มองอดีตเพื่อหาอนาคตใหม่ให้เศรษฐกิจไทย (1)

ดังนั้น ผมจึงขอกลับไปมองอดีตว่า ในช่วงดังกล่าวปัจจัยอะไร ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดี เพื่อช่วยประเมินว่า ประเทศไทยมีทางเลือกอะไรบ้าง ในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวในระดับที่จะช่วยให้คนไทยมีอนาคตที่สดใสมากกว่าปัญหาที่รุมเร้าในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา

ผมจะต้องขอรวบรัดตัดตอน สรุปพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยในช่วง 60 ปีที่ผ่านมาในรูปเดียวดังภาพประกอบ

หากมองจากภาพใหญ่ ก็พอจะสรุปได้ว่า เศรษฐกิจไทยนั้น พัฒนาเปลี่ยนผ่านมา 3 ยุคด้วยกันคือ ยุคแรก 1960-1984 เศรษฐกิจไทยขยายตัวสูงเฉลี่ยประมาณ 7% ต่อปี เป็นช่วงที่การขยายตัวของ “ตลาดในประเทศ” เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย เพราะการส่งออกสินค้าและบริการนั้นอยู่ที่ระดับต่ำ 17-22% ของจีดีพี (การบริโภคในประเทศนั้น คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60% ของจีดีพี)

ในช่วง 1960-1984 ดังกล่าวสามารถแบ่งแยกออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรก 1961-1974 เศรษฐกิจขยายตัวได้ดีด้วยตัวเองเป็นหลัก ไม่ได้เผชิญปัญหาจากภายนอก (จีดีพีขยายตัว 7.5% ต่อปีโดยเฉลี่ย) ช่วงนั้น ผมไม่มีตัวเลขมายืนยัน (เพราะหาตัวเลขไม่ได้) แต่เชื่อว่า รัฐบาลขาดดุลงบประมาณไม่มาก

แตกต่างจากช่วง 1975-1984 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก เงินเฟ้อสูงกว่า 10% ต่อปี และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ คือสหรัฐแพ้สงครามเวียดนาม 

ช่วงดังกล่าว รัฐบาลต้องขาดดุลงบประมาณสูง คือเฉลี่ย 3.2% ต่อปี เพื่อสนับสนุนให้จีดีพีขยายตัวได้เฉลี่ย 6.76% ต่อปี ต่ำกว่าช่วง 1961-1974 ที่จีดีพีขยายตัวได้ 7.5% ต่อปี

เศรษฐกิจไทยยุคที่ 2 ช่วง 1984-2008 สัดส่วนของการส่งออกสินค้าและบริการต่อจีดีพี เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด คือจากประมาณ 22% ของจีดีพี ในปี 1984 มาเป็น 71.4% ของจีดีพีในปี 2008 กล่าวคือ เป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวโดยการบุกตลาดโลก

ยุคนั้นแบ่งออกได้เป็น 2 ช่วง คือช่วงแรก 1985-1996 จีดีพีไทยขยายสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ คือเฉลี่ย 8.6% ต่อปี ในช่วงดังกล่าว เศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนโดยเงินทุนและเงินยืมจากต่างประเทศ (ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 5% ของจีดีพีต่อปี โดยเฉลี่ย) ช่วงเดียวกัน รัฐบาลไทยเกินดุลงบประมาณเฉลี่ย 1.6% ต่อปี 

ทั้งนี้ สามารถแบ่งยุคดังกล่าวได้เป็น 2 ช่วงเช่นกัน คือช่วงแรก 1985-1993 มีการลงทุนจากต่างประเทศ มาพัฒนาก๊าซธรรมชาติของไทย การสร้างอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่มาบตาพุด และการย้ายฐานการผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่นอีกระลอกหนึ่งมาที่ประเทศไทย แต่ในช่วงหลังจากนั้นคือ 1994-1996 มีการกู้เงินระยะสั้นจากต่างประเทศเป็นจำนวนมหาศาล ทำให้เกิดฟองสบู่และวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 1997-1998

ช่วงต่อมา 1999-2008 เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากวิกฤติในปี 1997 เป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวโดยการเร่งการส่งออก เพราะต้องหารายได้เป็นเงินตราต่างประเทศมาใช้คืนหนี้สินและสร้างทุนสำรองระหว่างประเทศ

ช่วงนั้น เป็นช่วงที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในยุคที่นิยมโลกาภิวัตน์ หลังจากที่จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์กรการค้าโลกในปี 2001 จะเห็นได้ว่า การส่งออกสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นเป็น 70% ของจีดีพี สูงกว่าการบริโภคภายในประเทศอย่างมีนัยสำคัญ และเป็นช่วงที่รัฐบาลไทยไม่จำเป็นต้องสนับสนุนเศรษฐกิจมากนัก จึงขาดทุนงบประมาณเฉลี่ยเพียง 1.2% ของจีดีพี

ยุคที่ 3 คือปี 2009-ปัจจุบัน เป็นยุคที่ท้าทายอย่างยิ่ง เพราะสหรัฐเผชิญกับวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ (ปี 2008-2009) และต่อมา ยุโรปก็เผชิญกับวิกฤติประเทศกรีก ตามมาด้วยการที่ประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐทำสงครามการค้ากับจีนตั้งแต่ปี 2016 และต่อมา เศรษฐกิจโลกก็เข้าสู่ภาวะชะงักงันจากการระบาดของโควิด 19 ช่วงปี 2020-2022

จะเห็นได้ว่า ในช่วงปี 2009-2019 จีดีพีไทยยังขยายตัวได้ 3.24% (สูงกว่าช่วง 1997-2008 ที่เฉลี่ย 3.17% ต่อปีเล็กน้อย) แต่เป็นช่วงที่ รัฐบาลต้องขาดดุลงบประมาณมากกว่าช่วง 1997-2008 อีก 1 เท่าตัว (คือขาดดุลงบประมาณเฉลี่ย 2.4% ต่อปี) จึงสรุปได้ว่า ช่วง 2009-2019 เป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยไม่แข็งแรง หากรัฐบาลไม่ได้กู้เงินมา “อุ้ม” เศรษฐกิจคงจะโต 1% ต่อปี 

อีกตัวแปรที่บ่งถึงความเสื่อมถอยคือ การที่สัดส่วนของการส่งออกสินค้าและบริการต่อจีดีพีไหลลงจากจุดสูงสุดที่ 71.4% ในปี 2008 เหลือเพียง 64.8% ในปี 2018 และ 59.5% ในปี 2019 ก่อนการระบาดของโควิด-19

ช่วงการระบาดของโควิด-19 เศรษฐกิจไทยอ่อนแอลงอย่างน่าใจหาย เพราะช่วง 2020-2023 จีดีพีไทยไม่ได้ขยายตัวเลย เทียบกับเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวเฉลี่ย 2.3% ต่อปี และเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.0% ต่อปี (เพราะปี 2020 จีดีพีโลกติดลบไม่มากและปี 2021-2023 จีดีพีโลก พลิกฟื้นขยายตัวได้ดี แตกต่างจากเศรษฐกิจไทย)

แน่นอนว่า รัฐบาลต้องยอมขาดดุลงบประมาณมากถึง 5.9% ของจีดีพีต่อปีเฉลี่ย เพื่อไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายไปกว่าที่เกิดขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

สัปดาห์หน้า ผมจะเขียนถึงอีกประเด็นที่สำคัญกับการขับเคลื่อนการขยายตัวและการพัฒนาของเศรษฐกิจ คือการออมและการลงทุนครับ

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...