ธุรกิจเพื่อสังคม ต้องอยู่รอดได้ด้วย | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดการขับเคลื่อนนวัตกรรมแบบใหม่ทั้งทางด้านเทคโนโลยีและสังคมให้ไปสู่ระดับรากหญ้า นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้เข้าสู่สังคมสูงวัยซึ่งทำให้คนไทยแก่ก่อนรวย

ประชากรสูงวัยจึงต้องการนวัตกรรมแบบใหม่เพื่อยืดอายุการทำงาน และการส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้มีความมั่นคงและยั่งยืน ยิ่งไปกว่านั้นโครงสร้างสังคมและเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในเวลานี้ทำให้สังคมมีความเหลื่อมล้ำสูง ประชากรจำนวนมากเข้าไม่ถึงสวัสดิการของรัฐ

ประเทศไทยจึงจำเป็นที่จะต้องแสวงหาและส่งเสริมเครื่องมือและกลไกใหม่ ๆ ที่เป็นนวัตกรรมทางสังคม เพื่อที่จะมาสนับสนุนและต่อยอดการพัฒนาของภาครัฐ

กิจการและธุรกิจเพื่อสังคมเป็นกระแสใหม่ซึ่งเติบโตอย่างมากในซีกโลกตะวันตก นำไปสู่ปรากฏการณ์ที่พลเมืองออกมาร่วมกันทำสาธารณประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ มากขึ้น รวมถึงรูปแบบที่เป็นธุรกิจ

ทฤษฎีที่ใช้อธิบายกิจกรรมเพื่อสังคมในช่วงเริ่มแรกเป็นทฤษฎีการประกอบการทางสังคม (Social Entrepreneurship) ที่ไม่ได้มุ่งธุรกิจเพื่อสังคมแต่เน้นกระบวนการที่ประชาชนพยายามที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อแก้ไขปัญหาทางสังคม

เช่น ความยากจน ความเจ็บป่วย การไม่รู้หนังสือ ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ คอร์รัปชัน และการกดขี่ข่มเหง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ทำให้สังคมดีขึ้น

ภายใต้ทฤษฎีนี้ ผู้ประกอบการทางสังคมคือผู้ที่เห็นคุณค่าสาธารณะใหม่ ๆ เพื่อที่จะสร้างโอกาสและนวัตกรรมทางนโยบายหรือทางวัฒนธรรมใหม่ ซึ่งจะนำไปสู่ดุลยภาพใหม่ของสังคม บุคคลต้นแบบรุ่นใหม่ที่มักจะถูกกล่าวถึง คือ Jimmy Wales ผู้ก่อตั้ง Wikipedia

ทฤษฎีธุรกิจเพื่อสังคมเกิดขึ้นจากความสำเร็จของต้นแบบ ซึ่งต้นแบบที่มีชื่อเสียงที่สุดคือธนาคารกรามีน จัดตั้งโดย มูฮัมหมัด ยูนุส ซึ่งทั้งตัวองค์กรและผู้บริหารต่างได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ในปี 2016

แต่ก่อนหน้านั้นธนาคารได้มีชื่อเสียงไปทั่วโลกและได้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางอยู่แล้ว จนในบางครั้งถูกขนานนามว่าทุนนิยมรู้แจ้ง (enlightened capitalism) ซึ่งต่างจากทุนนิยมที่มีอยู่ในปัจจุบันคือ

ทุนนิยมรู้แจ้ง ถือเอาเป้าหมายทางสังคมและวัตถุประสงค์เพื่อสังคมเป็นวัตถุประสงค์หลักของการทำธุรกิจ ไม่ใช่การแสวงหากำไรสูงสุดตามแนวคิดทุนนิยมกระแสหลัก ดังนั้น สิ่งที่นักธุรกิจเพื่อสังคมพยายามที่จะแสวงหาจึงไม่ใช่กำไรสูงสุด แต่เป็นผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมสูงสุด

ทฤษฎีธุรกิจเพื่อสังคมจึงไม่ใช่ทฤษฎีเชิงนามธรรม แต่เป็นทฤษฎีที่ถอดแบบมาจากความสำเร็จของธุรกิจเพื่อสังคมที่เป็นรูปธรรมและเห็นผลในเชิงประจักษ์แล้ว ดังนั้น ทฤษฎีธุรกิจเพื่อสังคมจึงเป็นทฤษฎีที่สรุปมาจากประสบการณ์ 

ธุรกิจเพื่อสังคมในความเห็นของยูนุสมีลักษณะดังนี้

1) ธุรกิจเพื่อสังคมจะต้องมีเป้าหมายและวัตถุประสงค์เพื่อสังคม คำถามแรกในการจัดตั้งธุรกิจเพื่อสังคมคือจะต้องแก้ปัญหาอะไรของสังคม ไม่ใช่ว่าจะผลิตอะไรแล้วได้กำไรสูงสุดให้คุ้มค่าการลงทุน

