เปิด 4 ปมปัญหาภาษีที่ดิน อุปสรรค อปท.เก็บไม่ได้ตามเป้า

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบในการประเมินผลสัมฤทธิ์ของ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ได้ร่วมกับกรมธนารักษ์ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกรมที่ดิน ดำเนินการประเมินผลสัมฤทธิ์ของ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่มีผลใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค.2562 และเริ่มจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตั้งแต่ปีภาษี 2563

พ.ร.บ.ภาษีที่ดินที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เริ่มจัดเก็บภาษีตั้งแต่ปีภาษี 2563 โดยภาษีที่ดินที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นภาษีฐานทรัพย์สินมีหลักการในการจัดเก็บภาษีโดยพิจารณาจากความมั่งคั่งที่สะสมไว้ของบุคคลในรูปที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง โดย พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีอำนาจในการจัดเก็บ

สำหรับการคำนวณภาระภาษีจะใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์เป็นฐานในการคำนวณภาษี และนำไปคูณกับอัตราภาษีในอัตราก้าวหน้าตามมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และตามการใช้ประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง แต่ละประเภท ได้แก่ 

1.การประกอบเกษตรกรรม อัตราภาษี 0.01-0.1% 

2.ที่อยู่อาศัย อัตราภาษี 0.02-0.1% 

3.ใช้ประโยชน์อื่น ๆ นอกจากเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัย อัตราภาษี 0.3-0.7% เช่น พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม เป็นต้น 

4.ที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ อัตราภาษี 0.3-0.7% และหากทิ้งไว้ต่อเนื่องกันจะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นอีก 0.3 % ทุก ๆ 3 ปี แต่อัตราภาษีรวมสูงสุดไม่เกิน 3%

ทั้งนี้ สศค.ได้สรุปปัญหาของการบังคับใช้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในช่วงที่ผ่านมารวม 4 ประเด็น ดังนี้

1.พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กำหนดให้อปท.แจ้งการประเมินภาษีภายในเดือน ก.พ.ของทุกปี ซึ่ง อปท.ต้องมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องที่จะดำเนินการจัดเก็บภาษี โดยอาจมีข้อจำกัดของข้อมูล เช่น ข้อมูลรูปแปลงที่ดินหรือข้อมูลเอกสารสิทธิของที่ดินที่ อปท.ได้รับไม่ครบถ้วน และไม่เป็นปัจจุบัน

รวมทั้งอปท.ไม่ได้แจ้งข้อมูลการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองการจดทะเบียนการเช่า โดย อปท.ไม่สามารถเข้าถึงที่อยู่ของบุคคลตามฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรและที่อยู่ของนิติบุคคลตามฐานข้อมูลการจดทะเบียนนิติบุคคล ซึ่งส่งผลให้หนังสือแจ้งการประเมินถูกตีกลับ และทำให้ อปท.ต้องปิดหนังสือหรือส่งประกาศแจ้งความในหนังสือพิมพ์ ซึ่งเพิ่มขั้นตอนและต้นทุนการจัดเก็บภาษี

นอกจากนี้ อปท.ไม่มีข้อมูลแนวเขตการปกครองที่ชัดเจน ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่ทราบแน่ชัดว่าที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างใดบ้างอยู่ในความรับผิดชอบของตนเอง และไม่มีข้อมูลที่ดินของรัฐ เช่น ป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ นิคมสร้างตนเอง

2.พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กำหนดให้ใช้มูลค่าที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างตามราคาประเมินทุนทรัพย์เป็นฐานในการคำนวณภาษี และนำไปคูณกับอัตราภาษีในอัตราก้าวหน้าตามมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและตามการใช้ประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างแต่ละประเภท

รวมทั้งกรณีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างใช้ประโยชน์หลายประเภทต้องแยกคำนวณตามสัดส่วนการใช้ประโยชน์แต่ละประเภทด้วย ซึ่งทำให้การคำนวณภาษีที่ดินมีหลายขั้นตอนและอาจทำให้เกิดความผิดพลาดได้

3.พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กำหนดให้ อปท.จัดเก็บภาษีจากผู้เสียภาษี โดยผู้เสียภาษีอาจไม่ให้ความร่วมมือเจ้าหน้าที่เช่น ผู้เสียภาษีไม่อนุญาตไม่ให้สำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือไม่นำส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับที่ดิน หรือสิ่งปลูกสร้างให้อปท. เพื่อใช้ประเมินภาษีรวมทั้งผู้เสียภาษีไม่แจ้งการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างเพราะไม่มีความรู้ความเข้าใจภาษีที่ดิน

