ทางเลือกปฏิรูป ‘ระบบยืนยันตัวตน’ ลดซับซ้อน-ตัดต้นทุน

ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ที่ให้บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทุกแห่งมีหน้าที่ปรับปรุงข้อมูล KYC และ CDD ให้เป็นปัจจุบัน เพื่อลดความเสี่ยงที่บริษัทจะถูกใช้เป็นแหล่งของการฟอกเงิน อีกทั้งยังให้บริษัททราบการเปลี่ยนแปลงข้อมูลของลูกค้า เช่น ข้อมูลการติดต่อ ความเคลื่อนไหวทางการเงิน ระดับความเสี่ยงในการฟอกเงิน เป็นต้น

โดยจะต้องทำแบบทบทวนข้อมูลประเมินความเสี่ยงต่อการฟอกเงิน (CDD) เป็นประจำทุก 1-5 ปี ขึ้นอยู่กับผลการประเมินความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละราย ซึ่งสร้างภาระเกินสมควรให้กับนักลงทุน โดยเฉพาะการเสียเวลาดำเนินการที่เหมือนกันทุกบริษัท

ดังนั้น เพื่ออำนวยความสะดวกและลดภาระให้แก่นักลงทุน สำนักงาน ก.ล.ต. จึงควรพิจารณาปรับแนวทางให้ บล. และ บลจ. ปรับปรุงกระบวนการยืนยันตัวตนและการทบทวนข้อมูลของลูกค้าให้เป็นปัจจุบัน โดยอาจศึกษาจากแนวทางของต่างประเทศ ดังนี้

แนวทางแรก คือ การตั้งหน่วยงานกลาง (Central KYC) ทำหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูล KYC/CDD ของลูกค้า โดยทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต้องรายงานข้อมูลผ่านหน่วยกลาง และทุกหน่วยงานสามารถขอใช้บริการข้อมูลการยืนยันตัวตนของลูกค้าผ่านหน่วยงานกลางนี้ได้

เช่นเดียวกับอินเดีย ที่รัฐบาลได้จัดตั้งหน่วยงานกลาง ซึ่งก็คือ The Central KYC Records Registry (CKYCR) โดยกำหนดมาตรฐานสำหรับการจัดเก็บข้อมูล KYC/CDD ประกอบด้วย ข้อมูลส่วนบุคคล พร้อมรูปถ่าย ลายเซ็น ลายนิ้วมือ และเอกสารรับรองตนเอง 

ขณะที่หน่วยงาน สถาบันการเงินหรือบริษัทต่างๆ ที่มีการรายงานข้อมูลตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ สามารถเข้าถึงข้อมูลลูกค้าที่ถูกจัดเก็บในทะเบียนกลางของ CKYCR ได้ ทำให้ลูกค้าไม่ต้องเสียเวลากรอกข้อมูลใหม่ทุกครั้ง แต่บุคคลอื่นหรือหน่วยงานอื่นที่ไม่ได้รายงานข้อมูลจะไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ข้อมูลดังกล่าว

อย่างไรก็ดี แนวทางนี้อาจมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของข้อมูล เนื่องจากการนำข้อมูลของลูกค้ามารวมไว้เพียงแห่งเดียว อาจเกิดการรั่วไหลของข้อมูลไปสู่มิจฉาชีพได้ และอาจไม่สอดคล้องกับสถานการณ์การใช้เทคโนโลยีในโลกปัจจุบัน

สำหรับประเทศไทย หน่วยงานกลางในการเก็บรวบรวมข้อมูลทะเบียนราษฎร คือ กรมการปกครอง ซึ่งได้พัฒนาระบบเชื่อมโยงฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรร่วมกับหน่วยงานภาครัฐผ่านแอปพลิเคชัน “ThaiD” เพื่อใช้ในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชน รวมถึงเปรียบเทียบใบหน้า (Face Verification System) ทางดิจิทัล 

หากประชาชนเข้าไปใช้บริการจากภาครัฐหรือเอกชนสามารถใช้ระบบดังกล่าวเพื่อยืนยันตัวตนก่อนใช้บริการได้ แต่ข้อจำกัดของ ThaiD คือ การเปรียบเทียบใบหน้ากับรูปถ่ายที่ยังไม่เป็นปัจจุบัน เนื่องจากการบันทึกรูปถ่ายใบหน้าของกรมการปกครองจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีการต่ออายุบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งจะทำทุก 5 ปี

