‘โรงงาน’ ระส่ำลดชั่วโมงทำงาน ‘ชิ้นส่วนยานยนต์’ หั่น OT เพิ่มวันหยุด

ภาคการผลิตถดถอยต่อเนื่อง ชั่วโมงทำงานลดลงตั้งแต่ไตรมาส 1 ทั้งโรงงานที่ใช้แรงงานมากและโรงงานใช้เทคโนโลยี “ชิ้นส่วนยานยนต์” หนักสุด ยอดขายลดลง 30% หั่นโอที เพิ่มวันหยุดเป็น 3 วันต่อสัปดาห์ ลดจ้างซับคอนแทรค ลดค่าใช้จ่ายฟิกซ์คอสต์ 

สถานการณ์ภาคการผลิตอยู่ในภาวะถดถอย โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2567 หดตัว 2.08% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนภาคอุตสาหกรรมไทยยังไม่ฟื้นตัว หลังปัญหาหนี้ครัวเรือนและอัตราดอกเบี้ยอยู่ระดับสูง รวมถึงต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานจำนวนผู้มีงานทำและชั่วโมงการทำงานของแรงงานภาคการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมมีทิศทางลดลงมาตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2567 โดยจำนวนชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยต่อคนต่อสัปดาห์ลดลงอยู่ที่ 45.31 ชั่วโมงต่อคนต่อสัปดาห์ ลดลงจาก 45.76 ชั่วโมงต่อคนต่อสัปดาห์ หรือคิดเป็นการลดลง 1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแบ่ง 3 กลุ่ม ดังนี้

1. กลุ่มการผลิตที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศ มีเวลาการทำงานเฉลี่ย 45.23 ชั่วโมงต่อคนต่อสัปดาห์ ลดลง 1.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแรงงานส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมอาหาร 1.06 ล้านคน สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ลดลง 0.2% และอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 58.92% ลดลง 0.5%

2. กลุ่มการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้น มีชั่วโมงทำงานเฉลี่ย 44.44 ชั่วโมงต่อคนต่อสัปดาห์ ลดลง 0.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แรงงานส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม 282,000 คน สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ลดลง 4.7% และอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 42.79% ลดลง 9.4%

3. กลุ่มการผลิตที่ใช้เทคโนโลยี มีชั่ใโมงทำงานเฉลี่ย อยู่ที่ 45.83 ชั่วโมงต่อคนต่อสัปดาห์ ลดลง 1.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แรงงานส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ รถพ่วงและรถกึ่งพ่วง 445,000 คน สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ลดลง 6.0% และอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 64.35% ลดลง 8.5%

สถานการณ์ชั่วโมงทำงานที่ลดลงสอดคล้องกรมโรงงานอุตสาหกรรมรายงานช่วง 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ปี 2567 แจ้งเลิกทะเบียนโรงงาน 667 แห่ง ทุนจดทะเบียน 18,091 ล้านบาท กระทบการจ้างงาน 17,674 คน สถิติดังกล่าวสูงกว่าช่วงการแพร่ระบาดโรคโควิด-19

ส.อ.ท.ห่วงชั่วโมงทำงานลดรายได้หด

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ชั่วโมงทำงานของโรงงานมีแนวโน้มลดลง โดยพิจารณาจากกรณีฮอนด้ายุบสายการผลิตจากโรงงานพระนครศรีอยุธยาไปโรงงานที่ปราจีนบุรี 

ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวเหมือนเป็นการยุบรวมกันจาก 2 โรงงานเหลือโรงงานเดียว โดยจะเห็นว่าผลกระทบที่เกิดขึ้น เช่น โรงงานรถญี่ปุุ่นปิดโรงงานลงเหลือแต่ฝ่ายขายและฝ่ายการตลาด และใช้วิธีนำเข้าแทนการผลิตในประเทศ ดังนั้น เวลาทำงานปรับลงหมดจึงไม่แปลกใจที่เวลาชั่วโมงทำงานในภาพรวมมีการปรับลดลงในช่วงที่ผ่านมา

“การยุบโรงงานส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชนที่เป็นเอสเอ็มอีในห่วงโซ่ได้รับผลกระทบ อาจจะต้องปิดกิจการลงตามไปด้วยอีกจำนวนมาก โรงงานเล็กจะมีเปอร์เซ็นปิดอีกมาก ปีที่แล้วเป็นการปิดของโรงงานขนาดกลางและใหญ่ แต่ปีนี้น่ากลัวสุดคือเอสเอ็มอีที่จะปิดอีกเสมือนใบไม้ร่วง

