ททท. คาดหยุดยาว 2 ช่วงเดือน ก.ค. ไทยเที่ยวไทย 5 ล้านคน รายได้สะพัด 1.8 หมื่นล้าน

นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ในเดือน ก.ค. มีวันหยุดยาวต่อเนื่อง 2 ช่วง ที่ช่วยเอื้อให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยว ได้แก่ วันหยุดยาวเนื่องในวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา (วันที่ 20-22 ก.ค. 2567) และวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 (วันที่ 27-29 ก.ค. 2567) คาดว่าจะมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศรวมกันมากกว่า 5 ล้านคน-ครั้ง และสร้างรายได้หมุนเวียนประมาณ 18,360 ล้านบาท

โดยภาคกลางมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนมากที่สุด (1,174,060 คน-ครั้ง) รองลงมาคือกรุงเทพฯ (947,810 คน-ครั้ง) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (931,950 คน-ครั้ง) ส่วนภูมิภาคที่สร้างรายได้มากที่สุดคือ กรุงเทพฯ (4,781 ล้านบาท) รองลงมาคือภาคตะวันออก (4,061 ล้านบาท) และภาคใต้ (3,017 ล้านบาท) ตามลำดับ

ในภาพรวมคาดว่าบรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวทั้ง 2 ช่วงวันหยุดยังอยู่ในทิศทางที่ดี เนื่องจากเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ประชาชนส่วนใหญ่นิยมพาครอบครัวเดินทางไปไหว้พระ ทำบุญตักบาตรและถวายเทียนพรรษาตามศาสนสถานต่างๆ เพื่อความเป็นสิริมงคลทั้งแก่ตนเองและคนในครอบครัวตามความเชื่อและศรัทธาชองพุธศาสนิกชน

ประกอบกับเป็นเดือนมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนทุกภาคส่วนร่วมกันจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อาทิ จิตอาสาร่วมกันปลูกป่า 72 ล้านต้น พลิกฟื้นผืนป่าทั่วประเทศ, เปิดปราสาทพระเทพบิดร ภายในวัดพระศรีศาสดารามให้ประชาชนเข้าไปถวายบังคมสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช, พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ กรุงเทพฯ เปิดให้เข้าชมเรือพระราชพิธีสาหรับใช้พระราชพิธีกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค เป็นต้น

โดยคาดว่า การเดินทางท่องเที่ยวช่วงวันหยุดยาวเนื่องในวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษามีความคึกคักมากกว่าวันเฉลิมพระชนมพรรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะเป็นภูมิภาคที่มีวัดเก่าแก่สำคัญ มีเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่ศรัทธาของประชาชน กอปรกับการจัดกิจกรรมและงานประเพณีทางศาสนาที่มีความเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะพื้นที่ อาทิ ประเพณีแห่เทียนพรรษาอุบลราชธานี, ประเพณีตักบาตรดอกเข้าพรรษา จ.สระบุรี, ประเพณีแห่เทียนพรรษาทางน้าที่ลาดชะโด จ.พระนครศรีอยุธยา, งานประเพณีแห่เทียนพรรษาโคราช จ.นครราชสีมา เป็นต้น ส่งผลให้เกิดการเดินทางเข้าพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษารวมกันประมาณ 1.22 ล้านคน-ครั้ง

ขณะที่ วันหยุดยาว วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คาดว่ากรุงเทพฯ มีความคึกคักมากกว่าพื้นที่อื่น ทำให้มีผู้เยี่ยมเยือนเดินทางเข้าพื้นที่มากเป็นอันดับหนึ่งโดยมีจำนวน 947,810 คน-ครั้ง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากประชาชนส่วนใหญ่เดินทางเข้าพื้นที่ เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในช่วงเวลาดังกล่าว

สำหรับแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมในช่วงวันหยุดยาวในเดือนกรกฎาคม 2567 พบว่า ชลบุรีมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยสูงเป็นอันดับหนึ่งอยู่ที่ร้อยละ 86 จากความได้เปรียบที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวระยะใกล้เดินทางสะดวก มีแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมหลากหลาย ประกอบกับได้รับแรงหนุนจากการจัดงาน AMAZING THAILAND PATTAYA MARATHON 2024 PRESENTED BY MAMA และงานวิจิตร 5 ภาค @ชลบุรี ในธีม “เกาะใต้น้ำมหัศจรรย์” รองลงมาคือ อุบลราชธานี พื้นที่ไฮไลท์ในช่วงเทศกาลงานเข้าพรรษา มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยร้อยละ 84 ซึ่งในปีนี้การจัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษาอุบลราชธานี ภายใต้ชื่องาน "เฉลิมพระเกียรติ72 พรรษา เมืองเทียน เมืองธรรม งามล้าเมือง 4 แสง" ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมกันผลักดันให้เป็นเทศกาลระดับโลก หรือ World Festival ตามนโยบายรัฐบาล โดยมีไฮไลท์จัดขบวนแห่เทียน 2 วัน 2 คืน จากเดิมที่มีเพียงปีละ 1 วัน ผนวกกับในยามค่ำคืนมีการแสดง แสง สี เสียงในงานวิจิตร 5 ภาค@อุบลราชธานี ในธีม “แสงศิลป์แห่งศรัทธา ไว้รอต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่ให้สนใจ มาเที่ยวมากขึ้น

ขณะที่ 10 จังหวัดที่มีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยเดินทางเข้าพื้นที่มากสุดในช่วงวันหยุดยาวของเดือนกรกฎาคมนี้ ส่วนใหญ่คือจังหวัดท่องเที่ยวยอดนิยมของคนไทย ทั้งพื้นที่ระยะใกล้และระยะไกล อาทิ กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี ชลบุรี นครราชสีมาภูเก็ต ระยอง พระนครศรีอยุธยา ประจวบคีรีขันธ์ อุดรธานี และเพชรบุรี

ขณะที่ข้อมูลผลการสำรวจแผนการเดินทางไปต่างจังหวัดในช่วงวันหยุด/เทศกาลในไตรมาส 3/2567 ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พบว่า คนไทยมีแผนเดินทางช่วงวันหยุดยาวเนื่องในวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษามากกว่าช่วงวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และส่วนใหญ่วางแผนเดินทางท่องเที่ยวใกล้ๆ ภายในจังหวัดตัวเองและจังหวัดใกล้เคียง โดยมีรายละเอียดดังนี้

- วันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา : วางแผนเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดตัวเองร้อยละ 34 ไปจังหวัดใกล้เคียงทั้งพักค้างและไม่พักค้างคืน ร้อยละ 14 และเดินทางข้ามภาคร้อยละ 25

- วันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ : วางแผนเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดตัวเองร้อยละ 29 ไปจังหวัดใกล้เคียงทั้งพักค้างและไม่พักค้างคืน ร้อยละ 10 และเดินทางข้ามภาคร้อยละ 16

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ระเบิด ‘เพจเจอร์’ เทคโนโลยียุคเก่าที่กลับมาได้รับความนิยมในวงการแพทย์

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ความเป็นที่นิยมของ “โทรศัพท์มือถือ” จนกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของโล...

เปิดเหตุผล 'ไปรษณีย์ไทย' ทำไมโดดร่วมสมรภูมิ 'เวอร์ชวลแบงก์'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เป็นวันปิดรับคำขออนุญาตจัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (เวอร์ชวลแ...

แกะกล่อง 'iPhone 16' และ 'iPhone 16 Pro Max' ส่องจุดเด่น มีลูกเล่นอะไรใหม่

แกะกล่องเป็นกลุ่มแรกๆ กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro Max ที่วันนี้ KT Review จะพาไปดูว่าหนึ่งรุ่นเร...

‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจา...