บพท.ผนึกเครือข่ายราชภัฏหนุนApp Tech ตั้งเป้า4,000 นวัตกรรมพร้อมใช้ในปี70

ผศ.ดร.ลินดา เกณฑ์มา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) เปิดเผยแนวทางการพัฒนานวัตกรรมพร้อมใช้ ในการประชุมเชิงปฏิบัติการและเสวนาภาคีเครือข่ายราชภัฏ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ร่วมกันจัดขึ้นที่โรงแรมเซ็นจูรี่พาร์ค กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา โดยกล่าวว่า ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยราชภัฏมีเครือข่ายทั่วประเทศรวม 38 แห่ง มีบุคลากรทางวิชาการกว่า 1 หมื่นคน โดยมีภารกิจในปัจจุบันมุ่งเน้นการทำงานเชิงพื้นที่ และการพัฒนาชุมชน ท้องถิ่น ซึ่งจำเป็นต้องใช้การบูรณาการองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาเชิงพื้นที่ จึงได้มีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นต้นแบบที่ ชื่อว่า App Tech Rajabhat  ซึ่งโครงการนี้ได้เริ่มต้นขึ้นโดยสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ และสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ผนึกกำลังร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ 24 แห่งทั่วประเทศ มีการนำเข้าข้อมูลนวัตกรรมพร้อมใช้แล้วกว่า 500 นวัตกรรม

“แอพพลิเคชั่น App Tech Rajabhat จะเป็นเครื่องมือที่สนับสนุนให้การทำงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่น คล่องตัวมากขึ้น โดยรวบรวมเอาฐานข้อมูลนวัตกรรมพร้อมใช้ของเครือข่ายราชภัฏไว้ด้วยกัน เพื่อการเรียนรู้ ถ่ายทอดขยายผล และนำไปประยุกต์ใช้พื้นที่ต่างๆ นอกจากจะเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ภายในเครือข่ายราชภัฏแล้ว ยังสามารถสร้างกลไกความร่วมมือระหว่างสถาบันในการจัดการพัฒนาท้องถิ่นข้ามหน่วยงาน จังหวัด ภูมิภาค ได้อีกด้วย”

ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า หน้าที่ของ บพท.อย่างหนึ่งคือทำให้งานวิจัย และนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมซึ่งมีการพัฒนาในพื้นที่ และในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ ได้รับการขยายผลให้เป็นประโยชน์และช่วยให้เกิดการพัฒนาในระดับพื้นที่ ซึ่งจะเป็นคานงัดและจุดเปลี่ยนอย่างแท้จริงในการพัฒนาประเทศที่มีความยั่งยืน 

ในขั้นต่อไปเมื่อมีการรวบรวมเทคโนโลยีและนวัตกรรมพร้อมใช้เอาไว้ในฐานข้อมูลกลาง ที่ชุมชนสามารถเข้ามาใช้ค้นหาข้อมูลได้ก็ไม่จำเป็นต้องทำวิจัยใหม่ทุกครั้ง แต่สามารถเอาไปประยุกต์ใช้ได้เลย

นอกจากนั้นก็จะเกิดการแลกเปลี่ยนกับชุมชนที่เจอปัญหาจากการทำงานสามารถที่สะท้อนปัญหามายังมหาวิทยาลัยในพื้นที่ได้เลย ฝ่ายสนับสนุนจากสถาบันการศึกษาในพื้นที่ก็จะเข้าไปให้คำแนะนำและช่วยเหลือได้ในลักษณะการทำงานแบบเครือข่ายความร่วมมือ หรือในบางครั้งอาจเป็นการให้การสนับสนุนในเรื่องของเงินทุน (seed money) การพัฒนาชุมชนก็จะรวดเร็วขึ้นสามารถขยายผลไปได้มากขึ้น

“ระบบฐานข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาพื้นที่และช่วยลดความซ้ำซ้อนการสนับสนุนทุนวิจัยได้ อย่างไรก็ตามความยั่งยืนของการพัฒนาระบบฐานข้อมูลจำเป็นต้องมีการสนับสนุนทุนวิจัย ในลักษณะ Research Utilization เพื่อให้เกิดการใช้ระบบฐานข้อมูล App Tech Rajabhat มาขยายผลและยกระดับผลงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ ควบคู่ไปกับการพัฒนานวัตกรชุมชนทั่วประเทศ ซึ่ง สกสว.มีกลไกกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) พร้อมให้การสนับสนุนการนำผลวิจัยไปต่อยอดขยายผลการใช้ประโยชน์อยู่แล้ว และทาง บพท. ก็พร้อมที่จะร่วมมือกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่องและเป็นฐานข้อมูลสำหรับนวัตกรรมพร้อมใช้ที่จะช่วยสร้างนวัตกรชุมชนให้เพิ่มขึ้นต่อไป”