ชิ้นส่วนยานยนต์หั่นโอที-เพิ่มวันหยุด

นายสุพจน์ สุขพิศาล เลขาธิการ Cluster of FTI Future Mobility-ONE และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปี่ผ่านมา ออเดอร์ยอดขายชิ้นส่วนลบ 30% แล้ว ตั้งแต่ต้นปี 20% และรวมหลังเดือน 4 มาเห็นชัดขึ้น เดือน 5-6 บวกเพิ่มเป็น 30%

ทั้งนี้ จากสถานกการณ์ที่ปรับลดกำลังการผลิตได้กระทบการทำงานล่วงเวลา (โอเวอร์ไทม์ หรือ โอที) โดยบางบริษัทยกเลิกการทำโอทีแล้ว รวมถึงบางบริษัทเพิ่มวันหยุดจาก 2 วัน เป็น 3 วันต่อสัปดาห์ 

รวมทั้งบางบริษัทลดเวลาทำงานและเริ่มโครงการจ่ายเงินเดือน 75% ของเงินเดือนทั้งหมด ซึ่งกลับไปเหมือนตอนเกิดวิกฤติโควิด-19 และตอนน้ำท่วมใหญ่ที่กระทบภาคการผลิต แต่ความน่ากลัวคือไม่รู้เมื่อไหร่จะจบช่วง เพราะช่วงโควิดและน้ำท่วมมันเป็น Short term และภาครัฐเข้ามาสนับสนุนเยียวยาแต่เหตุการณ์นี้ไม่มี

นอกจากนี้ ทุกคนหวังว่าไตรมาส 4 ปี 2567 เศรษฐกิจไทยจะฟื้น โดยมาจากปัจจัยงบประมาณภาครัฐ นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล รวมถึงภาคท่องเที่ยวที่เป็น High Season จากตัวเลขที่จะมาเดือน 10 ก็ต้องมารอดูกัน

ทั้งนี้ ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ได้แบ่งการจ้างงานออกเป็น 3 กลุ่มคือ 

1.การจ้างงานของบริษัทเอง 

2.การจ้างงานจากซับคอนแทรค โดยถ้าคำนวณแล้วเดือนต่อไปไม่ได้ใช้งานจะคืนคนให้บริษัทซับคอนแทรค ซึ่งเหมือนการปลดหรือลดจำนวนพนักงาน ซึ่งเป็นกลุ่มแรกที่เริ่มได้รับผลกระทบแล้ว

3.การจ้างเอาท์ซอร์ส โดยการจ้างยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เช่น รปภ. แม่บ้าน รถขนส่ง

“ยอดขายที่ลดลง 30% ถ้าจะให้บาลานซ์ต้องลดคนลง 30% ในทางปฏิบัติการบริหารโรงงานอุตสาหกรรมส่วนต้นทุน fix cost ลดลงได้ยาก เช่น ค่าใช้จ่ายพนักงงาน" นายสุพจน์ กล่าว

ออร์เดอร์น้อยลงลดชั่วโมงทำงาน

สำหรับการผลิตในโรงงานจะวางแผนตามคำสั่งซื้อ โดยถ้ามียอดผลิตมากจะวางแผนใช้ชั่วโมงทำงานมากหรือใช้แรงงานมากขึ้น แต่ถ้าคำสั่งซื้อน้อยจะลดลงตามไปด้วย โดยภาพรวมการปรับเปลี่ยนจะอยู่ที่ 10-15% ไม่ถึง 30% ซึ่งผู้ประกอบการพยายามสร้างบาลานซ์ร่วมกับการทำโอที แต่ปัจจุบันไม่มีการทำโอทีแล้ว

ส่วนเอสเอ็มอีที่สายป่านไม่ยาวจะอยู่ลำบากเพราะรายเล็กอำนาจต่อรองไม่มาก โดยเมื่อสั่งซื้อสินค้าจะได้เครดิตเพียง 30 วัน แต่เมื่อส่งวัตถุดิบสินค้าไปโรงงาน OEM จะโดนเครดิต 60-90 วัน ทำให้ต้องมีเงินหมุนเวียนอีก 60 วัน โดยตั้งแต่ต้นปี 2567 ยอดผลิตไม่สูงและสถาบันทางการเงินเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อจึงเกิดปัญหา NPL สูง

“มีผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่เป็นเอสเอ็มอีถึง 70-80% ของผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ทั้งหมด ดังนั้น เอสเอ็มอีต้องบริหารจัดการองค์กรตัวเองด้วยโดยเฉพาะเงินหมุนเวียน โดยสกิลในการบริหารจัดการไฟแนนซ์เชียลของเอสเอ็มอีก็คงไม่สูงนัก ถือเป็นจุดน่าเป็นห่วง” นายสุพจน์ กล่าว

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...