่พอใจดังกล่าวกลับไม่สร้างผลกระทบต่อดิออร์เท่า D&G รายได้ส่วนใหญ่ของดิออร์ยังคงเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปี 2562 อยู่ที่ 2.36 ล้านล้านบาท เป็น 3.38 ล้านล้านบาทในปี 2566 และจากเพียง 20 กว่าสาขาที่จีนในปี 2552 เพิ่มขึ้นเป็น 54 สาขาในปัจจุบัน (จากจำนวน 220 สาขาทั่วโลก)

หนึ่งในสาเหตุสำคัญเป็นเพราะการแสดงความรับผิดชอบ ด้วยการประกาศขอโทษต่อสาธารณชนและดึงโฆษณาที่เป็นประเด็นออกในทันที โดยไม่ทิ้งไว้หลายวันแบบ D&G ส่งผลให้แรงกระทบเชิงลบเกิดขึ้นเพียงระยะสั้นทั้งในด้านยอดขายและภาพลักษณ์ แสดงให้เห็นว่า ลักษณะเหตุการณ์และวิธีการตัดสินใจแก้ไขปัญหา มีผลกระทบอย่างมากต่อตลาดที่มีความอ่อนไหวและมีอิทธิพล

อีกบทเรียนที่ถอดได้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คือ เมื่อมีสถานการณ์ในทางลบก็มีแนวโน้มที่ข่าวจะแพร่กระจายอย่างรวดเร็วเป็นไฟลามทุ่ง ทั้งช่องทางแบบดั้งเดิมและแบบออนไลน์ซึ่งจุดติดง่าย แถมยังมีการต่อยอดแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อสังคม (Social Media) โต้ตอบกันตามแพลตฟอร์มต่างๆ 

ดังนั้น หากมองอีกมุมก็เหมือนว่า กระแสข่าวลักษณะดังกล่าวได้ดึงดูดกลุ่มคนจำนวนมากให้มุ่งสนใจในสินค้า เพราะมีการเอ่ยถึงตัวตน องค์กร หรือธุรกิจขึ้นซ้ำๆ จนกลายเป็นกระแสหรือไวรัลโดยไม่จำเป็นต้องซื้อพื้นที่สื่อ

และนั่นอาจจะเป็นที่มาว่า ทำไมบางวงการ บางบุคคล หรือบางตราสินค้า ถึงใช้กลยุทธ์เดียวกันนี้หลายต่อหลายครั้ง ทำให้เกิดสถานการณ์ทางลบซ้ำแล้วซ้ำอีก เข้าทำนองหลักสากลที่ว่า ขอแค่เป็นข่าว หรือ All News is Good News ในการนำเสนอหรือประชาสัมพันธ์ ซึ่งก็มีประสบความสำเร็จบ้างหลายกรณี แต่ก็มีพลาดท่าทัวร์ลงก็เป็นจำนวนไม่น้อย

ผลบวกและผลลบในจีนจากกรณีของทั้งสองธุรกิจข้างต้น ทำให้เราต้องตระหนักถึงวลีสากล High Risk, High Return ที่ความสัมพันธ์ระหว่างความเสี่ยงกับผลตอบแทนจากการลงทุนมักจะแปรตามกัน เมื่อคาดหวังผลตอบแทนสูง การวางเดิมพันก็ต้องสูงไปด้วย และสำหรับกรณีของ Apple นั้น ก็สะท้อนให้เห็นถึงการจัดการปัญหาที่รวดเร็วและประนีประนอมคล้ายกับสิ่งที่ดิออร์ทำ

ประกอบกับปัจจัยอื่นๆ อย่างขนาดตลาด หรือกำลังต่อรองที่ไม่เหมือนกับกรณีที่เกิดในจีน ซึ่งเหตุการณ์นี้คงจะไม่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อ Apple ในระยะยาว รวมถึงการเปิดตัว iPhone 16 ที่คาดว่าจะออกมาในเดือนหน้า

แต่เชื่อว่า Apple คงได้อีกหนึ่งบทเรียนครั้งสำคัญจากเหตุการณ์นี้ว่า ปัญหาที่เกิดจากความละเอียดอ่อนทางวัฒนธรรมและความรู้สึกรักชาตินั้น ต่อให้เป็นยักษ์ใหญ่อย่าง Apple การแก้ไขให้ถูกทางก็ไม่ใช่เรื่องที่กล้วยๆ เลย

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...