ทั้งนี้มองว่าการขยายผลฐานข้อมูลเทคโนโลยีและนวัตกรรมพร้อมใช้จะสามารถทำได้รวดเร็วมากขึ้นเนื่องจากลักษณะของฐานข้อมูลเป็น Open data โดยปัจจุบันในระบบฐานข้อมูล App Tech Rajabhat  มีนวัตกรรมพร้อมใช้อยู่แล้วประมาณ 500 นวัตกรรม และจะเพิ่มจำนวนเป็น 3,200  นวัตกรรมภายในปี 2568 และคาดว่าจะมีครบอย่างน้อย 4,000 นวัตกรรมภายในปี 2570  ส่วนเป้าหมายในการเพิ่มนวัตกรชุมชนที่จะเป็นกลไกในการพัฒนาชุมชนทั่วประเทศตั้งเป้าว่าในปี 2570 จะมี 35,000 คน หรือเฉลี่ยแล้วจะมีนวัตกรชุมชนอยู่ในชุมชนไม่น้อยกว่าตำบลละ 5 คน

ในระยะต่อไป เมื่อมีความพร้อมของระบบข้อมูล ชุดความรู้ บพท.มีแผนที่จะทำงานขับเคลื่อนสร้างความร่วมมือกับภาคประชาสังคม เช่น สสส. พอช. เป็นต้น ในการตอบโจทย์ใหญ่ของประเทศ โดยจับคู่ให้ระบบไปเจอกับผู้ใช้ในระดับภูมิภาคอย่างน้อย 4 ภูมิภาค โดยมี App Tech เป็นเครื่องมือในการสนับสนุนนการทำงานของวัตกรชุมชน ที่มีความพร้อมในการรับปรับเปลี่ยนประยุกต์ใช้เทคโนโลยี หนุนเสริมให้เกิด Quick Win ในการพัฒนาพื้นที่ 

 

“ความคาดหวังคืออยากให้แกนนำชุมชน แกนนำชาวบ้านในพื้นที่ ลุกขึ้นมาจัดการปัญหาของตนเองด้วยตัวเองแล้วเกิดการพัฒนาเป็นนวัตกรชาวบ้าน โดยมีโค้ชคือมหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่ โดยเฉพาะเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏที่มีวิศวกรสังคมเป็นกลไกในการพัฒนาองค์ความรู้ให้กับชุมชนในพื้นที่ มีศูนย์การเรียนรู้ที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ได้อย่างเป็นระบบ คาดหวังว่าจะสามารถยกระดับการพัฒนาได้ทั่วประเทศก็จะสามารถเกิดขึ้นได้จริง”

ระบบ “App Tech Rajabhat”  มี 4 ฟีเจอร์หลัก ประกอบด้วย 1) นวัตกรรมพร้อมใช้ เป็น เพื่อให้ทางชุมชนได้เข้ามาพิจารณาเลือกนวัตกรรมที่ตนเองสนใจและตรงกับความต้องการหรือสภาพปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ โดยชุมชนสามารถกดปุ่มแชทสื่อสารกับทางเจ้าของนวัตกรรมโดยตรงได้ทันที 

2) โจทย์ปัญหา เป็นพื้นที่เปิดกว้างให้สำหรับชุมชน/ท้องถิ่น สามารถนำเสนอประเด็นโจทย์ปัญหาหรือระบุนวัตกรรมที่กำลังมองหา โดยมีนักวิจัยพัฒนาจากฝั่งของมหาวิทยาลัย เป็นผู้เข้าไปค้นหาประเด็นโจทย์ปัญหาที่นวัตกรรมพร้อมใช้ของตนเองสามารถจัดการได้ เพื่อนำผลงานขยายสู่การใช้ประโยชน์ในวงกว้างต่อไป 

3) ช่องทางพูดคุย เป็นกลไกสำหรับจัดการการพูดคุย โดยแต่ละมหาวิทยาลัยจะมีผู้ได้รับมอบหมายคอย ควบคุมดูแล การสื่อสารระหว่างเจ้าของนวัตกรรมและชุมชนให้เป็นไปตามขั้นตอน ระเบียบของการนำผลงานไปสู่การใช้ประโยชน์

4) รายงานระบบสารสนเทศ เป็นการสรุปข้อมูลแบบ Executive ในมุมมองต่าง ๆ เพื่อให้สามารถเข้าใจได้ง่าย ครบถ้วน สะดวกและรวดเร็ว แบ่งเป็น 1) ระบบสารสนเทศสำหรับคนทั่วไป จะแสดงข้อมูลจำนวน/รายละเอียดทั่วไปของนวัตกรรมพร้อมใช้ และโจทย์ปัญหา จำแนกบนแผนที่แยกตามรายจังหวัด 2) ระบบสารสนเทศสำหรับสถาบัน เป็นอีกหนึ่งฟังก์ชั่นพิเศษของ App Tech Rajabhat ที่ถูกพัฒนาเพื่อใช้ในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ในแต่ละมหาวิทยาลัย รวมถึงใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนสู่การตัดสินใจของผู้บริหารระดับนโยบาย โดยจะแสดงข้อมูลเชิงลึกถึงระดับตำบล สามารถใช้วิเคราะห์การกระจายตัวของงบประมาณในพื้นที่ตลอดจนนวัตกรรมพร้อมใช้ รวมทั้งโจทย์ ที่จะนำไปสู่การวางแผนเพื่อพัฒนาโครงการและการจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสมต่อไป

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...