2) ธุรกิจเพื่อสังคมต้องอยู่รอดได้ด้วยตัวเองและสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน หมายความว่าธุรกิจเพื่อสังคมอาจจะต้องแข่งขันกับธุรกิจประเภทเดียวกันที่เป็นธุรกิจปกติและต้องสามารถแข่งขันได้ด้วยตัวเองไม่ได้พึ่งพาการอุดหนุน ต้องพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืนทั้งทางด้านการเงินและด้านเศรษฐกิจ

3) ผู้ลงทุนจะได้รับเพียงเงินต้นที่ลงทุนของตนเองคืนโดยไม่มีดอกเบี้ยและเงินปันผล

4) หลังจากที่ได้คืนทุนแก่ผู้ลงทุนแล้ว กำไรที่เหลือจะนำไปขยายผลและปรับปรุงกิจการขององค์กร

5) ธุรกิจเพื่อสังคมต้องเป็นธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

6) บุคลากรของบริษัทหรือธุรกิจเพื่อสังคมจะต้องได้รับค่าตอบแทนตามราคาตลาดและมีเงื่อนไขการทำงานที่ดี

7) ธุรกิจเพื่อสังคมเป็นธุรกิจที่ผู้มีส่วนร่วมทำแล้วมีความสุข

ในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น ธุรกิจเพื่อสังคมและกิจการเพื่อสังคมได้วิวัฒนาการจนเส้นแบ่งระหว่างกิจการทั้ง 2 ประเภทนี้จางลง ซึ่งเกิดจากทั้งความจำเป็น ความเป็นไปได้ในแต่ละพื้นที่ หรือสภาพของการแข่งขันทั้งในตลาดสินค้าและบริการ

ทำให้ธุรกิจเพื่อสังคมที่แท้จริงตามคำนิยามของยูนุสนั้นเกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากต้องเป็นบริษัทที่แสวงหากำไรแต่ไม่คืนทุนให้แก่ผู้ลงทุน ยกเว้นผู้ลงทุนที่เป็นคนยากจนหรือเป็นบริษัทของคนยากจน

ดังนั้น ธุรกิจเพื่อสังคมในความเป็นจริง จึงอาจเป็นธุรกิจที่แสวงหากำไรสูงสุด แต่ต้องมีเงื่อนไขทั้งด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ (mission hybrid)

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ Whole Foods ซุปเปอร์มาร์เก็ตเชนในสหรัฐอเมริกาที่ได้มีการผสมผสานทั้งเงื่อนไขการแสวงหากำไรสูงสุดกับการผลิตเพื่อสังคมไว้ด้วยกัน หรือ Oxfam ซึ่งเป็นกิจการเพื่อสังคมที่มีพันธกิจหลักในการลดความยากจน ได้มีธุรกิจขายสินค้ามือสองเพื่อเป็นแหล่งทุนเสริมรายได้นอกเหนือจากการรับบริจาค

คำว่าธุรกิจเพื่อสังคมมีความหมายที่ค่อนข้างกว้างสำหรับภาคเอกชนและคนทั่วไป ซึ่งโดยทั่วไปจะหมายถึง ธุรกิจที่มีส่วนเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ ของสังคม และบรรเทาหรือแก้ไขปัญหาสังคม

เช่น ภาคเอกชนที่มีกิจกรรมการคืนกำไรสู่สังคมผ่านกิจกรรมที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (corporate social responsibility) เช่น การปลูกป่า การสร้างโรงเรียน ก็อาจเรียกตัวเองว่าเป็นธุรกิจเพื่อสังคมได้

ส่วนวิสาหกิจชุมชนหรือสหกรณ์ที่สร้างประโยชน์ให้กับคนในชุมชนที่เป็นสมาชิกของตน หรือองค์กรที่ผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก็อาจจะประชาสัมพันธ์ตนเองว่าเป็นธุรกิจเพื่อสังคม

มูลนิธิ หรือสมาคม ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำเพื่อสาธารณประโยชน์พร้อมกับมีกิจกรรมเชิงธุรกิจเพื่อหารายได้ ก็นับเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจเพื่อสังคมด้วยเช่นกัน

รัฐบาลได้มีนโยบายส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) ในการส่งเสริมนวัตกรรมทางสังคม โดยภาครัฐจะให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่บริษัท หุ้นส่วน ฯลฯ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2562 ที่มีวัตถุประสงค์ในการจ้างงานบุคคลผู้สมควรได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษหรือเพื่อแก้ไขปัญหาชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม

โดยกิจการเหล่านี้จะต้องกำหนดสัดส่วนของกำไรที่จะแบ่งปันให้แก่ผู้ที่เป็นหุ้นส่วนและผู้ถือหุ้นไม่เกินร้อยละ 30 หรือไม่ประสงค์จะแบ่งปันกำไรให้แก่หุ้นส่วนและผู้ถือหุ้นและจะนำส่วนที่ได้นี้ไปใช้เพื่อสังคม

นอกจากนี้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กำลังสนับสนุนการวิจัยเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสังคมของคนรุ่นใหม่อยู่เช่นกัน

ในคราวต่อไป ผู้เขียนจะนำองค์กรและบุคคลต้นแบบของธุรกิจเพื่อสังคมมานำเสนอให้ได้ชื่นชมกันค่ะ

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...