แนวทางที่สอง การใช้ระบบยืนยันตัวตนแบบอัตโนมัติ หรือ KYC Automation โดยในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น สหราชอาณาจักร เยอรมนี สหรัฐ ลิทัวเนีย เอสโทเนีย หรือแคนาดา เปิดโอกาสให้บุคคลที่สามหรือบริษัทเอกชนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้บริการยืนยันตัวตนแบบอัตโนมัติ แก่สถาบันการเงินหรือหน่วยงานต่างๆ ที่ต้องทำการยืนยันตัวตนของลูกค้า

ทั้งนี้ ระบบ KYC Automation จะใช้ซอฟต์แวร์ในการตรวจสอบ ทั้งเอกสารประจำตัวของลูกค้า หนังสือเดินทาง ใบขับขี่และใบเสร็จค่าสาธารณูปโภคต่างๆ รวมทั้งใช้การวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูงและอัลกอริทึม เพื่อประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นของลูกค้าแต่ละรายได้ทันที

ในสหรัฐมีแพลตฟอร์มผู้ให้บริการยืนยันตัวตนขั้นสูง ชื่อว่า “Mitek” และถือเป็นผู้นำระดับโลกด้านการเชื่อมต่อข้อมูลทางกายภาพกับข้อมูลดิจิทัล โดยได้รับความไว้วางใจจากธนาคารในสหรัฐ และองค์กรขนาดใหญ่ในโลกถึง 7,500 แห่ง 

“Sanction Scanner” เป็นผู้ให้บริการยืนยันตัวตนในสหราชอาณาจักร โดยมีการคัดกรองข้อมูลลูกค้าตามรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดเกี่ยวกับการป้องกันการฟอกเงิน รายชื่อบุคคลเฝ้าระวัง และรายชื่อบุคคลที่มีสถานะทางการเมือง มากกว่า 3,000 รายการ รวมทั้งใช้อัลกอริทึมคัดกรองลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงและสามารถแจ้งเตือนแบบทันที (real time) เพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้

ขณะที่ในประเทศไทยมี บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด (NDID) หนึ่งในผู้ให้บริการระบบการพิสูจน์ยืนยันตัวตนบนโลกดิจิทัลแบบอัตโนมัติ โดยให้บริการทั้งการเปิดบัญชีธนาคารออนไลน์ การขอสินเชื่อออนไลน์ รวมถึงการเปิดบัญชีการลงทุนในตลาดทุน แต่ไม่ใช่ บล. และ บลจ. ทุกรายที่จะใช้บริการของ NDID เนื่องจากต้องแบกรับภาระต้นทุนค่าธรรมเนียมประมาณครั้งละ 115 บาทต่อรายการ ทำให้ บล. และ บลจ. มีต้นทุนรวมกันประมาณ 128.4 ล้านบาทต่อปี

อย่างไรก็ดี จากการประเมินต้นทุนการยืนยันตัวตนของลูกค้าทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เมื่อเปิดบัญชีหลักทรัพย์และบัญชีกองทุนใหม่ คือ 189.9 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ยังมีต้นทุนค่าเสียโอกาสของนักลงทุนจากเวลาที่สูญเสียไปจากการทำ KYC/CDD ทุกบัญชีอีกประมาณ 355.3 ล้านบาทต่อปี

ดังนั้น หากมีการปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานให้สะดวกขึ้น และช่วยลดภาระต้นทุนของนักลงทุน รวมถึงลดภาระค่าใช้จ่ายของการใช้ระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนให้กับ บล. และ บลจ.ได้ โดยแนวทางในระยะสั้น สำนักงาน ก.ล.ต. อาจเจรจาขอลดค่าธรรมเนียมการใช้บริการผ่านระบบพิสูจน์ยืนยันตัวตนของ NDID เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายให้กับ บล. และบลจ. ที่จะใช้บริการ

ส่วนในระยะยาว บล. และ บลจ. อาจพิจารณาทางเลือกของการใช้ระบบพิสูจน์ยืนยันตัวตนผ่านระบบ ThaiD ของกรมการปกครอง แต่สำนักงาน ก.ล.ต. ควรร่วมพัฒนาระบบการถ่ายรูปเพื่อเปรียบเทียบใบหน้าให้เป็นปัจจุบันกับกรมการปกครอง

ทั้งนี้ การปรับปรุงกระบวนการ KYC/CDD ของการเปิดบัญชีลงทุน จะช่วยลดต้นทุนค่าเสียโอกาสของนักลงทุนที่สูญเสียเวลาไปกับการทำ KYC/CDD ทุกบัญชี โดยเฉพาะการปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันกับหน่วยงานเพียงแห่งเดียว จะทำให้นักลงทุนไม่ต้องดำเนินการซ้ำซ้อนทุกบัญชี

บทวิเคราะห์นี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดบทความ “โครงการกิโยตินกฎระเบียบ ตลาดทุน” โดยทีดีอาร์ไอและกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF)

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...