4.พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกำหนดให้ผู้บริหารท้องถิ่นตั้งพนักงานสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แต่พนักงานสำรวจมีภาระงานประจำอยู่แล้วทำให้เจ้าหน้าที่ไม่พอกับภาระงานที่เพิ่มขึ้น และเจ้าหน้าที่อาจไม่มีความรู้เกี่ยวกับการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ทำให้การสำรวจล่าช้าและตกสำรวจ ซึ่งส่งผลให้รายได้จากการจัดเก็บภาษีของ อปท.ลดลง

นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยได้ประมาณการณ์รายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ดินปี 2567 ไว้ที่ 41,459 ล้านบาท แบ่งเป็น รายได้ขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 10,059 ล้านบาท , เทศบาลตำบล 6,934 ล้านบาท , เทศบาลเมือง 4,604 ล้านบาท , เทบาลนคร 4,000 ล้านบาท , เมืองพัทยา 544 ล้านบาท และกรุงเทพมหานคร 15,016 ล้านบาท

สำหรับประมาณการจัดเก็บรายได้จากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปี 2567 ปรับสูงขึ้นจากปี 2566 ที่ อปท.จัดเก็บได้ 37,000 ล้านบาท และปี 2565 จัดเก็บได้ 35,800 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการที่ปี 2567 เริ่มจัดเก็บเต็มอัตราหลังจากช่วงที่ผ่านมามีการผ่อนปรนภาระภาษีที่ดินจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ทั้งนี้ การบรรเทาภาระภาษีในปี 2563-2565 กรณีที่ผู้เสียภาษีมีภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสูงกว่าภาระภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่ในปี 2562 ผู้เสียภาษีจะได้รับการบรรเทาภาระภาษีโดยจะเสียภาษีเท่ากับค่าภาษีปี 2562 บวกกับ 25% , 50% และ 75% ของส่วนต่างของค่าภาษีในปี 2563 , 2564 และ 2565 กับค่าภาษีในปี 2562 ตามลำดับ 

รวมถึงในปี 2563-2564 มีการลดภาษี 90% เพื่อบรรเทาภาระและผลกระทบให้กับประชาชน และผู้ประกอบการในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

นอกจากนี้ กรมธนารักษ์ได้มีการปรับราคาประเมินที่ดินใหม่ทั่วประเทศ ซึ่งส่งผลให้ราคาที่ดินที่นำมาประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพิ่มสูงขึ้น

ขณะที่การรับฟังความเห็นเพื่อแก้ไขภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้ดำเนินการไปเมื่อวันที่ 1 เม.ย.2567 ถึงวันที่ 15 พ.ค.2567 โดยขณะนี้ สศค.อยู่ระหว่างสรุปข้อมูลเพื่อเสนอกระทรวงการคลัง 

สศค.ประเมินว่าการปรับปรุงจะทำให้การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีฐานทรัพย์สิน มีการใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างเป็นฐานในการคานวณภาษี ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ลดข้อพิพาทระหว่างผู้เสียภาษีและเจ้าหน้าที่ 

รวมถึงมีการจัดเก็บภาษีในอัตราภาษีก้าวหน้าตามมูลค่าที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง และตามการใช้ประโยชน์แต่ละประเภท โดยผู้ที่มีมูลค่าทรัพย์สินสูงจะต้องเสียภาษีมากกว่า ผู้ที่มีมูลค่าทรัพย์สินต่ำ 

นอกจากนี้ ผู้เสียภาษีที่มีทรัพย์สินในลักษณะเดียวกันขนาดเท่ากัน และใช้ประโยชน์เหมือนกันก็จะมีภาระภาษีเท่า ๆ กัน จึงเป็นระบบภาษีที่มีความเป็นธรรม 

ขณะที่การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นการขยายฐานภาษีให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เนื่องจาก อปท.จะสามารถจัดเก็บภาษีจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่แต่เดิมเจ้าของไม่เคยแจ้งรายการทรัพย์สินเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบารุงท้องที่ รวมถึงราคาประเมินทุนทรัพย์ของกรมธนารักษ์ซึ่งเป็นฐานในการคานวณภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต 

ดังนั้น เมื่อ อปท.จัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้เพิ่มขึ้น อปท.จะมีรายได้ที่จะนำไปใช้ในการจัดระบบบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น และการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างช่วยกระตุ้นและจูงใจให้ผู้เสียภาษีนาที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างมาใช้ ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวม

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...